เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (23 กรกฎาคม) NASA เตรียมส่งบอลลูนยักษ์ขนาดเท่าสนามฟุตบอล พร้อมกล้องโทรทรรศน์ ASTHROS ขึ้นสู่บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ ที่ความสูงราว 40 กิโลเมตร เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจกระบวนการก่อตัวและเกิดขึ้นของดวงดาวในห้วงอวกาศ
โดย NASA คาดว่าจะเตรียมปล่อยบอลลูนจากภาคพื้นทวีปแอนตาร์กติกาในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2023 และในภารกิจนี้คาดว่าบอลลูนดังกล่าวจะเคลื่อนที่วนรอบขั้วโลกใต้ 2-3 รอบ ภายในเวลาราว 3-4 สัปดาห์ เมื่อภารกิจเสร็จสิ้นแล้วจะมีคำสั่งแยกชิ้นส่วนที่เรียกว่า กอนโดลา ที่มีลักษณะคล้ายตะกร้าโดยสารลงสู่พื้นดินด้วยร่มชูชีพ เพื่อเก็บกล้อง ASTHROS และนำกลับไปใช้ใหม่ในครั้งต่อไป
NASA คาดว่า ภารกิจ ASTHROS ของ NASA จะเริ่มต้นทดสอบในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ หากภารกิจนี้ประสบผลสำเร็จด้วยดี เชื่อว่าข้อมูลที่ได้รับจากภารกิจนี้จะมีส่วนช่วยทำให้การศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการกำเนิดดวงดาวและกาแล็กซีมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ภาพ: NASA’s Goddard Space Flight Center Conceptual Image Lab / Michael Lentz
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- https://www.nasa.gov/feature/jpl/nasa-mission-will-study-the-cosmos-with-a-stratospheric-balloon
- https://edition.cnn.com/2020/07/27/us/nasa-balloon-asthros-scn-trnd/index.html
- https://techcrunch.com/2020/07/24/nasa-to-fly-a-football-stadium-sized-high-altitude-balloon-to-study-light-from-newborn-stars/