×

ไม่ใช่แค่กาตาลุญญา! ทำความรู้จักดินแดนที่อยากแยกตัวเป็นเอกราชในประชาคมโลก

31.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • รัฐเกิดใหม่ในระยะหลังมักจะเกิดขึ้นจากการประกาศแยกตัวออกจากรัฐเดิม ผ่านการทำสงครามเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะและความชอบธรรมในการแยกตัวเป็นรัฐเอกราช หรือแม้แต่การใช้กระบวนการประชาธิปไตยหยั่งเสียงลงประชามติ (Independence referendum)
  • เคอร์ดิสถาน กาตาลุญญา รัฐทางตอนใต้ของบราซิล คือหนึ่งในจำนวนดินแดนที่ต้องการแยกตัวเป็นรัฐเอกราชในประชาคมโลก ซึ่งจัดให้มีการลงประชามติทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการขึ้นภายในปีนี้
  • ส่วนใหญ่รัฐเหล่านี้จะได้รับการต่อต้านจากรัฐบาลเดิม ที่หากปล่อยให้ดินแดนเหล่านี้ประกาศเอกราชและเป็นรัฐโดยสมบูรณ์ได้จริง อาจเป็นต้นแบบให้ดินแดนอื่นๆ เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชตาม

     ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการลงประชามติทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ รวมถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาตินิยมต่างๆ ทั่วโลก เพื่อขอแยกตัวเป็นรัฐเอกราชรัฐใหม่ในประชาคมโลกเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตามหน้าสื่อต่างๆ ราวกับว่ายุคล่าอาณานิคมเพิ่งสิ้นสุดลงได้เพียงไม่นาน และดินแดนต่างๆ ทั่วโลกต่างทยอยเดินหน้าเรียกร้องสิทธิและประกาศเอกราชกันเป็นจำนวนมาก

     หากนับเฉพาะประเทศที่ได้รับการรับรองและเป็นสมาชิกของสหประชาชาติโดยสมบูรณ์ ปัจจุบันนี้เรามีประเทศมากถึง 193 ประเทศบนเวทีโลก ซึ่งแน่นอนว่าตัวเลขจำนวนนี้ยังไม่นับรวม รัฐ ดินแดน แว่นแคว้น หมู่เกาะต่างๆ ภายใต้อาณัติของรัฐเอกราชอื่นๆ ที่พยายามจะแยกตัว เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเบ็ดเสร็จในการตัดสินใจเลือกทางเดินในอนาคตให้กับตัวเอง

     นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 จนถึงปัจจุบัน ประชาคมโลกมีรัฐเอกราชเกิดใหม่ถึง 34 รัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการล่มสลายของรัฐมหาอำนาจเดิมอย่างสหภาพโซเวียตที่ล่มสลายลงในปี 1991 โดยรัฐเอกราชล่าสุดที่ได้รับการรับรองและเป็นสมาชิกของสหประชาชาติคือ ซูดานใต้ ที่แยกตัวออกมาจากซูดานเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ปี 2011 ด้วยการลงเสียงประชามติเมื่อช่วงเดือนมกราคมของปีเดียวกัน

 

การก่อกำเนิดและองค์ประกอบของ ‘รัฐ’

     รัฐเกิดใหม่โดยทั่วไปมักเกิดขึ้นใน 2 ลักษณะคือ เกิดขึ้นจากการยึดครองดินแดนดั้งเดิมที่ไม่มีเจ้าของ (Acquiring an unoccupied land) และการประกาศแยกตัวออกจากรัฐเดิม (Separating from existing states) ซึ่งในระยะหลังมักจะเกิดขึ้นในลักษณะนี้ ผ่านการทำสงครามเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะและความชอบธรรมในการแยกตัวเป็นรัฐเอกราช หรือแม้แต่การใช้กระบวนการประชาธิปไตย หยั่งเสียงลงประชามติ (Independence referendum)

