วันนี้ (25 มิถุนายน) เมื่อเวลา 09.00 น. ศาลอาญาได้นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ ‘ธเนตร อนันตวงษ์’ นักกิจกรรมทางการเมืองผู้ถูกดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) จากการโพสต์และแชร์ข้อความในเฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์ คสช. และกองทัพ จำนวน 5 ข้อความ
ล่าสุดศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รายงานความคืบหน้าของคดี หลังศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในวันนี้ เบื้องต้นศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษายกฟ้อง ธเนตร อนันตวงษ์ ในทุกข้อหา ทำให้เขาพ้นผิดจากข้อกล่าวหาทั้งหมด
ศูนย์ทนายฯ ยังระบุเพิ่มเติมว่าศาลได้ระบุเหตุผลการยกฟ้องว่า แม้จะมีความเห็นต่างกับฝ่ายผู้มีอำนาจในขณะนั้น แต่ก็ได้กระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ เชื่อได้ว่าความคิดเห็นของจำเลยมิได้มีเจตนาเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดเกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือทำให้เกิดการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบยังไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง
ขณะที่ตามกระบวนการ ทำให้ช่วงเย็นวันนี้ธเนตรจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
ข้อมูลจากศูนย์ทนายฯ ระบุว่า หากนับเวลาตั้งแต่ธเนตรถูกแจ้งข้อกล่าวหาจนถึงวันพิพากษา นับเป็นเวลากว่า 4 ปี 6 เดือนเศษ
ขณะที่เขาต้องถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้วเกือบ 3 ปี 10 เดือน หรือรวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 1,396 วันแล้ว (นับรวมคดีที่ถูกคุมขังจากการทำกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์) คดีนี้ได้ถูกพิจารณาผ่านศาลทหารอย่างยาวนาน ก่อนถูกโอนย้ายมายังศาลพลเรือนพิจารณาต่อ ผ่านยุครัฐประหารของ คสช. มาสู่ยุคที่ไม่มี คสช. แล้ว แต่ตัวละครที่เคยดำรงตำแหน่งใน คสช. ยังคงครองอำนาจ กระทั่งได้รับอิสรภาพในวันนี้ ระหว่างการถูกคุมขังอย่างยาวนานยังทำให้ธเนตรสูญเสียพ่อไป โดยเขาไม่มีโอกาสได้ออกมาพบกับพ่อในช่วงสุดท้ายของชีวิต
สำหรับ ธเนตร อนันตวงษ์ หรือ ‘ตูน’ เพิ่งอายุครบ 30 ปีเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พื้นเพเป็นคนอำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี เขาสูญเสียแม่ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เนื่องจากอุบัติเหตุไฟช็อต ส่วนพ่อก็จัดได้ว่าเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เมื่อมีอาชีพหลักคือการเป็นคนงานก่อสร้างอยู่หลายปี
ธเนตรจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในช่วงวัยรุ่นเขาเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ โดยประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง และได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ช่วงนั้นเขายังถูกกล่าวหาดำเนินคดีในเรื่องการฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ซึ่งเคยถูกประกาศใช้ควบคุมการชุมนุมของคนเสื้อแดง ทำให้ธเนตรต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำราว 1 ปีเศษ
หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เขายังคงเป็นมวลชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร โดยเฉพาะการเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาที่มี ‘จ่านิว’ หรือ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เป็นแกนนำ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- https://www.tlhr2014.com/?p=18697
- https://www.tlhr2014.com/?p=18833
- https://www.tlhr2014.com/?p=18887