แม้แต่เทศกาลสำคัญอย่าง ‘วันไหว้พระจันทร์’ ซึ่งในปีนี้จะตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม ก็ไม่วายได้รับผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดโควิด-19 และการหดตัวของเศรษฐกิจ เมื่อศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่าภาพรวมของ ‘ตลาดขนมไหว้พระจันทร์’ ในปี 2563 นี้จะมีมูลค่าที่ 800 ล้านบาท โดยหดตัวมากถึง 15.8% จากปีก่อนหน้า
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินสถานการณ์ของตลาดขนมไหว้พระจันทร์ว่าน่าจะหดตัวมากถึง 15.8% เป็นผลมาจาก ‘กำลังซื้อที่ชะลอตัวลงรุนแรง’ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้เข้าร่วมเทศกาล และจำนวนขนมไหว้พระจันทร์ที่ซื้อเฉลี่ยซึ่งปรับลดลงจากปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มที่ซื้อขนมไหว้พระจันทร์สำหรับให้เป็น ‘ของฝาก’ ญาติมิตรและองค์กรที่ลดจำนวนการซื้อลงเป็นพิเศษ
ด้านผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่จำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์ก็ได้ปรับลดการทำกิจกรรมทางการตลาดลงจากปีก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด แม้จะยังคงผลิตขนมไหว้พระจันทร์ออกมาตามเดิมก็ตาม
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบอีกด้วยว่าสัดส่วนคนสนใจซื้อขนมไหว้พระจันทร์ในปี 2563 นี้อยู่ที่ 50.7% ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ ซึ่งลดลงจากปี 2562 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 61.4% โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ซื้อไปรับประทานซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุด 39.2%
รองลงมาคือกลุ่มที่ซื้อไปไหว้ 33.5% ซื้อไปฝากเพื่อนหรือญาติ 23.3% และสุดท้ายคือกลุ่มที่ซื้อแจกลูกค้าองค์กร 4% และเป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่อเดือนสูงประมาณ 70,000-80,000 บาทสนใจซื้อขนมไหว้พระจันทร์มากถึง 60%
อย่างไรก็ดี พฤติกรรมของกลุ่มที่ซื้อขนมไหว้พระจันทร์ส่วนใหญ่ยังคง ‘ไม่แตกต่าง’ เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 71.2% ขณะที่อีก 28.8% จะปรับพฤติกรรมการซื้อ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เลือกท่ีจะปรับลดจำนวนการซื้อขนมไหว้พระจันทร์ในสัดส่วนท่ีสูงถึง 77.6% และเปลี่ยนไปซื้อขนมไหว้พระจันทร์ที่มีราคาถูกลงสัดส่วน 19.0%
“กล่าวโดยสรุป ในปี 2563 นี้การทำธุรกิจในเทศกาลไหว้พระจันทร์จะไม่ง่าย เพราะปัจจัยด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว ซึ่งกระทบต่อพฤติกรรมการซื้อท้ังในภาพรวมและลูกค้าทุกกลุ่มโดยตรง แม้ว่าจะในระดับมากน้อยแตกต่างกัน
“ซึ่งเฉพาะหน้านี้ การสร้างความแตกต่างของ ‘ไส้ขนม’ จุดเด่นด้านวัตถุดิบ กลยุทธ์ด้านราคา และการทำตลาดท้ังออฟไลน์และออนไลน์แบบผสมผสานคงช่วยประคองยอดขายได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะไม่สามารถบริหารต้นทุนได้อย่างเต็มที่ก็ตาม ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจะเป็นโจทย์ระยะถัดไปต่อผู้ประกอบการทุกกลุ่มในการวางแผนธุรกิจและกลยุทธ์ในปีต่อๆ ไป โดยเฉพาะถ้าเศรษฐกิจทยอยกลับมาฟื้นตัวได้” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์