     ตามอนุสัญญามอนเตวิเดโอ (Montevideo Convention on Rights and Duties of the states) ปี 1933 ได้ระบุถึงองค์ประกอบของรัฐที่สำคัญไว้ 4 ประการคือ มีประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ในลักษณะเป็นสังคม (Permanent Population), มีดินแดนที่แน่นอน (Defined Territory), มีรัฐบาลที่ทำหน้าที่บริหารจัดการ (Government) และมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง (Sovereignty) ซึ่งจะทำให้รัฐนั้นๆ สามารถดำเนินความสัมพันธ์ด้านการต่างประเทศกับรัฐอื่นได้

     แต่อย่างไรก็ตามบรรดารัฐเกิดใหม่นั้นจะต้องได้รับการรับรอง (Recognition) จากบรรดารัฐต่างๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้ว เพื่อทำให้รัฐเกิดใหม่นั้นสามารถเข้ารวมอยู่ในสังคมโลกตามกฎหมายระหว่างประเทศได้ โดยเป้าหมายที่จะชี้วัดว่า บรรดารัฐเหล่านี้จะเป็นรัฐเอกราชเกิดใหม่โดยสมบูรณ์ได้หรือไม่นั้น อาจจะเป็นการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติและได้รับการรับรองจากรัฐส่วนใหญ่ในประชาคมโลกนั่นเอง

 

ดินแดนที่ต้องการแยกตัวเป็นรัฐเอกราช

     เคอร์ดิสถาน (Kurdistan) เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาวเคิร์ดมาอย่างช้านาน ด้วยความแตกต่างหลากหลายและความไม่มีเอกภาพภายในชนชาติเคิร์ดเอง พอเมื่อความคิดในการรวมกลุ่มเป็น อาณาจักร ดินแดน หรือรัฐสมัยใหม่เกิดขึ้น ชาวเคิร์ดนี้จึงกลายเป็นเพียง ‘ชนกลุ่มน้อย’ ที่กระจายตัวอยู่ในหลายประเทศในตะวันออกกลางเรื่อยมาจนถึงปัจุบัน

 

 

     ในปี 1916 ชาวเคิร์ดในตะวันออกกลางพยายามเรียกร้องให้เจ้าอาณานิคมตะวันตกอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสอนุญาตให้มีการจัดตั้งประเทศสำหรับชาวเคิร์ดขึ้นภายในภูมิภาค แต่ความพยายามของชาวเคิร์ดกลับไร้ผลและจบลงด้วยการเป็นเเค่เพียงเขตปกครองพิเศษภายในประเทศอื่นๆ อย่างตุรกี (Turkish Kurdistan) และอิรัก (Iraqi Kurdistan) เท่านั้น

     อัตลักษณ์ของชาวเคิร์ดถูกกดทับและกวาดล้างอย่างหนัก ภายใต้ระบอบเผด็จการของซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) จนลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามภายในประเทศ ท้ายที่สุดสงครามจบลงด้วยข้อตกลงระหว่างรัฐบาลอิรักและผู้นำกลุ่มชาวเคิร์ด ที่จัดตั้ง ‘เขตปกครองพิเศษชาวเคิร์ดแห่งอิรัก (Kurdish Autonomous Region: KAR)’ ขึ้นในปี 1970 ก่อนที่เขตปกครองนี้จะประกาศเอกราชทางพฤตินัย ช่วงเดียวกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก

 

 

     รัฐบาลชาวเคิร์ดจึงจัดให้มีการลงประชามติ เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อปูทางไปสู่กระบวนการแยกตัวเป็นประเทศเอกราชจากอิรัก ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากรัฐบาลที่กรุงแบกแดดและประเทศต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค โดย 92% ของผู้มาใช้สิทธิ์ สนับสนุนให้มีการจัดตั้งประเทศเคอร์ดิสถานขึ้น โดยแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรัก ล่าสุดนายมาซูด บาร์ซานิ (Massoud Barzani) ประธานาธิบดี (โดยพฤตินัย) ของเคอร์ดิสถาน ประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้ว ท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมือง ส่งผลโดยตรงกับแนวทางในการเดินหน้าเรียกร้องเอกราชของเคอร์ดิสถานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

     กาตาลุญญา (Catalunya) แคว้นทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน มีบาร์เซโลนาเป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของแคว้น สถานที่ท่องเที่ยวภายในเเคว้นแห่งนี้ต่างติดท็อปอันดับสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตที่ผู้คนมักเดินทางไปเยือนแทบทุกปี ชาวคาตาลันมีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง กลุ่มชาตินิยมที่เรียกร้องเอกราชเดินหน้าเคลื่อนไหวทางการเมืองมายาวนานกว่า 3 ศตวรรษ

