วันนี้ (18 พฤษภาคม) วันแรกของการเริ่มให้เรียนออนไลน์ และผ่านระบบโทรทัศน์ของนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล-อาชีวศึกษา
ปัญหาแรกที่พบตั้งแต่เช้าคือเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน DLTV ล่มเข้าไม่ได้
ขณะที่ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงว่า เพราะมีเด็กใช้อินเทอร์เน็ตเข้าเรียนมากกว่าที่ประเมินไว้
พร้อมมองในเชิงบวกว่ามีเด็กจำนวนมากกว่าที่คาดสามารถเรียนหนังสือผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยืนยัน เปิดเทอม 1 กรกฎาคมนี้ และการเรียนในห้องเรียนยังเป็นเป้าหมายหลัก แต่การเรียนผ่านออนไลน์และโทรทัศน์ช่วงนี้คือการทดลองระบบ หากเกิดสถานการณ์ที่ไม่สามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้ และย้ำว่าไม่ได้ผลักภาระให้ผู้ปกครองต้องซื้ออุปกรณ์สำหรับเรียนออนไลน์
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเรียนออนไลน์เกิดขึ้นกับเด็กฐานะไม่ค่อยดี ผู้ปกครองไม่มีเวลา และขาดแคลนอุปกรณ์
ครอบครัวหนึ่งในชุมชนย่านเขตพระนคร มีเด็กในบ้าน 4 คน เรียนคนละระดับชั้น แต่ทั้งบ้านมีโทรทัศน์เครื่องเดียวและไม่มีสมาร์ทโฟน
“ในบ้านมี 4 ป. ในโทรทัศน์มันเปิดเครื่องเดียวพร้อมกันไม่ได้ ในโทรศัพท์ก็ใช้ไม่ได้เพราะว่าไม่มีมือถือใช้ แล้วก็ในโทรทัศน์ไม่มีอินเทอร์เน็ต แล้วเรียนไม่รู้เรื่อง เพราะเรามีเด็กตั้ง 4 คน และไม่ได้เรียนระดับเดียวกัน” พี่คนโตสุดในบ้านกล่าว
ส่วนเด็กชั้นอนุบาล ต่อให้เข้าถึงอุปกรณ์ แต่สื่อการสอนที่มีก็ดึงดูดสมาธิเด็กไม่ได้เลย
ผู้ปกครองท่าหนึ่งเล่าว่า “ถ้าเรียนออนไลน์แล้วปล่อยให้เด็กอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์โดยที่เราไม่ได้นั่งข้างๆ บางทีอินเทอร์เน็ตหลุดบ้าง หรือเกิดผิดพลาดทางเทคนิค เราต้องคอยนั่งคุม เพราะถ้าหน้าจอมันหายไปเขาจะเอาโทรศัพท์มาเล่นทันที”
นอกจากปัญหาการเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนของรัฐบาลขาดประสิทธิภาพอย่างมากในการกระตุ้นการเรียนรู้
ครูยังยืนสอนแบบเดิมๆ แค่เปลี่ยนจากหน้าห้องเรียนมาพูดผ่านหน้าจอแทน
หากเทียบกับโรงเรียนเอกชน แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การเรียนการสอนของเอกชน ออกแบบมาอย่างเหมาะสมกับการเรียนแบบออนไลน์
มีแบบฝึกหัดให้ทำได้เลยผ่านระบบออนไลน์ ส่วนเนื้อหาการสอนก็ไม่ยาวยืดเยื้อ
นี่คือโลกคู่ขนานของการศึกษาไทยในการเรียนยุคโควิด-19
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum