ธุรกิจสปาเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สามารถกลับมาเปิดบริการได้อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ณรัล วิวรรธนไกร กรรมการบริหาร และ Chief Marketing Officer บริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SPA ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่าผ่านไปประมาณ 10 วัน ลูกค้าเริ่มกลับมาประมาณ 30% จากช่วงปกติ โดย 25% เป็นฐานลูกค้าเดิม และอีก 5% เป็นฐานลูกค้าที่เพิ่งเข้ามาใช้บริการ
สยามเวลเนสกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งยักษ์ใหญ่ในธุรกิจสปา โดยบริษัทมีอายุ 21 ปี และเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์มาได้ 5 ปี แล้ว ธุรกิจในเครือแบ่งออกเป็น ระรินจินดา เวลเนส สปา สปาระดับ 5 ดาว จำนวน 3 สาขา, เล็ทส์ รีแลกซ์ สปาระดับ 4 ดาว จำนวน 44 สาขา (ในประเทศ 38 สาขา และต่างประเทศ 6 สาขา, บ้านสวนมาสสาจ สปาระดับ 3 ดาว จำนวน 10 สาขา, Stretch me by Let’s Relax สตูดิโอยืดคลายกล้ามเนื้อเพื่อสุขภาพ จำนวน 4 สาขา และ Face Care by Let’s Relax ศูนย์ปรนนิบัติผิวหน้า จำนวน 1 สาขา
ช่วงไตรมาสแรกภาพรวมของธุรกิจกำไรลดลง 80% เหลือ 4 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 2 ปิดไปเต็มๆ 2 เดือน ณรัลมองว่า ภาพรวมธุรกิจในครึ่งปีแรกค่อนข้างสาหัส เนื่องจากฐานลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อมีโรคระบาดลูกค้ากลุ่มนี้หายไปหมด จึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจ
เบื้องต้นสยามเวลเนสกรุ๊ปมีมาตรการต่างๆ เพิ่มขึ้นมาถึง 18 มาตรการ เหล่านี้หมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ณรัลระบุว่า นี่คือการลงทุนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ แต่ยังไม่มีแผนที่จะปรับราคาขึ้น ด้วยมองว่า มาตรการเหล่านี้จะทำให้สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น ในระยะสั้นคือคนไทย และระยะยาวคือชาวต่างชาติ
“เราเชื่อว่าในทุกวิกฤตมีโอกาส ถ้าเราสามารถสร้างแบรนด์ที่น่าเชื่อถือได้ เราจะกลับมาแข็งแรงได้กว่าเดิม สิ่งที่ต้องมี 3 เรื่อง คือ สิ่งที่เราเก่งอยู่แล้วต้องโฟกัส ไม่ใช่ไดเวอร์ซิฟายตามเทรนด์ ทำสิ่งที่ถนัดและต่อยอด สอง พัฒนาในเรื่องนวัตกรรมและคุยกับลูกค้าเยอะๆ เพื่อนำข้อคิดที่ได้มาปรับปรุงธุรกิจ และสุดท้ายคือ การพูดคุยกับพนักงานให้เชื่อมั่นในองค์กร”
ณรัลมองว่า ธุรกิจเวลเนสและสปายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะสปาคือ 1 ใน 3 สิ่งที่นักท่องเที่ยวมาไทยแล้วต้องลอง ร่วมกับอาหารไทยและธรรมชาติ สำหรับความท้าทายนอกเหนือจากเสถียรภาพทางการเมืองและภัยธรรมชาติ ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวขึ้นๆ ลงๆ แล้ว อีกเรื่องคือการเก็บข้อมูลต่างๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นสิ่งจำเป็นการสำหรับการทำการตลาด โดยเข้ามาช่วยกำหนดแนวทางไม่ให้ใช้ความรู้สึกตัดสินเหมือนช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในตลาด 35,000 ล้านบาท ที่ส่วนใหญ่ยังเป็นรายเล็กๆ เมื่อเกิดโรคระบาดจะทำให้กลุ่มที่ไม่ชำนาญในธุรกิจล้มหายตายจากไปได้ และใช้เวลานานในการฟื้นตัว ส่วนรายกลางและรายใหญ่แม้จะพออยู่ได้ แต่จากนี้ต้องสร้างจุดเด่นให้แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ
ในมุมของณรัลให้ความเห็นว่า ต่อไปการจะเห็นการควบรวมกิจการเกิดขึ้นได้ สำหรับสยามเวลเนสกรุ๊ปก็มีพูดคุยไว้บ้าง แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ โดยหากแบรนด์ที่เข้ามาใหม่จะต้องสามารถซินเนอร์จี้กับธุรกิจในเครือได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำโนว์ฮาวมาเสริมจุดแข็งหรือขยายฐานลูกค้า
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล