ลมหนาวกำลังมาถึง พร้อมกับอาการแน่นๆ จมูกของใครหลายคน รวมถึงผู้เขียนบทความนี้ด้วย คุณๆ คงเคยได้ยินคำว่าไซนัสอักเสบกันมาบ้าง แถมบางคนอาจจะเคยมีอาการแน่นจมูก ปวดในโพรงจมูก จมูกตัน หายใจไม่ออกเวลาอากาศเปลี่ยนแปลง แท้จริงแล้วอาการเหล่านี้ใช่ไซนัสอักเสบหรือเปล่า ไซนัสอักเสบเป็นอย่างไรกัน และที่คิดว่าเป็นหวัดอยู่แต่ไม่หายสักทีนั้นคุณเป็นไซนัสอักเสบอยู่โดยที่ยังไม่รู้ตัวหรือเปล่า มาครับ เรามารู้จักกับเรื่องของไซนัสกัน
ไซนัส คือโพรงอากาศในกะโหลกศีรษะของเรา ซึ่งมีอยู่หลายตำแหน่ง ได้แก่ บริเวณหลังเบ้าตา, สองข้างของจมูก, โหนกแก้ม, บริเวณหน้าผาก และอีกตำแหน่งที่ฐานของกะโหลกศีรษะ ธรรมชาติออกแบบไซนัสขึ้นมาเพื่อช่วยให้กะโหลกศีรษะของเราเบาลงครับ ภายในโพรงไซนัสนอกจากจะมีอากาศอยู่ ยังมีเยื่อบุโพรงไซนัสซึ่งสามารถสร้างสารคัดหลั่งเพื่อให้ความชุ่มชื้นและความอบอุ่นให้แก่อากาศที่เราหายใจเข้าไปครับ
นอกจากหน้าที่ทั้งสองแล้ว โพรงอากาศในกะโหลกศีรษะยังมีหน้าที่สำคัญอีกประการก็คือ ช่วยเพิ่มความกังวานให้กับน้ำเสียงเวลาที่เราเปล่งเสียงพูดอีกด้วย
ที่เราพูดๆ กันว่าไซนัสอักเสบนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดตามหลังเป็นหวัด มีริดสีดวงจมูก มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในจมูก แต่สาเหตุหลักๆ เกิดมาจากการติดเชื้อครับ เชื้อที่ว่ามีได้ทั้งแบคทีเรียและไวรัส (เชื้อราก็เคยมีพบอยู่บ้าง แต่ไม่บ่อยนักและมักพบในคนที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ค่อยดีนัก) ส่วนมากแล้วเป็นผลพวงมาจากไข้หวัดนั่นเอง โดยเฉพาะถ้าใครเป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว ก็จะมีความเสี่ยงในการเกิดไซนัสอักเสบได้มากกว่าคนอื่น และสำหรับคนที่เคยเกิดอุบัติเหตุจมูกหัก หรือมีผนังจมูกคด ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไซนัสอักเสบได้เช่นกันครับ
อาการอักเสบเกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง เราพบแบบเฉียบพลันได้มากกว่าแบบเรื้อรัง อาการที่พบบ่อยคือ ผู้ป่วยจะมีไข้ มีอาการปวดบริเวณที่ไซนัส เกิดอาการอักเสบ เช่น ปวดแถวๆ หลังเบ้าตา ปวดศีรษะหนักๆ แน่นๆ ปวดบริเวณดั้งจมูกและโหนกแก้ม บางคนอาจมีอาการปวดแถวๆ ขากรรไกรบน บางรายมีน้ำมูกข้นๆ เหนียวๆ สีเหลืองเข้มหรือสีเขียวคล้ายกับหนอง ในคนไข้หลายรายบางครั้งพบว่าในช่วงที่ไซนัสเกิดการอักเสบ จมูกจะได้กลิ่นเหม็นเน่าๆ อวลอยู่ข้างใน ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น การรับรู้กลิ่นอาหารและรสอาหารลดลง บางคนอาจมีอาการแน่นจมูกและปวดหูร่วมด้วย ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาการอักเสบอาจเป็นต่อเนื่องเรื้อรังได้ครับ
