×

สายตาที่เฉียบแหลมคือจุดแข็งของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21-ไขความคิดผ่านทรรศนะของ เก่ง-สิทธิพงศ์​ ศิริมาศเกษม [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
07.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ไขความคิดผ่านสายตาอันแหลมคมของ เก่ง-สิทธิพงศ์​ ศิริมาศเกษม กรรมการบริหาร บริษัท rgb72 จำกัด ครีเอทีฟเอเจนซีชื่อดัง ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของลูกค้ามากมาย ผู้ริเริ่มจัดงาน ‘Creative Talk’ งานทอล์กสุดเจ๋ง ซึ่งรวบรวมคนเก่งๆ จากแวดวงต่างๆ มาเผยความคิด มุมมอง และแบ่งปันเคล็ดลับความสำเร็จ ซึ่งจัดขึ้นมาถึง 10 ครั้ง
  • อ่านวิธีคิด วิธีมอง และฝึกให้มี ‘สายตาอันแหลมคม’ ซึ่งเป็นจุดแข็งของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ที่จะช่วยทำให้อยู่รอดและประสบความสำเร็จ พร้อมเผยเคล็ดลับที่จะช่วยถนอมสายตาอันแสนสำคัญเอาไว้ใช้กันได้อย่างยาวนาน 

เพื่อที่จะใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จในยุคปัจจุบันที่มีความผันผวนสูงนั้น สิ่งหนึ่งที่ทุกคนจำเป็นจะต้องมีก็คือ ‘สายตาที่เฉียบแหลม’ ซึ่งนับเป็นจุดแข็งและคุณสมบัติที่จำเป็นของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 แต่ทำอย่างไรเราจึงจะมีสายตาเช่นนั้นได้ นี่เป็นคำถามสำคัญ ซึ่งการจะหาคำตอบได้ก็คงต้องสนทนากับผู้ที่มีสายตาเฉียบแหลม เพื่อไขความคิดอันแหลมคมของเขา แล้วนำวิธีการมองเห็นสิ่งต่างๆ มาฝึกฝนปรับใช้ เพื่อให้เรามีสายตาอันยอดเยี่ยม รวมถึงหาวิธีถนอมและรักษาสายตาเฉียบคมอันแสนสำคัญนี้ไว้กับเราให้ยาวนาน เพราะเป็นธรรมดาที่การตรากตรำทำงานหนักติดต่อกันนานๆ ย่อมทำให้หลายๆ คนมีปัญหาสายตาอ่อนล้าเกิดขึ้นได้

 

ดังนั้นหากมีเคล็ดลับหรือตัวช่วยใดที่จะช่วยเราถนอมสายตาได้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ และหนึ่งในบุคคลที่ THE STANDARD เห็นว่ามีสายตาที่เฉียบคมที่สุดในยุคนี้ก็คือ เก่ง-สิทธิพงศ์​ ศิริมาศเกษม กรรมการบริหาร บริษัท rgb72 จำกัด ครีเอทีฟเอเจนซีชื่อดัง ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของลูกค้ามากมาย และเป็นผู้ริเริ่มจัดงาน ‘Creative Talk’ งานทอล์กสุดเจ๋ง ซึ่งรวบรวมคนเก่งๆ จากแวดวงต่างๆ มาเผยความคิด มุมมอง และแบ่งปันเคล็ดลับความสำเร็จของพวกเขา

 

เส้นทางสู่ความสำเร็จ 

ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ชายหนุ่มคนนี้ตัดสินใจเบนเข็มชีวิตของตัวเอง ทั้งๆ ที่เริ่มเรียนบัญชีที่โรงเรียนพณิชยการพระนครมาได้ร่วม 2 ปี ทันทีที่เขารู้ว่าตัวเองมีความชื่นชอบและหลงใหลในงานดีไซน์มากกว่า สิทธิพงศ์จึงมุ่งหน้าสู่สหรัฐอเมริกาเพื่อตามฝัน หลังจากใช้เวลาเรียนด้าน Visual Communication ที่ Al Collins Graphic Design School สถาบันมีชื่อด้านกราฟิกอยู่ 4 ปี เขาเลือกที่จะยังไม่กลับเมืองไทย เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงาน ชายหนุ่มเลือกที่จะโฟกัสที่งานออกแบบเว็บไซต์ ซึ่งในสมัย ค.ศ. 1997 นั้นเรียกได้ว่าสื่อและตลาดนี้ยังไม่ได้บูม หรือมีวี่แววว่าจะเป็นช่องทางที่มีอิทธิพลดังเช่นทุกวันนี้เลยเสียด้วยซ้ำ

“ผมเลือกที่จะโฟกัสงานออกแบบเว็บไซต์แทนที่จะเลือกออกแบบสิ่งพิมพ์หรือโฆษณา เพราะผมคิดว่าเว็บไซต์นั้นเป็นสื่อใหม่ที่น่าตื่นเต้น มีลักษณะเด่นคือเป็นการสื่อสารสองทาง ซึ่งนอกจากทางแบรนด์จะสามารถสื่อสารมายังลูกค้าได้ ตัวลูกค้าเองก็สามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์กลับมายังแบรนด์ได้ด้วย เราเลยมองว่านี่เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น น่าสนุก ข้อดีของการที่เราเป็นดีไซเนอร์แล้วมาทำเว็บไซต์ นั่นก็คือช่วยทำให้เว็บสวยและมีความน่าสนใจขึ้น ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของผม”

 

หลังจากที่เรียนจบและใช้เวลาทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานมาได้ประมาณ 3 ปี ก็ได้ตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่เมืองไทยอย่างถาวร โดยเขาเริ่มต้นทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่งอยู่เกือบปี แล้วจึงลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ก่อนที่จะร่วมกับเพื่อนอีกคนเปิดกิจการของตัวเอง นั่นคือ ‘บริษัท rgb72 จำกัด’ ซึ่งโฟกัสเฉพาะการทำงานดิจิทัล งานเว็บไซต์ งานออนไลน์เท่านั้น งานที่ทำอยู่ตอนนั้นจึงได้แก่ การออกแบบเว็บไซต์ กราฟิกดีไซน์ แอนิเมชัน “แต่เมื่อเราโตขึ้นเรื่อยๆ ผมว่าเป็นเรื่องปกติของการทำกิจการ ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เราจะต้องปรับตัว จากแต่ก่อนที่เราทำงานในลักษณะของโปรดักชันเฮาส์ ปัจจุบันเราเรียกตัวเองว่าเป็น Creative Agency โดยไม่ได้ลิมิตตัวเองแล้วว่าจะต้องอยู่ในรูปแบบของดิจิทัลหรือเว็บไซต์เท่านั้น แต่อาจรวมถึงงานสร้างสรรค์อื่นๆ อย่างอีเวนต์หรืองานออฟไลน์ต่างๆ ด้วย”

 

Creative Talk งานที่รวบรวมคนเก่ง เพื่อช่วยแบ่งปัน พัฒนากันและกัน 

จุดเริ่มต้นของงาน Creative Talk งานทอล์กสุดเจ๋งที่รวบรวมคนเก่งๆ จากหลากหลายวงการทั่วฟ้าเมืองไทย ที่ชายคนนี้ได้ริเริ่มจัดขึ้นเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว ด้วยความตั้งใจและความเชื่อที่ว่า แม้คนเราจะฉลาดในบางเรื่อง แต่ก็ยังไม่รู้ในบางเรื่อง ทว่าเราทุกคนสามารถที่จะเติบโตและพัฒนาตัวเองได้ จึงอยากจะจัดงานทอล์กดีๆ ที่เปิดเวทีให้ทุกคนได้มาเรียนรู้ และมาแชร์ความรู้ ประสบการณ์ และความเป็นมืออาชีพให้กันและกัน งานครีเอทีฟทอล์กครั้งแรกมีผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด 70 คน และจัดติดต่อกันมาได้ถึง 10 ครั้งแล้ว โดยในครั้งล่าสุดเพิ่งจัดขึ้นเมื่อเดือน มกราคมที่ผ่านมา มีผู้มาเข้าร่วมงานถึง 5,000 คน และมีจำนวนสปีกเกอร์มากถึง 105 คน เรียกได้ว่าเติบโตและประสบความสำเร็จอย่างสูง 

 

“งาน Creative Talk เราเชื่อในเรื่องของ Knowledge Sharing หรือการแบ่งปันความรู้ เช่นเดียวกันกับสปีกเกอร์ผู้เข้าร่วมของเราทุกคน และสปอนเซอร์ที่ต้องการจะเป็นผู้ให้ ช่วงแรกๆ จึงจัดเป็นงานฟรี จนกระทั่งงานนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เราก็อยากที่จะ Educate คนที่เข้ามาฟังด้วยว่า ณ ถึงจุดหนึ่งคุณเองก็ควรที่จะเป็นผู้ให้ด้วย จึงได้จัดให้มีบัตรที่เรียกว่า ‘Angel Bird’ ขึ้น สมมติว่าคุณเสียเงินซื้อบัตร แต่เราก็จะเผื่อที่นั่งอีกที่สำหรับน้องๆ นักศึกษาหรือคนที่ไม่มีเงินซื้อบัตรเอาไว้ด้วย โดยที่นั่งในส่วนนี้เราจะใช้วิธีจับสลากเอา เพราะเราอยากจะให้งานนี้เป็นเรื่องของการให้จริงๆ และผมคิดว่านี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้งานนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ครับ”

 

สายตาที่เฉียบแหลมอันเป็นจุดแข็งของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21

เมื่อพูดถึงสายตาอันเฉียบแหลม ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจในทุกวันนี้อยู่รอดและประสบความสำเร็จ เราถามสิทธิพงศ์​ว่า คนอื่นๆ จะฝึกให้มีสายตาที่เฉียบแหลมเช่นเขาได้อย่างไร ชายหนุ่ม​วิเคราะห์และให้คำตอบกับเราว่า 

 

“โลกสมัยนี้หมุนไปไวมากๆ นะครับ โดยส่วนตัวผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญในการที่จะทำให้เราอยู่รอดและประสบความสำเร็จได้นั้นมีอยู่ประมาณ 2-3 อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือความรู้ เราต้องมีความรู้เท่าทันลูกค้า รู้เท่าทันทุกสิ่งทุกอย่าง เราต้องมีความรู้มากขึ้น เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์งาน เพื่อให้เราสามารถที่จะแก้ปัญหาและแข่งขันกับคนอื่นๆ ได้ ส่วนอย่างที่สอง ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งไปกว่าอย่างแรก นั่นคือเราต้องมีความเข้าใจในมนุษย์ ซึ่งจะช่วยทำให้เราเข้าใจในตัวลูกค้า ทีมงาน และทุกคนที่เราร่วมงานได้ นี่ถือเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จเลยก็ว่าได้

 

“อย่างที่สาม คือเราต้องรู้จักมองทั้งในระยะใกล้และมองในระยะไกล การมองระยะไกลหมายถึงมองไปให้ไกล มองในระยะยาว 1-3 ปี ผมเรียกการมองแบบนี้ว่าเป็นการมองแบบ Infinite คือมองให้ไกลไปกว่าตัวเราเองครับ ยกตัวอย่างงาน Creative Talk ซึ่งผมมีเป้าหมายคืออยากทำให้คนไทยเก่งขึ้น ฉลาดขึ้น ซึ่งมันเป็นสิ่งที่นอกเหนือไปจากตัวผมเอง และจะใช้เวลานานเท่าไรก็ไม่รู้ คือเราต้องทำมันต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งถามว่าทำแล้วได้อะไร คือเราจะได้รับผลอะไรตอบกลับมาแน่นอน มันจะค่อยๆ ตอบแทนเรากลับมา อย่างที่บางครั้งเราก็อาจจะยังไม่ทันรู้ตัวเสียด้วยซ้ำ แต่เรามองระยะไกลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองระยะใกล้ด้วย โดยเราจะต้องกำหนดเป้าหมายระยะใกล้ที่เป็น ‘Small Win’ เพื่อเป็นรางวัลให้ตัวเองมีกำลังใจที่จะทำสิ่งต่างๆ ต่อไปได้ แล้วค่อยๆ เก็บเกี่ยวความสำเร็จ มองให้เห็นว่าอะไรที่สำคัญกับเราจริงๆ และวางเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มันจะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนให้เราสามารถที่จะอยากตื่นเช้า แล้วก็ทำงานได้ทุกวันครับ”

 

 

สายตาที่แหลมคมก็ยังมีบ้างที่ย่อมอ่อนล้า 

แม้จะมีสายตาที่แหลมคม แต่หากตรากตรำทำงานหนัก ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ทุกคนจะมีอาการตาล้า สิทธิพงศ์​เองก็เช่นกัน ในฐานะที่ทำงานสร้างสรรค์ โดยเฉพาะดีไซเนอร์ ซึ่งมักจะต้องใช้สายตาในการทำงานค่อนข้างมาก เราจึงถามชายหนุ่มถึงเรื่องพฤติกรรมและสุขภาพสายตาของเขา

 

“ตัวผมเองใส่แว่นมาตั้งแต่ ป.2 แล้วครับ สายตาผมเคยสั้นสูงสุดอยู่ที่ 700-800 ตอนนี้ผมอายุ 42 ปี มันลดลงมาเหลืออยู่ประมาณ 400 กว่าแล้ว ส่วนสายตาเอียงก็มีบ้างประปรายครับ ด้วยความที่เป็นเว็บและกราฟิกดีไซเนอร์ ผมจึงใช้สายตาเยอะกว่าคนอื่นค่อนข้างมาก เพราะงานของเราต้องใช้คอมพิวเตอร์อยู่ตลอดเวลา จำเป็นต้องเพ่งจอและดูสีเยอะๆ จึงทำให้บางครั้งก็มีอาการตาล้าเกิดขึ้น ซึ่งอาการตาล้าผมคิดว่ามันมี 2 แบบครับ คือแบบที่เรารู้ตัวกับแบบที่เราไม่รู้ตัว

