×

อิ่มบุญ ไม่อิ่มท้อง เมื่อคนไทยไม่มีเงินกินเจ?

โดย THE STANDARD TEAM
20.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ราคาผักสดเพิ่มสูงขึ้น 50-215 เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลาสองสัปดาห์
  • กรมการค้าภายในย้ำต้องติดป้ายราคาอาหารให้ชัดเจน และถ้าพบร้านใดฉวยโอกาสขายอาหารในราคาที่แพงไม่สมเหตุสมผล ก็จะดำเนินการทันที
  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองกำลังซื้อคนไทยแผ่ว ไม่มั่นใจเศรษฐกิจ

     เทศกาลกินเจปีนี้บอกอะไรเราได้หลายอย่าง นอกจากเรื่องของราคาอาหารที่พุ่งสูงจนน่าตกใจที่เห็นจนชินตาทุกปีแล้ว ตัวเลขจากการสำรวจของสำนักวิจัยต่างๆ ยังสะท้อนภาพของกำลังซื้อที่ห่อเหี่ยวของคนในประเทศ และศรัทธาอาจไม่แรงกล้าเท่ากับกำลังเงินที่เหลือในกระเป๋าสตางค์

     หรือคนไทยจะไม่มีเงินกินเจที่ถือเป็น ‘ของแพง’ ในปีนี้?

     ตัวอย่างที่ชัดเจนของพลังกลไกตลาดก็คือ ช่วงเทศกาลต่างๆ ที่ความต้องการซื้อสินค้าบางรายการพุ่งสูงและทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมาก อย่างเช่นเทศกาลกินเจในช่วง 20-28 ตุลาคมนี้ เมื่อตรวจสอบราคาผักสด ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2560 จากเว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบการเปลี่ยนแปลงของราคาผัก 5 รายการหลักสำหรับประกอบอาหารเจยอดนิยม ดังนี้

 

 

     สำนักข่าว THE STANDARD ตรวจสอบราคาผัก 5 รายการได้แก่ ผักคะน้า ผักบุ้งจีน ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาวปลี และกะหล่ำดอก จะเห็นว่าราคาสินค้าชนิดเดียวกัน เปรียบเทียบช่วงต้นเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่เมื่อพิจารณาราคาช่วงต้นเดือนตุลาคม (วันที่ 1) และช่วงกลางเดือนก่อนเทศกาลกินเจจะเริ่ม (วันที่ 17) ซึ่งห่างกันเพียงสองสัปดาห์ ราคากลับเพิ่มสูงขึ้น 50-215 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนว่า ทำไมราคาอาหารเจที่ขายกันในตลาดถึงราคาสูง ทั้งที่เราเห็นว่ามีแต่ผักกับแป้งเท่านั้น แต่โจทย์สำคัญคงไม่ใช่ประเภทของวัตถุดิบว่าเป็นอะไร หากแต่ต้นทุนของมันเป็นเท่าไหร่

     สำนักข่าว THE STANDARD สอบถามไปที่อธิบดีกรมการค้าภายใน บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ซึ่งให้ข้อมูลว่า จะลงพื้นที่สำรวจราคาสินค้าที่ย่านตลาดสำโรงเป็นจุดแรก พร้อมกับ อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แม้ว่าอาหารเจจะไม่ใช่สินค้าที่มีกฎหมายควบคุมราคาบังคับชัดเจน แต่ผู้ประกอบการต้องติดป้ายราคาอาหารให้ชัดเจน และถ้าพบร้านใดฉวยโอกาสขายอาหารในราคาที่แพงไม่สมเหตุสมผล ก็จะดำเนินการทันที

     ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิยาลัยหอการค้าไทยที่ประเมินว่าตัวเลขของทั้งประเทศจะอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท ซึ่งขยายตัว 2.5 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2559 หากเปรียบเทียบมูลค่าของเงินสะพัดที่คาดการณ์จะพบว่าสูงที่สุดในรอบ 10 ปี ไม่นับรวมปี 2557 ที่มีเทศกาลกินเจสองรอบ ซึ่งจะเกิดขึ้น 1 ครั้งในรอบเกือบ 200 ปีเท่านั้น

 

 

     และเมื่อตรวจสอบตัวเลขคาดการณ์เงินสะพัดในเทศกาลกินเจของพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยตั้งแต่ช่วงปี 2556-2560 พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

 

 

     สิ่งที่ส่งสัญญาณชัดเจนจากเทศกาลกินเจ 2560 นี้คือ ‘กำลังซื้อ (purchasing power)’ ที่อ่อนแอ ในมุมของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แม้คาดการณ์มูลค่าเงินสะพัดจะสูงที่สุดในรอบ 10 ปี แต่อัตราการเติบโตเพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าโตต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกัน

     ส่วนตัวเลขที่พอจะสะท้อนการบริโภคของ ‘ชนชั้นกลาง’ อย่างในกรุงเทพมหานคร กลับพบว่าไม่เติบโตเลย และคาดว่าจะมีเงินสะพัดเท่าเดิม โดยศูนย์วิจัยกสิกรให้เหตุผลว่า คนกรุงเทพฯ กินเจลดลง แต่ตัวเลขก็ถูกชดเชยด้วยจำนวนมื้อที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างที่ตั้งใจจะกินให้ครบทุกวันมีมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยที่จูงใจให้กินเจ 3 อันดับแรกคือ

     อันดับ 1 ต้องการงดเว้นการรับประทานเนื้อสัตว์

     อันดับ 2 ต้องการกินผักเพื่อดูแลสุขภาพ

     อันดับ 3 ต้องการสร้างผลบุญถวายเป็นพระราชกุศล

 

     แม้จะมีปัจจัยใหม่ที่สำคัญซึ่งส่งผลต่อความเชื่อความศรัทธาในการเลือกถือศีลกินเจอย่างการถวายผลบุญเป็นพระราชกุศลในช่วงพระราชพิธีสำคัญ กลับไม่ทำให้ตัวเลขคาดการณ์ของเม็ดเงินที่จับจ่ายช่วงเทศกาลนี้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังชี้ภาพรวมกำลังซื้อของคนทั้งประเทศว่า ผู้คนยังระมัดระวังการจับจ่าย ไม่มั่นใจกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังมองว่าเปราะบาง

     แม้จะเป็นเพียงเทศกาลหนึ่งในรอบปี แต่ตัวเลขจากสำนักวิจัยด้านเศรษฐกิจทั้งสองแห่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวะปากท้องของคนไทยได้พอสมควร โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนวัตถุดิบสูง ทำให้ต้องขายสินค้าราคาสูงตาม นอกจากกำไรจะน้อย ลูกค้าก็ยังจำกัดงบประมาณอีกด้วย แม้จะอิ่มบุญแต่ถ้า ‘ไม่อิ่มท้อง’ ก็ยากที่จะนอนหลับและตื่นนอนด้วยความสดใสได้

 

ภาพประกอบ: Thiencharas.w

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X