นโยบายส่งเสริมให้การทำแท้งเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการถกเถียงและเป็นข้อขัดแย้งมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งปีนี้สองผู้สมัครตัวจากสองพรรคใหญ่อย่างเดโมแครตและรีพับลิกัน มีจุดยืนที่แตกต่างกันในเรื่องนี้
บทความนี้จะชี้เห็นว่าผู้สมัครทั้งสองมีมุมมองที่แตกต่างกันอย่างไร
ฝั่งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จากรีพับลิกัน ไม่ต้องการให้ผู้หญิงทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย เขาเคยแสดงจุดยืนด้านนโยบายก่อนหน้านี้ว่า ต้องการทำให้การทำแท้งยากขึ้น และจะยกเลิกการคุ้มครองการทำแท้งของรัฐบาลกลาง และสนับสนุนการห้ามทำแท้งเกือบทุกกรณี
ส่วน โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีจากเดโมแครต ยืนยันว่าจะคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงในการเลือกว่าจะทำแท้งหรือไม่ และพร้อมจะต่อสู้เพื่อให้การทำแท้งเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายต่อไป
การเลือกตั้งสหรัฐฯ กับทิศทางความน่าจะเป็นต่อนโยบายทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย
Roe v Wade คือคำตัดสินครั้งสำคัญของศาลสูงสหรัฐฯ ในปี 1973 ซึ่งศาลตัดสินว่า รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ นั้นคุ้มครองเสรีภาพของหญิงตั้งครรภ์ในการเลือกทำแท้งได้โดยไม่ละเมิดข้อห้ามทางกฎหมาย และให้สิทธิในการตัดสินใจทำแท้งได้จนกว่าทารกในครรภ์จะสามารถมีชีวิตนอกมดลูก หรือประมาณระยะเวลาตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์
ทรัมป์ให้คำมั่นในปี 2016 ว่าจะเลือกผู้พิพากษาที่มีแนวโน้มยกเลิกคำตัดสินดังกล่าว ซึ่งแม้จะยังไม่เกิดขึ้น แต่ตอนนี้เขาได้แต่งตั้งผู้พิพากษาหลายร้อยคน รวมถึง 2 ผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษ์นิยมเข้าไปในศาลสูง ซึ่งหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งอีกสมัย ก็มีความเป็นไปได้ที่เขาจะเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา เพื่อสนับสนุนการห้ามทำแท้งถูกกฎหมาย
ปัจจุบันมีหลายรัฐที่เรียกว่ารัฐอนุรักษ์นิยม (Conservative States) เช่น แอละแบมาที่พยายามผลักดันข้อห้ามการทำแท้งเกือบทุกกรณี ท่ามกลางความหวังว่าการผลักดันทางกฎหมายจะนำไปสู่การล้มเลิกคำตัดสิน Roe v Wade ของศาลสูง
ขณะที่ทรัมป์ยืนยันว่า เขาสนับสนุนการห้ามทำแท้งเกือบทุกกรณี ยกเว้นกรณีเหยื่อจากการถูกข่มขืน การร่วมประเวณีระหว่างพี่น้อง หรือการตั้งครรภ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของมารดา
ส่วนไบเดนมีความเห็นสวนทางกับทรัมป์ เขาต้องการผ่านกฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงในการทำแท้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายรัฐที่เรียกว่ารัฐเสรีนิยม (Liberal States) เช่น นิวยอร์กกำลังพยายามผลักดัน
ไบเดนเชื่อว่า คำตัดสิน Roe v Wade ของศาลสูงที่มีมาเกือบ 50 ปี นั้นเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าสิทธิของผู้หญิงในการเลือกทำแท้งนั้นยังคงอยู่
จุดยืนที่ต่างกันอาจส่งผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณสำหรับการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย
ทรัมป์ยืนยันท่าทีและคำมั่นของเขาในการลดเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางสำหรับการทำแท้ง โดยในปีที่ผ่านมาเขาห้ามไม่ให้นำงบประมาณสำหรับนโยบายวางแผนครอบครัวของรัฐบาลกลางไปสนับสนุนหลายองค์กรที่ให้บริการทำแท้งหรือส่งผู้ป่วยไปยังคลินิกทำแท้ง ซึ่งส่งผลให้สหพันธ์วางแผนครอบครัวแห่งอเมริกาต้องสูญเสียเงินงบประมาณหลายล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี
นอกจากนี้ทรัมป์ยังคืนสถานะและขยายนโยบายที่เรียกว่านโยบาย ‘Mexico City’ ที่ป้องกันไม่ให้งบประมาณจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ รั่วไหลไปสู่กลุ่มต่างชาติที่ให้บริการทำแท้ง
ส่วนไบเดนให้คำมั่นว่าจะยกเลิกนโยบาย Mexico City หรือที่เรียกอีกชื่อว่า Global Gag Rule หรือกฎการปิดปากทั่วโลก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายเพื่อสิทธิสตรีของเขา
โดยผู้สมัครจากเดโมแครตยังสนับสนุนให้ยกเลิกการแก้ไขบทบัญญัติทางกฎหมาย ที่จะปิดกั้นการนำเงินจากผู้จ่ายภาษีไปใช้เพื่อการทำแท้ง ยกเว้นกรณีเหยื่อจากการข่มขืน การร่วมประเวณีระหว่างพี่น้อง และการตั้งครรภ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของมารดา ซึ่งหมายความว่าผู้หญิงที่มีรายได้น้อยซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลในระบบประกันสุขภาพ จะไม่สามารถเข้าถึงการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ในการหาเสียงก่อนหน้านี้ไบเดนเผยว่า เขาชอบมาตรการปิดกั้นการใช้เงินภาษีไปกับการทำแท้งดังกล่าว แต่หลังเผชิญเสียงวิจารณ์จากเพื่อนสมาชิกพรรคฝ่ายซ้าย เขาก็ได้เปลี่ยนใจ
ทำไมการดีเบตเรื่องการทำแท้งถึงเป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ?
สำหรับทรัมป์ เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญของเขาที่มีฐานเสียงอยู่ในฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะในชุมชนชาวคริสต์คาทอลิกและผู้เผยแพร่ศาสนา
ผลสำรวจจากสำนักวิจัย Pew Research Center ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาพบว่า 46% ของกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ และ 36% ของผู้สนับสนุนไบเดนนั้นมองว่า นโยบายการทำแท้งเป็นปัจจัยสำคัญมากในการตัดสินใจว่าจะเลือกใครในศึกเลือกตั้งปีนี้
ขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการทำแท้งเห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสในการสร้างข้อจำกัดเพื่อห้ามการทำแท้ง ซึ่งพวกเขาผลักดันไปในบางรัฐเมื่อปี 2019 และหากพวกเขาจุดกระแสสนับสนุนการห้ามทำแท้งในการเลือกตั้งครั้งนี้สำเร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อพรรครีพับลิกัน ไม่เพียงการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ยังรวมถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นในรัฐที่สำคัญและการเลือกสมาชิกสภาคองเกรสด้วย
และแม้ว่าทรัมป์จะได้รับการโหวตอย่างท่วมท้นจากผู้เผยแพร่ศาสนาผิวขาวส่วนใหญ่ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 แต่สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้เขาต้องเผชิญกับไบเดนที่เป็นคาทอลิกมาตลอดชีวิต และเป็นไปได้ที่ผู้สนับสนุนทรัมป์บางส่วนอาจหวั่นไหว
ซึ่งโพลสำรวจความนิยมชี้ว่า ไบเดนถูกมองว่าเคร่งศาสนามากกว่า และได้รับความชื่นชอบจากกลุ่มผู้ออกเสียงที่เป็นชาวผิวขาวเคร่งศาสนามากกว่าที่ ฮิลลารี คลินตัน อดีตผู้สมัครของพรรคเดโมแครตได้รับในปี 2016 ขณะที่มุมมองของไบเดนต่อนโยบายด้านสาธารณสุข โรคระบาด และความเสมอภาคทางเชื้อชาตินั้น เป็นที่ชื่นชอบในกลุ่มผู้เคร่งศาสนาที่มองว่านโยบายการทำแท้งนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุด
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: