×

‘พระราชานักกีฬา’ ในดวงใจ

24.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

11 Mins. Read
  • “ไอ้แกละ…ในหลวงมาแล้ว” เสียงดังกล่าวเป็นการตะโกนบอกจากข้างเวทีมวยโดยพี่เลี้ยงของ โผน กิ่งเพชร ในช่วงกลางยกที่ 7 หลังโดนไล่ต้อนจาก ไฟติ้ง ฮาราดะ กำปั้นเหล็กจากญี่ปุ่น หลังเพิ่งทราบว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จมาถึงสนามมวยลุมพินี คำว่า ‘ในหลวง’ เหมือนปลุกวิญญาณยอดนักชกแชมป์โลกคนแรกของไทยให้กลับมาชกในฟอร์มตัวเองอีกครั้ง และสามารถไล่ต้อนสอนมวยฮาราดะแทบจะข้างเดียวไปจนครบการชก 15 ยก ก่อนได้รับการชูมือให้เป็นผู้ชนะ
  • เดิมแบดมินตันเป็นกีฬาทรงโปรดของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาก่อนจะทรงเรือใบ ด้วยความเป็นกีฬาทรงโปรด ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 คอยติดตามข่าวสาร และเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการแข่งขันครั้งสำคัญๆ อยู่เสมอ และการไปแต่ละครั้งไม่เคยกลับมามือเปล่า พระองค์ทรงเก็บรายละเอียดและศึกษาการเล่นของนักแบดมินตันชั้นนำมาด้วย
  • ครั้งหนึ่งพระองค์เคยสร้างความประหลาดใจเมื่อลงแข่งขันเรือใบ ทรงแล่นเรือกลับฝั่งทั้งๆ ที่เพิ่งออกเรือได้ไม่นาน พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร เล่าว่า “ครั้งหนึ่งเสด็จฯ ออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นเรือใบเข้าฝั่ง ตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯ อยู่ด้วยความฉงนว่า เสด็จฯ กลับเข้าฝั่งเพราะเรือใบพระที่นั่งแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาการแข่งเรือใบถือว่าฟาวล์ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเห็น” นี่คือความหมายของนักกีฬาที่แท้จริง

 

1.

 

     บิดเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปเมื่อ 54 ปีที่แล้ว

     วันนั้น โผน กิ่งเพชร ยอดนักชกขวัญใจชาวไทยกำลังป้อแป้หลังโดน ไฟติ้ง ฮาราดะ ไอ้หนุ่มกำปั้นเหล็กจากญี่ปุ่นไล่ชกจนแทบไม่เหลือทรงแชมป์โลกคนแรกของไทย

     6 ยกที่ผ่านมา ‘กระทิงเผือก’ (สมญาของฮาราดะที่น่าจะบ่งบอกได้ดีว่าสไตล์การชกของนักชกเลือดซามูไรจะดุดันขนาดไหน) ทั้งต้อนทั้งตื๊อ ‘งูเห่าทะเล’ (ฉายาของโผน ซึ่งมาจากหมัดแย็บที่รวดเร็วแม่นยำประหนึ่งงูฉก) จนหมดแรง

     ณ เข็มนาฬิกานั้นยากจะคิดว่าโผนจะกลับมาชนะได้อย่างไร เอาแค่ประคองตัวให้ครบยกก็อาจจะยากแล้ว

     การจะกลับมาชนะได้ต้องอาศัยพลังปาฏิหาริย์อย่างเดียวเท่านั้น

     บุญของประเทศไทยที่วันนั้นเกิดปาฏิหาริย์ที่เวทีมวยลุมพินี ด้วยประโยคมหัศจรรย์เพียงประโยคเดียว

     “ไอ้แกละ…ในหลวงมาแล้ว”

     เสียงดังกล่าวเป็นการตะโกนบอกจากข้างเวทีมวยโดยพี่เลี้ยงของโผน ในช่วงกลางยกที่ 7 หลังเพิ่งทราบว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ มาถึงสนามมวยลุมพินี ด้วยการให้ราชองครักษ์นำฝ่าคลื่นมหาประชาชนที่แห่กันเข้ามาชมการชกไฟต์นี้เต็มสนาม ล้นมาถึงรอบนอกจนแทบจะเกิดจลาจล

     ตามบันทึกของ รศ. ดร. ต่อตระกูล ยมนาค ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับการบอกเล่าจาก พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ ยมนาค ผู้เป็นพ่อ ซึ่งเป็นราชองค์รักษ์ติดตามเสด็จฯ ในวันนั้นเล่าว่า ความจริงในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จมาถึงสนามมวยก่อนเวลาแล้วแต่ไม่สามารถฝ่าเข้าไปได้ พระองค์จึงพาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กลับไปส่งที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน แล้วเสด็จฯ กลับมาใหม่พระองค์เดียว โดยไม่ให้เปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี

     แต่เมื่อพี่เลี้ยงรู้ว่าพระองค์เสด็จมา ก็รีบตะโกนบอกโผนที่ป้อแป้เจียนอยู่เจียนไปมา 6 ยก

     คำว่า ‘ในหลวง’ เหมือนปลุกวิญญาณยอดนักชกแชมป์โลกคนแรกของไทยให้กลับมาชกในฟอร์มตัวเองอีกครั้ง และสามารถไล่ต้อนสอนมวยฮาราดะแทบจะข้างเดียวไปจนครบการชก 15 ยก ก่อนได้รับการชูมือให้เป็นผู้ชนะ ได้เข็มขัดแชมเปี้ยนโลกมาไว้ในครอบครองได้อีกครั้งเป็นสมัยที่ 2

     เรื่องนี้เป็นหนึ่งในตำนานอมตะของวงการมวยไทยที่ยังถูกเล่าขานจนถึงวันนี้

     แต่นอกจากเรื่องนี้แล้วยังมีตำนานอมตะอีกมากมายของเหล่านักกีฬาไทยที่ได้รับกำลังใจที่ยิ่งใหญ่จากคนในหัวใจของพวกเขา จนสามารถฮึดสู้คว้าชัยชนะ สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ และมอบความสุขให้แก่คนไทยที่เฝ้าติดตามให้กำลังใจอยู่ที่บ้าน

     และแน่นอนว่ารวมถึงคนสำคัญที่สุด คนที่เป็นกำลังใจให้แก่นักกีฬาไทยทุกคนและรอฟังข่าวดีของ ‘ลูกๆ’ อยู่ทางนี้เสมอ

 

2.

 

     ความผูกพันระหว่างนักกีฬาไทยกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ

     เพราะพ่อหลวงของคนไทยเป็นนักกีฬาที่แท้จริงมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์

     เรื่องนี้ปรากฏในพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่มีมาถวายสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เกี่ยวกับการเล่นสกีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้รับการฝึกจากนายชาเตอลายนา ครูฝึกชาวสวิสว่า  

     “…นันทกับเล็กสกีหลายหน ทำเก่งกันทั้งคู่ เล็กยิ่งทำดีกว่านันท ทำน่าเอ็นดู ใครๆ เห็นเข้าก็งงงวย เพราะเล็กนิดเดียวทำได้ดีมาก…”

     ไม่ใช่แค่สกี พระองค์ทรงกีฬาอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสกีน้ำ, ว่ายน้ำ, เรือกรรเชียง, เรือพาย, แบดมินตัน, ยิงปืน, กอล์ฟเล็ก, การแข่งขันรถเล็ก, เครื่องร่อน ฯลฯ

     โดยกีฬาที่ทรงโปรดส่วนใหญ่จะเป็นกีฬาที่ไม่ได้เน้นการใช้พละกำลังแค่อย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความรู้รอบตัว เทคนิค ไหวพริบ และความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ด้วย

     ตรงนี้เองที่สำคัญมาก หากนักกีฬาคนไหนเข้าใจและทำตามแบบอย่างของพระองค์ ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในเชิงกีฬาได้ไม่ยาก

     ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการชนะเลิศการแข่งขันกีฬาเรือใบ ประเภทโอเค ในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 (ซีเกมส์ในปัจจุบัน)

     ในการแข่งครั้งนั้นพระองค์ทรงซ้อมและเก็บตัวเหมือนนักกีฬาทั่วไปร่วมกับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี โดยพระองค์ทรงเรือเวคา 2 ใบเรือหมายเลข TH27 ส่วนพระธิดาทรงเรือเวคา 1 ใบเรือหมายเลข TH18

     การแข่งขันเป็นไปอย่างเข้มข้น และในรอบชิงชนะเลิศทำเอากองเชียร์ใจหายใจคว่ำ ขณะที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเรือใบนำมาตลอด ตามด้วยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และมีนักกีฬาทีมชาติพม่าคู่แข่งคนสำคัญตามมาติดๆ

     ในระหว่างที่ทรงนำอยู่นั้น ลมเกิดเปลี่ยนทิศ ทำให้พระองค์ต้องทรงเรืออ้อมผิดตำแหน่ง แต่กระนั้นก็มิได้เป็นปัญหา เพราะพระองค์ทรงนำเรือเข้าสู่เส้นชัยได้สำเร็จเป็นพระองค์แรก และตามด้วยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

     ครานั้นพสกนิกรที่ติดตามการแข่งขันจะได้เห็นว่า เมื่อครั้งที่ทรงทราบว่าอ้อมเรือผิดทุ่น พระองค์ทรงพระสรวลก่อนทิ้งพระองค์ลงน้ำ

     และผลการแข่งขันในครั้งนั้น คณะกรรมการมีมติทำให้ทรงครองเหรียญทอง ร่วมกับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทำให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในโลกที่ได้รางวัลเหรียญทองจากการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ

     แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือเรือใบที่ใช้ทำการแข่งขันก็เป็นเรือใบที่ทรงต่อขึ้นเอง

     พระองค์ยังทรงออกแบบและสร้างเรือใบในตระกูลมดขึ้น และมีการจดสิทธิบัตรในประเภท International Moth Class โดยมีการพัฒนาต่อเนื่องเป็นแบบซูเปอร์มด และไมโครมด ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักแล่นเรือใบ

     “ที่ชื่อมดนั้น เพราะมันกัด เจ็บๆ คันๆ ดี”

     จะมีสักกี่คนบนโลกใบนี้ที่ทำได้ขนาดนี้?

 

 

3.

 

     ความปราดเปรื่องเรื่องกีฬาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ได้หมดแต่เพียงเท่านี้

     สายพระเนตรของพระองค์นั้นยาวไกล มองเห็นได้ถึงอนาคตในอีกหลายสิบปีข้างหน้าว่าคนไทยมีโอกาสที่จะก้าวไปประสบความสำเร็จระดับโลกได้ในกีฬาแบดมินตัน

     ทั้งๆ ที่ในจุดเริ่มต้นนั้นแบดมินตันแทบไม่มีใครสนใจในบ้านเราเลย

     เดิมแบดมินตันเป็นกีฬาทรงโปรดของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาก่อนจะทรงเรือใบ ด้วยความเป็นกีฬาทรงโปรด ทำให้พระองค์คอยติดตามข่าวสารและเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการแข่งขันครั้งสำคัญๆ อยู่เสมอ

     และการไปแต่ละครั้งไม่เคยกลับมามือเปล่า พระองค์ทรงเก็บรายละเอียดและศึกษาการเล่นของนักแบดมินตันชั้นนำมาด้วย

     สมัยนั้นมีนักกีฬาแบดมินตันที่มีชื่อเสียงหลายคนมีโอกาสได้รับเชิญร่วมเล่นกีฬาแบดมินตันในสวนจิตรลดา โดยหนึ่งในนั้นคือแชมเปี้ยนโลกชาวสิงคโปร์ ว่องเป็งสูน

     การได้ทรงกีฬาแบดมินตันกับนักกีฬาระดับชั้นนำเหล่านี้ ทำให้ทรงเห็นว่าคนไทยสามารถไต่เต้าไปสู่ระดับโลกได้ เพราะไม่มีความเสียเปรียบเรื่องรูปร่างและพละกำลังมากเกินไป

     ด้วยเหตุนี้จึงได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เพื่อสนับสนุนกีฬาแบดมินตันในไทย

     และยังคอยติดตามนักกีฬาไทยในการแข่งขันกับนักกีฬาระดับโลก และสามารถชี้แนะแนวทางการเล่นให้แก่นักแบดมินตันได้

     เหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในการแข่งขันออล-มาลายันที่สิงคโปร์ เมื่อปี พ.ศ. 2502 ครั้งนั้น ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน อดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย ต้องเจอกับ เออร์แลนด์ คอปส์ แชมเปี้ยนโลกชาวเดนมาร์กที่มีพละกำลังมาก

     ครั้งนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีรับสั่งถามศาสตราจารย์เจริญเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเมื่อศาสตราจารย์เจริญกราบบังคมทูลว่า เออร์แลนด์ คอปส์ มีลูกตบที่รุนแรง ที่เสียแต้มให้คอปส์ส่วนมากเป็นเพราะรับลูกตบที่หนักหน่วงไม่ได้ และคอปส์ยังมีพละกำลังมาก อึด และอดทน ยิ่งเล่นก็ยิ่งมีกำลังมาก”

     พระองค์ทรงรับสั่งว่า “เมื่อคอปส์มีลูกตบที่หนักและรุนแรง สิ่งที่ควรจะทำคือ หลีกเลี่ยงอย่าให้คอปส์ตบลูกได้บ่อย หรือใช้ลูกตบได้ถนัด ควรดึงคอปส์มาเล่นลูกหน้าให้มาก เมื่อเขาพะวงบริเวณหน้าตาข่ายจะทำให้เขาถอยตบลูกไม่ถนัด”

     สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น คนไทยตัวเล็กๆ สามารถล้มยักษ์ใหญ่จากยุโรปได้

     และจากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาผ่านมากว่า 60 ปี นักแบดมินตันไทยก้าวไปสู่การเป็นนักกีฬาระดับโลกได้จริงๆ

     ไม่ผิดไปจากที่พ่อเคยบอกพวกเราเลย

 

 

4.

 

     แต่ความสำเร็จและชัยชนะไม่ใช่ทุกอย่างของกีฬา

     เพราะกีฬามีแพ้มีชนะ เรื่องพวกนี้พ่อหลวงรู้และเข้าใจเสมอ

     ชนะได้นั้นดี แต่หากแพ้ก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งที่สำคัญมากกว่าคือเรื่องของน้ำใจนักกีฬา เรื่องของความมานะพยายาม เรื่องของการเคารพในกฎกติกา

     ในครั้งที่ทรงแบดมินตัน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ทรงแสดงอาการกริ้วเมื่อทรงตีลูกเสีย เมื่อผู้ที่ร่วมเล่นตีลูกเสีย หรือทรงถูกกระทบกระทั่งพระวรกายจากความเข้มข้นในการเล่นก็ไม่ทรงถือพระองค์แต่อย่างใด

     และในการแข่งขัน พระองค์ทรงไม่โปรดหากคู่แข่งไม่ทำการแข่งขันอย่างสุดความสามารถ ทรงถือเป็นการหมิ่นพระปรีชา เพราะพระองค์คือนักกีฬาเหมือนคนอื่น และทุกคนต้องลงแข่งขันภายใต้กฎกติกาเดียวกัน

     ครั้งหนึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยสร้างความประหลาดใจเมื่อลงแข่งขันเรือใบ และแล่นเรือกลับฝั่งทั้งๆ ที่เพิ่งออกเรือได้ไม่นาน

     พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร เล่าว่า “ครั้งหนึ่งเสด็จฯ ออกจากฝั่งไปได้ไม่นาน ก็ทรงแล่นเรือใบเข้าฝั่ง ตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯ อยู่ด้วยความฉงนว่า เสด็จฯ กลับเข้าฝั่งเพราะเรือใบพระที่นั่งแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาการแข่งเรือใบถือว่าฟาวล์ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเห็น”

     นี่คือความหมายของนักกีฬาที่แท้จริง

     และกีฬาสามารถสร้างชาติได้ ถ้าประชาชนหมั่นออกกำลังกาย มีสุขภาพที่แข็งแรง ก็สามารถดำเนินชีวิตและหน้าที่การงานได้อย่างมีความสุข

     และถ้าเรามีวินัยในการฝึกฝน เรียนรู้ที่จะอดทน เพียรพยายามที่จะพัฒนาตนเองในเชิงกีฬาได้ ก็หมายความว่าเราย่อมมีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองและพัฒนาชาติได้

     และยิ่งถ้าเราเคารพกฎกติกากีฬาได้ เราก็ย่อมเคารพกฎกติกาของบ้านเมืองได้ บ้านเมืองก็จะเป็นปกติสุขเรียบร้อย

     กีฬายังสร้างมิตรได้ด้วยกับคนทุกคน เหมือนครั้งที่เจ้าชายฟิลิป ดยุคเเห่งเอดินบะระ เสด็จประพาสเมืองไทยเป็นการส่วนตัว ในปี พ.ศ. 2508 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทราบว่าเจ้าชายฟิลิปโปรดการเล่นเรือใบ พระองค์จึงทรงจัดการแข่งขันเรือใบขึ้นเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์

     หรือที่ทรงมีพระสหายเล่นเรือใบอย่าง ปีเตอร์ คัมมินส์ อดีตผู้สื่อข่าวที่เป็น ‘มิตรนักกีฬา’ ทั้งร่วมแข่งขันและฝึกซ้อมมากับพระองค์

     และสำหรับนักกีฬาไทยที่ไปแข่งขันต่างแดน ทุกคนมีฐานะเป็น ‘ทูตทางการกีฬา’ ขอแค่ทำผลงานให้ดีที่สุด แพ้ไม่เป็นไร กีฬามีแพ้มีชนะ แต่ต้องทำตัวให้ดีให้เป็นหน้าตาของประเทศ

     ไม่น่าแปลกใจที่นักกีฬาไทยได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติเสมอ

     ภาพการไหว้ทำความเคารพที่สวยงาม ภาพการก้มกราบพ่อหลวงจากต่างแดน และภาพที่นักกีฬาไทยชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นภาพที่โลกกีฬาคุ้นชินและชื่นชม

     ทั้งหมดนี้คือหัวใจของกีฬาที่ ‘พระราชานักกีฬา’ ผู้คิดถึงคนอื่นก่อนตนเองเสมอได้สอนไว้ สอนด้วยการทำให้ดู สอนด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่ และสอนเพื่อให้เราสามารถอยู่กันอย่างมีความสุขตลอดไปในวันข้างหน้า

     วันนี้แม้ฟ้าจะลาลับ แต่เราต่างรู้กันดีว่าบนฟ้ายังมีดาว

     และมีคนคอยเฝ้ามองดูพวกเราอยู่เสมอจากบนฟ้าไกล

FYI
  • ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญกับการออกกำลังพระวรกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการวิ่งและการเดินเร็ว ทรงปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเป็นกิจวัตรตามแบบฉบับของนักกีฬาที่ดี และทำให้คงพระวรกายที่แข็งแรงพร้อมที่จะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนราษฎรของพระองค์ได้ทุกที่ทั่วไทย และมีการจดบันทึกข้อมูลพระชีพจรและความดันพระโลหิตถูกต้องตามหลักวิชาการวิทยาศาสตร์การกีฬาด้วย
  • ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงออกกำลังพระวรกายสม่ำเสมอ เพื่อที่สุขภาพจะได้แข็งแรง มีกำลังดูแลประชาชนของพระองค์ได้
  • ครั้งหนึ่ง ปีเตอร์ คัมมินส์ เคยถามพระองค์ว่า ทำไมถึงทรงเรือใบ พระองค์ตอบว่า “เพราะเรือใบทำให้สบายใจ ทำให้มีเวลาคิด และได้พักผ่อน”
  • เหรียญทองโอลิมปิกที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเก็บไว้มีเพียงเหรียญทองของ สมรักษ์ คำสิงห์ ที่ทูลเกล้าฯ ถวายหลังเป็นนักกีฬาคนไทยที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรก นอกนั้นพระราชทานคล้องคืนให้แก่นักกีฬาทุกคน
  • คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันกีฬาแห่งชาติ เพราะเป็นวันที่มีการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลเหรียญทองจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในวันปิดการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ที่สนามศุภชลาศัย ท่ามกลางความปลื้มปีติของพสกนิกรชาวไทย

 

พระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านการกีฬา

  • “การออกกำลังกายนั้น ถ้าทำน้อยไป ร่างกายและจิตใจก็จะเฉา แต่ถ้าทำมากไป ร่างกายและจิตใจก็จะช้ำ”
  • “การแล่นใบ สอนให้คนคิดเอง ทำเอง เพราะเมื่อเราลงไปเล่นเรือใบแล้วเรือไม่วิ่ง จะไม่มีใครมาคอยสอน เราต้องคิดเอง ทำเอง ว่าลมมาทางไหน ลมแรงขนาดนี้ เราสู้ไหวไหม ถ้าไหวเราก็สู้ แต่ถ้าไม่ไหวแล้วเรายังสู้ เรือก็จะคว่ำ ถ้าลมเบา เราจะต้องทำอย่างไรเรือจึงจะวิ่ง แล้วถ้าไม่มีลมเราจะทำอย่างไร เราก็ควรจะนั่งรอสักครู่ให้ลมมา ถ้าเราเล่นเรือเป็น ดูทิศทางลมเป็น ถ้าเราเป็นตัวนี้ เด็กไทยเป็นตัวนี้แล้วนำมาใช้ในชีวิต นำมาใช้ในกิจการงานได้ ไม่มีทางขาดทุน เพราะรู้เทคนิคการใช้ชีวิต เด็กไทยจะรู้จักและเข้าใจในการคิดเอง ทำเอง”
  • “สำหรับการปฏิบัติตนเมื่ออยู่ในต่างประเทศก็มีความสำคัญในด้านชาติบ้านเมืองอีกอย่างเหมือนกัน เพราะว่าการไปไหนๆ เขาก็เห็นว่าเป็นคนไทย เขาก็จ้องว่าคนไทยปฏิบัติตนอย่างไร ก็นับว่าทุกเมื่อทุกเวลาที่อยู่ในต่างประเทศนั้น เป็นผู้แทนของประเทศไทยทั้งในเวลาปฏิบัติกีฬาทั้งนอกเวลาปฏิบัติกีฬา ฉะนั้นขอให้ระวังตัวให้ดีเพื่อชื่อเสียงของบ้านเมือง ชื่อเสียงของบ้านเมืองนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา ถ้าเราทำให้ต่างประเทศเขานับถือเราทั้งในเชิงกีฬาทั้งในด้านผู้ที่เป็นคนที่ดีที่ประพฤติปฏิบัติตนดี ก็จะเป็นชัยชนะใหญ่หลวงที่สุดที่จะได้มาในการกีฬา”
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X