ถึงจะบินฝ่าวิกฤตมาหลายรอบ ทั้งในแง่ของรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัญหาภาพลักษณ์ในสายตาของลูกค้า หรือกระทั่งปัญหาภายในที่ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ จากเดิม ‘พาที สารสิน’ ที่ตั้งไข่ในยุคแรกเริ่ม จนวันนี้มี ‘วุฒิภูมิ จุฬางกูร’ จากตระกูลจุฬางกูรผู้ถือหุ้นหลักเข้ามากุมบังเหียน
แต่ที่สุดแล้วเมื่อมาเจอวิกฤตโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติม ทำให้ ‘นกแอร์’ บินฝ่าวิกฤตไม่ไหวแล้ว จึงขอถอยไปตั้งหลักด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลาย เพื่อพื้นฟูกิจการตามรอย ‘การบินไทย’ ที่ต้องเดินเข้าสู้เส้นทางเดียวกันไปก่อนหน้านี้
ตามเอกสารที่ยื่นต่อศาลล้มละลายระบุว่า วันที่ 31 มีนาคม 2553 มีหนี้สินต่อเจ้าหนี้หลายรายรวมกันเป็นจำนวน 26,522,203,418 บาท รวมเจ้าหนี้จำนวน 312 ราย โดยศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเป็นคดีดำ ฟฟ 21/2563 นัดไต่สวนคำร้องวันที่ 27 ตุลาคม 2563 เวลา 09.00 น. ผลจากการยื่นในครั้งนี้ทำให้นกแอร์อยู่ในสภาวะพักการชําระหนี้ (Automatic Stay) ทันที
ขณะเดียวกันนกแอร์ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยชี้ว่า การฟื้นฟูกิจการนั้นเป็นแนวทางที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยการเข้าสู่กระบวนการดังกล่าวไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการที่จะเลิกหรือชำระบัญชี หรือไม่ได้มุ่งหมายให้บริษัทฯ ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายแต่อย่างใด หากต้องการฟื้นฟูกิจการให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง
เพราะปัญหาในปัจจุบันไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจ แต่เกิดจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้ธุรกิจเกิดข้อติดขัดและอุปสรรคในการดำเนินกิจการ หากมีการปรับโครงสร้างภายใต้กระบวนการฟื้นฟูอย่างเหมาะสม นกแอร์จะสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตก้าวหน้าต่อไปได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 เป็นเพียงฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้นกแอร์ต้องตัดสินใจยื่นล้มละลายเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพราะเมื่อตรวจสอบรายได้และกำไรจะพบว่า ในช่วง 4 ปีมานี้ นกแอร์อยู่ในภาวะ ‘ขาดทุนหลักพันล้าน’ มาโดยตลอด
ปี 2559 รายได้รวม 16,938.32 ล้านบาท ขาดทุน 2,795.09 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้รวม 20,376.71 ล้านบาท ขาดทุน 1,854.30 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้รวม 19,740.23 ล้านบาท ขาดทุน 2,786.76 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้รวม 19,969.12 ล้านบาท ขาดทุน 2,051.39 ล้านบาท
สำหรับแนวทางฟื้นฟูกิจการนั้นเบื้องต้นมีทั้งสิ้น 2 ข้อ ได้แก่ 1. การปรับโครงสร้างหนี้ และ 2. การบริหารจัดการกิจการของลูกหนี้ เช่น ปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบินและปรับฝูงบิน การปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้ การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น พัฒนาและปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคล เป็นต้น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า