วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยมีมุมมองว่าหลังจากนี้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป สาเหตุเพราะการท่องเที่ยวและการส่งออกยังต้องอิงสถานการณ์ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เช่น การผลิต ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยเป็นซัพพลายเชนที่เชื่อมโยงกับทั่วโลก เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเทศใดประเทศหนึ่งชะงักจึงกระทบกับไทย
ที่สำคัญคือต้องควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกสองและสาม และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวสู่ระดับปกติเหมือนช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ได้ในช่วงปลายปี 2564
ทั้งนี้ มองว่าวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงไม่น้อยไปกว่าวิกฤตปี 2540 แต่ในภาคการเงิน เศรษฐกิจมหภาค มองว่าจุดแข็งระบบเศรษฐกิจไทยคือภาคการเงิน โดยปัจจุบันไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศ และสถาบันมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง ยิ่งสถาบันการเงินมีกลไกการตั้งสำรอง ระบบบัญชีที่ดีขึ้นกว่าวิกฤตรอบที่ผ่านมา รวมถึงไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่างจากปี 2540 ขณะที่อัตราการกู้เงินต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำมาก
“มีที่คนเปรียบเทียบว่าเราจะเหมือนปี 2540 ไหม วิกฤตครั้งนี้จะแรงกว่าปี 2540 ไหม ในภาคเศรษฐกิจจริงนั้นแรง แรงไม่แพ้ปี 2540 แต่ในภาคการเงิน ภาคเศรษฐกิจมหภาคต่างกันมาก มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเราต้องเข้าไปขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หรือเปล่า ต้องเข้าโครงการ IMF ไหม เดี๋ยว IMF จะมาสั่งให้เราทำโน่นทำนี่เหมือนปี 2540 หรือเปล่า ผมยืนยันว่าเราไม่มีความจำเป็นในคราวนี้ที่จะต้องเข้าไปขอรับความช่วยเหลือจาก IMF เพราะด้านเศรษฐกิจมหภาคของเรามีความเข้มแข็งมาก”
ทั้งนี้ IMF มีสมาชิกอยู่ราว 194-195 ประเทศ มีประเทศที่ไปขอรับความช่วยเหลือมากกว่า 102 ประเทศ
อย่างไรก็ตาม วิกฤตนี้ทำให้รายได้คนหดหายไปทันที สถาบันการเงินจึงต้องมีมาตรการระยะที่ 1 และระยะที่ 2 (ซึ่งเปิดเป็นการทั่วไป) โดยเร็วเพื่อเยียวยาและลดการจ่ายหนี้ให้ประชาชนและผู้ประกอบการ สอดคล้องกับรัฐบาลที่ออกมาตรการดูแล แต่ในระยะนี้ต้องเน้นเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ภาระหนี้ของประชาชนและผู้ประกอบการสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ชำระหนี้ได้จริง โดยธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 3 เพื่อดูแลเฉพาะกลุ่ม