วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ประกาศราชกิจจานุเบกษา พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย
พล.อ. ประยุทธ์ ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ก่อนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ตนเองเป็นผู้แต่งตั้ง มีมติเอกฉันท์ให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ถือเป็นผู้นำคณะรัฐประหารคนที่ 5 ที่ยึดอำนาจเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง
พล.อ. ประยุทธ์ ปกครองประเทศด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 โดยมีมาตรา 44 รวบอำนาจทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการให้อยู่ในมืออย่างเบ็ดเสร็จเหมือนเช่นมาตรา 17 ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ขณะที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งร่างขึ้นโดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช. เป็นผู้แต่งตั้งกำหนดให้ ส.ว. ทั้งหมด 250 คนมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. และมีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ เลื่อนการเลือกตั้งมาหลายครั้ง โดยอ้างโรดแมปหรือข้อกำหนดทางกฎหมายที่ตนเองเขียนขึ้นเอง
กระทั่งการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 มีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดย พล.อ. ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียวของพรรคพลังประชารัฐ แม้พรรคพลังประชารัฐจะไม่ได้ ส.ส. ในสภาฯ มาเป็นอันดับ 1 แต่สามารถรวมเสียง ส.ส. จากพรรคการเมืองอื่นๆ ร่วมตั้งรัฐบาล อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย รวมถึงพรรคเล็กที่มี ส.ส. 1 คน กว่า 10 พรรค จัดตั้งรัฐบาลผสม 19 พรรค ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกสมัย