ท่ามกลางกระแสข่าวร้อนแรงตอนนี้คงหนีไม่พ้นกรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่สั่งฟ้อง บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา ทุกข้อกล่าวหา ในคดีขับรถชน ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน และก่อให้เกิดคำถามและความเคลือบแคลงสงสัยในรูปคดีว่า แท้จริงแล้วการดำเนินการของคดีเป็นไปอย่างขาวสะอาดหรือไม่
THE STANDARD ได้เอกสารเปิดเผยคำให้การของพยานซึ่งให้การเป็นประโยชน์ต่อวรยุทธ ก็คือ พล.อ.ท. จักรกฤช ถนอมกุลบุตร (ขณะนั้นมียศเป็นผู้ทรงคุณวุธ กองทัพอากาศ) ซึ่งมาให้การหลังเกิดเหตุนานกว่า 3 ปี
โดยเนื้อหาคำให้การเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 ที่ สน.ทองหล่อ พล.อ.ท. จักรกฤช ถนอมกุลบุตร ระบุว่าในวันเกิดเหตุ พยานได้ไปงานเลี้ยงสังสรรค์กับ พล.อ.ท. สุรเชษฐ ทองสลวย ที่ร้านฟาลาเบลล่า ย่านถนนราชดำริ ก่อนจะแยกย้ายกลับในช่วงเวลา 04.00 น. ของวันที่ 3 กันยายน 2555 เพื่อไปร้านข้าวต้มอีกแห่ง
โดยขณะขับรถอยู่ในช่องเดินรถที่ 2 (เลนกลาง) อยู่นั้น พล.อ.ท. จักรกฤช ให้การว่าได้สังเกตเห็นชายคนหนึ่งใส่ชุดเครื่องแบบตำรวจ และขี่รถจักรยานยนต์ป้ายทะเบียนตราโล่คล้ายป้ายตำรวจ แต่ไม่ได้จำหมายเลขทะเบียน มาในช่องทางเดินรถที่ 1 (ช่องซ้ายสุด) มีลักษณะขับส่ายไปส่ายมาทำท่าจะเปลี่ยนมาเลน 2
จึงได้พูดคุยกับ พล.อ.ท. สุรเชษฐ ว่าคนขับรถจักรยานยนต์เมาหรือเปล่าจึงขี่รถส่ายไปมาแบบนี้
พล.อ.ท. สุรเชษฐ จึงได้บอกให้ตนขับรถชิดซ้ายเพื่อจอดรถเพราะเกรงว่าจะชนรถจักรยานยนต์ดังกล่าว ตนจึงได้ชะลอความเร็วลงเพื่อเปลี่ยนมายังเลนที่ 1 และมาจอดอยู่ห่างจากปากซอยสุขุมวิท 47 ประมาณ 15 เมตร โดยให้การเพิ่มเติมว่า เกรงจะชนรถจักรยานยนตร์ของตำรวจดังกล่าว
“ระหว่างนั้นข้าพเจ้าได้เห็นมีรถกระบะคันหนึ่งแล่นมาในช่องทางเดินรถที่ 2 ขับแซงรถยนต์ของข้าพเจ้าไป ทันใดนั้นเอง ข้าพเจ้าเห็นรถจักรยานยนต์ของตำรวจได้ขับเปลี่ยนช่องทางเดินจากรถช่องที่ 1 ตัดเข้าช่องทางเดินรถที่ 2 ในลักษณะที่รถจักรยานยนต์ขับตัดหน้ารถกระบะอย่างกระชั้นชิด โดยไม่ส่งสัญญาณมือหรือสัญญาณไฟเพื่อเปลี่ยนเส้นทาง ทำให้คนขับรถยนต์กระบะต้องหักเลี้ยวไปด้านซ้ายเพื่อเบี่ยงหลบรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปในช่องทางเดินรถที่ 1
“แต่รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวก็ยังขับเปลี่ยนช่องเข้าไปในช่องทางเดินรถช่องที่ 3 (ช่องขวาสุด) ตัดหน้ารถเก๋งสปอร์ตคันหนึ่งซึ่งแล่นมาในช่องทางเดินรถช่องที่ 3 อย่างกระชั้นชิด ทำให้รถทั้ง 2 คันเฉี่ยวชนกัน เมื่อเกิดเหตุการชนกันของรถจักรยานยนต์และรถเก๋งสปอร์ตในช่องทางเดินรถช่องที่ 3 แล้ว ข้าพเจ้าเห็นรถจักรยานยนต์ได้เกี่ยวติดไปกับสปอยเลอร์ของรถยนต์เก๋งสปอร์ต โดยคนขับรถยนต์เก๋งสปอร์ตได้ค่อยๆ ขับเปลี่ยนรถเข้ามาในช่องทางเดินรถช่องซ้ายสุด และจอดบริเวณซอยสุขุมวิท 49 และพบผู้ขับรถจักรยานยนต์นอนอยู่บนถนนบริเวณที่เกิดเหตุ
“ในช่วงเกิดเหตุมีคนเข้าไปดูบริเวณที่ตำรวจนอนอยู่บนถนนบริเวณที่มีการชนกันในคดีนี้ เห็นมีชายกลุ่มหนึ่งประมาณ 9-10 คน กำลังวิ่งกรูไปที่รถยนต์เก๋งสปอร์ตที่จอดอยู่ในขณะนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นมีตำรวจอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ จากนั้นข้าพเจ้าเห็นรถยนต์เก๋งสปอร์ตได้ขับออกไป ข้าพเจ้าเข้าใจว่ามีคนแจ้งเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้ขับรถยนต์ต่อไปเพื่อไปรับประทานข้าวต้ม” พล.อ.ท. จักรกฤช กล่าว
อย่างไรก็ตาม ช่วงหนึ่งของการให้การของ พล.อ.ท. จักรกฤช เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนถามว่า “เหตุใดท่านจึงมาให้การเป็นพยานในเวลานี้?”
โดย พล.อ.ท. จักรกฤช ให้การว่า ในวันเดียวกันนั้น ตนเพิ่งทราบว่าผู้ขับรถยนต์ชนเจ้าหน้าที่ตำรวจคือลูกชายของเจ้าของบริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดง แต่ก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจในคดีดังกล่าว
จนกระทั่งเดือนเมษายน 2558 เจ้าตัวได้มีโอกาสพบ ร.อ. สอาด ศบศาสตราศร นักเรียนนายเรืออากาศรุ่นพี่ที่รู้จักกัน เพื่อมาให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการให้ลูกชายสอบคัดเลือกเป็นนักบิน ซึ่งช่วงหนึ่งของการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการห่วงลูก และได้มีการยกตัวอย่าง ‘เฉลิม อยู่วิทยา’ เจ้าของเครื่องดื่มกระทิงแดง ที่มีความกังวลใจเกี่ยวกับคดีของลูกชาย (บอส อยู่วิทยา) ที่ขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงแก่ความตาย
ทำให้ทราบในวันเดียวกันนั้นว่า คดียังไม่จบ ทั้งที่ผู้ตายคือฝ่ายผิด เพราะขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทและไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร และหลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ร.อ. สอาด เดินทางมาพบที่บ้านพัก และขอให้ตนเองไปเป็นพยานกับพนักงานสอบสวนฯ เกี่ยวกับคดีนี้ ซึ่งตนยินดีมาให้การ เนื่องจากเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ
ทั้งนี้ ในการให้การฉบับนี้ เจ้าหน้าที่สืบสวนฯ ได้ถามต่อว่า ก่อนหน้านี้รู้จักกับ เฉลิม อยู่วิทยา และโกรธเคืองใครในคดีดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งทาง พล.อ.ท. จักรกฤช ได้ให้การปฏิเสธว่า ไม่รู้จัก และไม่เคยโกรธใคร ตามระบุในข้อซักถามข้างต้น
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์