โควิด-19 แพร่ระบาดมานานถึง 7 เดือนเต็ม ปัจจุบันมีวัคซีนโรคโควิด-19 ราว 170 ตัวที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยทีมนักวิจัยจากทั่วโลก โดยทั่วไปต้องมีการศึกษา วิจัย และทดลองก่อนจะได้รับอนุญาตให้นำไปใช้กับผู้ป่วย แต่สำหรับโควิด-19 นั้นเป็นกรณีฉุกเฉินที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต้องเร่งขั้นตอนการทดสอบและพัฒนาเพื่อให้สามารถผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้ตามเป้าหมายภายในปี 2021
โดยวิธีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาวัคซีนโดยใช้ยีนของไวรัส (Genetic Vaccines) อย่าง mRNA, ใช้ไวรัสที่ทำให้อ่อนลงแล้วไม่ทำให้เกิดโรคมาตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาลงไปเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน (Viral Vector Vaccines), ใช้ชิ้นส่วนโปรตีนของไวรัส (Protein-Based Vaccines) รวมถึงการพัฒนาวัคซีนโดยใช้ไวรัสที่ไม่ทำงานหรือตายแล้ว (Whole-Virus Vaccines) และการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 จากวัคซีนที่พร้อมใช้สำหรับโรคระบาดอื่นๆ (Repurposed Vaccines)
ล่าสุด ทางการสหรัฐฯ เตรียมทุ่มงบ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.5 หมื่นล้านบาท) ผ่านโครงการ Operation Warp Speed สนับสนุน Sanofi-GSK พัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 โดยสั่งจองล่วงหน้าแล้ว 100 ล้านโดส ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้ทุ่มงบประมาณราว 1.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.2 หมื่นล้านบาท) สั่งจองวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวน 100 ล้านโดสจากผู้พัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 อย่าง Pfizer-BioNTech ด้วยแล้วเช่นกัน
ขณะที่บริษัท Moderna หนึ่งในผู้ที่ร่วมเส้นทางผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ของสหรัฐฯ ก็เดินทางเข้าสู่การทดสอบในเฟสที่ 3 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา นับเป็นวัคซีนต้านโควิด-19 สัญชาติอเมริกันที่เข้าใกล้ความจริงมากที่สุดในช่วงเวลานี้ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.1 หมื่นล้านบาท)
อ่าน ‘ขั้นตอนพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และความคืบหน้าทีมวิจัยจากทั่วโลก’ เพิ่มเติมได้ที่ https://thestandard.co/coronavirus-vaccine-tracker/