 

 

     ด้วยความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม กระแสชาตินิยม ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและความผันผวนทางการเมือง ส่งผลให้ผู้นำแคว้นกาตาลุญญาเดินหน้าเรียกร้องเอกราชมาโดยตลอด และนำไปสู่การจัดลงประชามติเพื่อแยกตัวจากสเปนขึ้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2017 ซึ่ง 90% ของผู้มาลงคะแนนเสียง (คิดเป็นเพียง 42% ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด) สนับสนุนให้กาตาลุญญาเเยกตัวเป็นรัฐอิสระและปกครองด้วยรูปแบบสาธารณรัฐ และมีมติประกาศเอกราช (แต่เพียงฝ่ายเดียว) ในที่สุด ก่อนที่รัฐบาลสเปนจะทิ้งไพ่ไม้ตาย (มาตรา 155) สั่งประกาศยุบสภา ปลดผู้นำแคว้นและคณะทำงานทุกตำแหน่ง พร้อมจะจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคมนี้

     ถึงแม้ว่าบรรดาอดีตผู้นำและแกนนำคนสำคัญที่สนับสนุนให้กาตาลุญญาเป็นรัฐเอกราชกำลังเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบาก ราวกับยุคมืดที่ไล่กวาดล้าง ‘ความเป็นอื่น’ ภายใต้ระบอบเผด็จการฟรังโก้ได้กลับมาอีกครั้ง แต่ความฝันของชาวคาตาลันส่วนใหญ่ที่อยากจะมีประเทศเป็นของตนเองไม่จบลงเพียงเท่านี้อย่างเเน่นอน

 

 

     รัฐทางใต้ของบราซิล (South Brazil) ก็มีความต้องการที่จะขอแยกตัวเป็นเอกราช ภายหลังจากที่ผิดหวังกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ล้มเหลว รวมถึงสวัสดิการของรัฐที่ไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับภาษีที่เสียไป จึงทำให้ชาวบราซิลใน 3 รัฐทางตอนใต้อย่าง ปารานา (Parana) รีโอกรันดีโดซูล (Rio Grande do Sul) และซันตากาตารีนา (Santa Catarina) ออกมาร่วมลงประชามติอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มแกนนำการเคลื่อนไหวอย่าง The South is My Country ได้จัดลงประชามตินี้ขึ้นเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากที่ในปี 2016 มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์กว่า 617,500 คน โดย 95% ของคนกลุ่มนี้สนับสนุนให้แยกประเทศเป็นรัฐเอกราช

     แม้ว่าการลงประชามติที่เกิดขึ้นจะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ผลโหวตที่เกิดขึ้นสะท้อนความไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางด้านต่างๆ ได้เลย โดยเฉพาะในขณะที่บราซิลกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยที่เลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 100 ปี อีกทั้งข่าวลือเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชันของประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่มีมาตลอด จึงทำให้การเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้าและกระแสการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชของบรรดารัฐทางใต้ของบราซิลน่าจับตามอง

 

 

     นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาตินิยมในแคว้นร่ำรวยของอิตาลีอย่างแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) และแคว้นเวเนโต้ (Veneto) ที่จัดลงประชามติขอเสียงสนับสนุนเพิ่มอำนาจในการปกครองตนเองให้กับเเคว้นเมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา

 

 

      ซึ่งดินแดนที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่นับรวมสกอตแลนด์ของสหราชอาณาจักร ฟลานเดอร์และวัลโลเนียในเบลเยียม ทรานส์นิสเตรียในมอลโดวา รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาตินิยมมาโดยตลอด และมีแนวโน้มขอแยกตัวเป็นรัฐเอกราชในอนาคต หรือในบางพื้นที่ก็ประกาศเอกราช (แต่เพียงฝ่ายเดียว) แล้ว หากแต่ยังไม่ได้การรับรองจากรัฐส่วนใหญ่ในประชาคมโลก ซึ่งมักจะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

 

 

Photo: AFP/shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X