 

“สำหรับอาการตาล้าแบบที่รู้ตัว สมมติว่าเรานั่งทำงานจ้องคอมพิวเตอร์ จ้องโทรศัพท์มือถือไปได้สักพักแล้วรู้สึกตาล้า เราก็จะละสายตาออกจากมัน แล้วก็หยุดทำมันชั่วคราวใช่ไหมครับ แต่บางทีก็เราโฟกัสกับงานมากเกินไป จนเราลืมไปว่าตาของเรามันล้าอยู่ หรือบางทีเราก็รู้ตัวว่าตาล้า แต่บางครั้งงานมันเยอะและเร่งจนทำให้เราหยุดพักไม่ได้ ถ้าทำไปเรื่อยๆ จนเหนื่อยล้ามากๆ ก็จะออกอาการปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้จนอยากจะอาเจียน… อะไรทำนองนี้ครับ ซึ่งถ้าถามผมว่ามีเลนส์อะไรที่สามารถช่วยบรรเทาในเรื่องของการตาล้าได้ ผมก็คิดว่าน่าสนใจและเยี่ยมมากเลยนะครับ”

 

 

โชคดีของคนทำงานหนักและต้องการถนอมสายตาอันแสนสำคัญเอาไว้ใช้ได้นานๆ เพราะตอนนี้มี ‘Zeen Lens’ จากทางหอแว่น ซึ่งเป็นเลนส์สำหรับแว่นสายตา ที่ช่วยลดการเพ่งของกล้ามเนื้อตา เพื่อวิสัยทัศน์ที่ผ่อนคลาย นวัตกรรมใหม่ล่าสุดซึ่งคิดค้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหา บรรเทาอาการตาล้าของคนยุคดิจิทัลโดยเฉพาะ โดยเลนส์พิเศษนี้จะสามารถคำนวณตำแหน่งการมองเห็นตามลักษณะการสวมใส่ มอบการมองเห็นที่คมชัดเวลามองไกลและผ่อนคลายเวลามองใกล้ ช่วยบรรเทาอาการปวดตาในขณะที่เปลี่ยนโฟกัส ลดความเครียดจากการใช้สายตา แถมยังเหมาะสำหรับกรอบแว่นทุกรูปแบบอีกด้วย และหากใครที่สนใจ ‘Zeen Lens’ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยถนอมสายตาของคุณได้อย่างยอดเยี่ยมนี้ละก็ สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาที่หอแว่นกันได้เลย หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนได้ที่  https://www.zenith.in.th/zeen

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI

‘อาการตาล้า’ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ อย่าปล่อยให้สายตาต้องแบกรับภาระกล้ามเนื้อตา เพราะตาล้าสร้างปัญหากว่าที่คิด 

  • ปวดกระบอกตาจากกล้ามเนื้อตาล้า เป็นอาการที่เกิดจากการใช้สายตาอย่างหนัก โดยใช้สายตาเพ่งกับสิ่งที่ละเอียดใกล้ๆ เป็นเวลานาน เช่น การอ่านหนังสือ การทำงานฝีมือที่ต้องใช้ความละเอียด และการจ้องมองจอโทรศัพท์มือถือหรือจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนอกจากจะทำให้กล้ามเนื้อตาล้าแล้ว ยังส่งผลให้เกิดอาการปวดท้ายทอยหรือบริเวณขมับ บางรายอาจเวียนศีรษะถึงขั้นคลื่นไส้ได้
  • Computer Vision Syndrome (CVS) เป็นอาการของคนที่ทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ เช่น จ้องจอคอมพิวเตอร์เกิน 2-3ชั่วโมง ส่งผลให้มีอาการปวดตา แสบตา ตามัว บางครั้งอาจมีอาการปวดหัวร่วมด้วย
  • สายตาสั้นเทียม เกิดจากการหดตัวผิดปกติของกล้ามเนื้อเล็กๆ ในลูกตา ซึ่งปกติกล้ามเนื้อส่วนนี้มักหดและคลายตัวสลับกันไปมาตลอด แต่หากเราใช้สายตาเพ่งดูจอโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์นานเกินไป ก็จะทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อเล็กๆ ในตามีความผิดปกติได้ กล่าวคือ สายตาไม่คลายตัวแม้ไม่ได้มองใกล้แล้ว เพราะกล้ามเนื้อหดตัวเกือบตลอดเวลา ทำให้มีอาการเสมือนอยู่ในสภาพสายตาสั้น
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X