หากใครมีอาการดังกล่าว แนะนำว่าควรพบแพทย์เพื่อการตรวจรักษา แพทย์เฉพาะทางที่ดูแลเรื่องไซนัสอักเสบคือแพทย์หูตาคอจมูก การวินิจฉัยหลักๆ ก็คือคุณหมอจะตรวจร่างกายโดยละเอียด และในบางรายอาจจะต้องเอกซเรย์ด้วย เพื่อดูลักษณะการอักเสบและดูว่าไซนัสบริเวณไหนที่เกิดอักเสบ เนื่องจากบริเวณใบหน้าของคนเรามีไซนัสหลายตำแหน่งอย่างที่ได้เล่าไปในตอนต้นครับ
แน่นอน เมื่อเกิดไซนัสอักเสบ ยาแก้อักเสบและลดบวมเป็นยาหลักๆ ที่คุณหมอจะจ่ายให้กับคนไข้ ในคนที่มีอาการแน่นจมูกมากๆ จมูกตันหายใจไม่ออก คุณหมออาจจะให้ยาพ่นจมูกเพื่อทำให้เยื่อบุโพรงจมูกยุบบวม ยากลุ่มนี้ใช้ได้ผลดีมาก แต่มีข้อควรระวังคือถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ ก็จะติดได้ ยังไงควรปรึกษาแพทย์ให้ดี ไม่ควรซื้อมาใช้เองนะครับ
ข้อปฏิบัติตนเมื่อเป็นไซนัส
การดูแลตัวเองในช่วงเป็นไซนัสอักเสบทำได้ไม่ยากครับ
- อย่างแรกเลยคือควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ แนะนำให้นอนศีรษะสูงกว่าปกติสักเล็กน้อย เพื่อช่วยให้สารคัดหลั่งในไซนัสระบายออกมาได้สะดวกกว่าการนอนราบศีรษะต่ำ
- ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายเกิดความชุ่มชื้น น้ำจะช่วยให้เสมหะและสารคัดหลั่งลดความเหนียวลงได้เป็นอย่างดี นั่นทำให้ร่างกายขับออกมาได้ง่ายขึ้นครับ ถ้าคุณสูบบุหรี่เป็นประจำ
- ช่วงที่ไซนัสอักเสบควรงดบุหรี่โดยเด็ดขาด เพราะควันบุหรี่จะทำให้ทุกอย่างแย่ลง
- หากมีอาการปวดบริเวณเบ้าตาและโพรงจมูกมาก การวางผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเอาไว้ก็จะช่วยบรรเทาอาการครับ การนำน้ำร้อนมาใส่ในถ้วยแล้วสูดเอาไออุ่นๆ เข้าไปก็เป็นอีกวิธีที่นิยมทำกัน ละอองน้ำอุ่นจะช่วยให้โพรงจมูกชุ่มชื้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดอาการบวมของไซนัสได้ดีมาก
และถ้ารักษาไปสักระยะแล้วอาการแย่ลง ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจนะครับ ควรกลับไปพบแพทย์อีกครั้ง เพื่อดูว่ามีอาการแทรกซ้อนอะไรอื่นหรือไม่
อ้างอิง:
- www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acute-sinusitis/symptoms-causes/syc-20351671
- Evolution of the paranasal sinuses’ anatomy through the ages, Alexandra Mavrodi and George Paraskevas. Anat Cell Biol. 2013 Dec; 46(4): 235–238.
- Sinus เป็นภาษาละติน แปลได้หลายความหมาย หนึ่งในความหมายเหล่านั้นแปลว่า ‘กระเป๋า หรือโพรง’ ซึ่งเหมาะกับลักษณะทางกายวิภาคของไซนัสเป็นอย่างมาก
- มีบันทึกว่าคนเราป่วยเป็นไซนัสอักเสบมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โน่นแล้ว ในสมัยอียิปต์ไซนัสอักเสบมักสัมพันธ์กับการเกิดอุบัติเหตุบริเวณดั้งจมูกและใบหน้า แพทย์ชาวอียิปต์รู้จักไซนัสเป็นอย่างดี เพราะเวลาที่ทำมัมมี่พวกเขาต้องใช้ลวดเกี่ยวเอาเนื้อสมองออกมาทางจมูก ซึ่งจะต้องผ่านไซนัสออกมา มีบันทึกในแผ่นปาปิรุสชื่อ Edwin Smith Papyrus อายุ 1,600 ปีก่อนคริสตกาล บรรยายถึงโรคที่เกิดหลังจากจมูกหักเอาไว้โดยละเอียด ซึ่งก็คืออาการไซนัสอักเสบนั่นเอง