ซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay ยิ่งเดินทางไปในแต่ละอีพีก็ยิ่งเข้มข้นและสอดแทรกเนื้อหาการเยียวยาจิตใจได้อย่างงดงาม โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ตัวละครหลักกำลังเผชิญอาจมีบางแง่มุมที่คนดูอย่างเราๆ หยิบจับมาใช้กับชีวิตจริงได้ด้วย แต่ในเมื่อเราไม่มีมุนคังแทคอยเป็นสลักนิรภัย แนะนำให้โหลดแอปฯ เหล่านี้ไว้ อาจช่วยเยียวยาจิตใจเราได้บ้างไม่มากก็น้อย
หมวดจัดเก็บความรู้สึก
Worry Dolls
โหลดฟรี iOS และ Android https://worrydolls.app/
เรื่องจิตใจ ไม่ไหวอย่าฝืน ลองโหลดแอปฯ Worry Dolls มาใช้ แล้วบอกความรู้สึกผ่านตุ๊กตาหน้าบู้บี้ที่เป็นคล้ายเพื่อนเก็บความลับให้เราในทุกวันที่มีความกังวลใจ หรือจะเรื่องดีใจก็ได้เช่นกัน การใช้งานง่ายมาก แค่พิมพ์ความรู้สึกลงไป แล้วความรู้สึกนั้นจะผูกติดกับตุ๊กตาตัวนั้นๆ สะสมไว้เป็นไทม์ไลน์ข้อมูลให้เราได้เห็นภาพรวมความรู้สึกที่หลากหลาย และอะไรคือปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เรามีอารมณ์ทางลบ
หรือแอปฯ ในหมวดเดียวกันอย่าง Mooda (ราคา 29 บาท เฉพาะ iPhone, iPad) แอปฯ ของไทยที่เอาไว้จัดเก็บอารมณ์ผ่านวงกลมสีสันสดใสในรูปหน้ายิ้ม หน้าบึ้ง หน้าร้องไห้ ซึ่งใช้งานง่ายเช่นกัน
หมวดเสียงและสมาธิบำบัด
Breethe
ใช้งานฟรีในบางเพลย์ลิสต์ https://breethe.com/
Breethe แอปฯ เสียงบำบัดและโปรแกรมสร้างสมาธิ นอกจากคลังเสียงมากมายมหาศาลที่มีเพิ่มเติมทุกสัปดาห์ แบ่งเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ทั้งเสียงดนตรีก่อนนอน เสียง Deep Focus ระหว่างทำงาน เรียนหนังสือ เสียงสำหรับตื่นตอนเช้า แต่สิ่งที่น่าสนใจคือคลังเสียงสำหรับทำสมาธิในระยะเวลาสั้นๆ ทั้งแบบ 3 นาทีไปจนถึง 10 นาที เหมาะสำหรับพักเบรกช่วงทำงานเครียดๆ หรือต้องการเคลียร์จิตใจให้โล่งๆ ก่อนประชุมงานสำคัญ
แอปฯ Breethe มีโหมดลองใช้ 14 วัน ลองทำตามคำแนะนำเสียงเย็นๆ หายใจเข้า หายใจออก ปลดปล่อยความเครียดบนบ่า ไหล่ ท้อง กล้ามเนื้อที่เคร่งเครียดบริเวณต่างๆ ดูก่อนก็ได้ แล้วค่อยตกลงใจเสียเงินสมัครสมาชิก
หรือแอปฯ ในหมวดเดียวกันอย่าง Cove ที่สามารถสร้างเพลงหรือเสียงที่เราอยากฟังขึ้นเองได้ด้วย ตัวแอปฯ ได้รับการรับรองจาก UK Health Service แล้วว่าช่วยเยียวยาจิตใจได้, Nature แอปฯ เสียงธรรมชาติที่บันทึกมาจากทั่วโลก เลือกเปิดฟังเสียงทะเลบอลติก เสียงลูกแมวน้ำร้อง หรือเสียงนกในป่าบราซิลก็ยังได้ สิ่งที่ดีคือตั้งเวลาปิดเสียงได้ด้วย ไม่ต้องห่วงเรื่องเผลอฟังจนหลับไป
หมวดรับฟังและเยียวยา
Sanvello โหลดฟรี iOS, Android หรือเว็บไซต์ https://www.sanvello.com/
Sanvello เป็นเหมือนคู่หูคอยดูแลจิตใจเราตลอดเวลา ตัวแอปฯ ค่อนข้างครบครันในทุกหมวดหมู่ มีทั้งการจัดเก็บความรู้สึกในแต่ละวัน ซึ่งทางแอปฯ จะเตือนให้เราใส่สภาพจิตใจในทุกวันพร้อมกราฟให้เห็นภาพรวม, หมวดโค้ชชิ่งที่มีคำแนะนำในหัวข้อต่างๆ เช่น ทำอย่างไรให้รู้สึกดีขึ้น, การสร้างความมั่นใจ, หมวดการบำบัด ที่มีทั้งแบบคลิปเสียงหรือบทความในการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเรา และกลุ่มซัพพอร์ต ซึ่งก็คือสมาชิกที่ใช้แอปฯ นับล้านคนทั่วโลก มีกระดานสนทนาหลากหลายหมวดที่เปิดให้ผู้ใช้งานตั้งคำถามและเข้าไปร่วมตอบหรือให้กำลังใจ ซึ่งค่อนข้างจะเป็นพื้นที่ที่เข้าใจกันและกันจริงๆ เพราะเหล่าสมาชิกก็ต่างมีปัญหาหรือเคยข้ามผ่านปัญหาจิตใจมาก่อนเช่นกัน
ถ้าใครไม่อยากโหลดหลายแอปฯ Sanvello น่าจะครบในจุดเดียว และฟีเจอร์ใหม่ของแอปฯ ที่ดีมากคือการมีนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ตัวจริงมาให้คำปรึกษาออนไลน์ด้วย ซึ่งเริ่มต้นใช้งานจริงในบางพื้นที่ของอเมริกาแล้ว
สำหรับประเทศไทยยังมีแอปฯ ในหมวดเดียวกันอย่าง Occo แพลตฟอร์มจิตแพทย์ออนไลน์ที่ทำให้เราได้ปรึกษาปัญหาใจกับจิตแพทย์ทางวิดีโอคอลแบบตัวต่อตัว (เสียค่าบริการ) รวมทั้งมีแบบประเมินความเครียดให้ลองทำก่อนด้วย, Woebot เพื่อนหุ่นยนต์แชตบอตช่างพูด แอปฯ ที่จะคอยเป็นเพื่อนไม่ให้เราเหงา คอยถามว่าวันนี้เรารู้สึกอย่างไรบ้าง เราโอเคไหม อยากจะคุยกับเขาหรือเปล่า รวมถึงให้คำปรึกษาเบื้องต้น ปล่อยให้เราได้ระบายความอัดอั้นตันใจทั้งหลายปวงในรูปแบบแชต
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
- Medical News Today รายงานปัญหาด้านลบของผู้คนอันเนื่องมาจากการใช้งานเทคโนโลยีมากเกินความจำเป็น ทั้งทางร่างกาย เช่น ปัญหาดวงตาเหนื่อยล้า ไม่มีสมาธิ ท่านั่งที่ทำให้กล้ามเนื้อผิดรูป รวมไปถึงปัญหาด้านจิตใจบางอย่าง ทั้งหดหู่ ซึมเศร้า หรือนอนไม่หลับ โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดียและสมาร์ทโฟนในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น
- ผลการวิจัยปี 2017 สรุปว่ากลุ่มคนอายุ 19-32 ปีที่มีการใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าคนปกติ 3 เท่า มักจะมีความรู้สึกแปลกแยกทางสังคมมากกว่าคนที่ไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียบ่อยนัก
- การวิจัยปี 2016 กลุ่มนักวิจัยออสเตรเลียพบความเชื่อมโยงระหว่างการใช้งานโซเชียลมีเดียกับปัญหาสภาพจิตใจ เช่น ความวิตกกังวลและซึมเศร้า เช่นเดียวกับแสงสีฟ้าของจอดิจิทัลต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อนาฬิกาชีวิต ทำให้นอนหลับยากและไม่เต็มอิ่ม ส่งผลให้ไม่สดชื่นระหว่างวันทำงาน ซึ่งเราควรหลีกเลี่ยงการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ 1-2 ชั่วโมงก่อนนอน