×

พื้นที่ทับซ้อนที่คนดูต้องทำความเข้าใจ เพราะชีวิตจริงและในจอของนักแสดงไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

30.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เราอาจต้องลองเห็นใจ เข้าใจ และยอมรับพวกเขา และไม่ควรให้นักแสดงถูกตั้งโจทย์จากผู้ชมไปก่อนแล้วว่า หากต้องรับบทใดบทหนึ่ง มันต้องไม่ใช่บทบาทที่เริ่มต้นจาก ‘ชีวิตจริง’ ของพวกเขา แต่ควรจะยึดจากบทบาทที่เขา ‘ได้รับ’ เป็นหลัก อย่างเช่น พระเอกก็ต้องเป็นผู้ชาย จะมีข่าวว่าเป็นเกย์ไม่ได้ นางเอกก็ต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น จะเป็นเลสเบี้ยนไม่ได้ ซึ่งเราอาจต้องมานั่งทบทวนกันใหม่ดีๆ ว่ามันถูกต้อง และแฟร์กับอาชีพนักแสดงทุกคนแล้วหรือ

‘เป็นเศร้า พระเอกหล่อแอบคบหนุ่มไฮโซ…’

 

เราสงสัยจริงๆ ว่าทำไมรสนิยมทางเพศของนักแสดงถึงยังสามารถเอามาตีประเด็นเป็นข่าวได้อยู่ในยุคนี้ ยุคที่เราต่างควรเข้าใจว่าโลกนี้เป็นพื้นที่ของความหลากหลาย และเราต่างมองเห็นความหลากหลาย (Diversity) ของสังคมกันมากมายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ เชื้อชาติ ศาสนา

 

แต่ก็ยังสงสัยว่า การพาดหัวข่าวเกี่ยวกับคนสองคนจะคบกันมันเป็นเรื่อง ‘น่าเศร้า’ ขนาดนั้นเลยหรือ…เศร้าที่ทั้งสองคนเป็นเกย์อย่างนั้นน่ะหรือ…

เป็นความบังเอิญมากว่าเมื่อคืนที่ผ่านมา เราเพิ่งได้หยิบละครเรื่อง ‘เมืองมายา’ ที่เคยฉายทางช่อง 5 เมื่อ 20 ปีก่อนมาดูซ้ำอีกครั้ง ในช่วงต้นเรื่องเราได้รู้จักตัวละครอย่าง กานต์ (รับบทโดย ชาคริต แย้มนาม) และ ดา (รับบทโดย แหม่ม-คัทลียา แมคอินทอช) ฝ่ายชายเป็นนักแสดงหนุ่มสุดฮอตที่ผู้ชมทั้งประเทศหลงรัก ส่วนอีกฝ่ายก็เป็นนักแสดงหน้าใหม่ที่กำลังขึ้นหม้อ และค่ายเตรียมจะดันให้เป็นนางเอกใหม่ และเขาทั้งคู่เป็นคู่รักที่กำลังคบหาดูใจกัน

 

 

ภาพจากละครเรื่อง ‘เมืองมายา’ (2543)

 

แต่ต้นสังกัดกลับบอกว่าพวกเขาไม่สามารถบอกกับสื่อได้ว่าคบกัน ด้วยสภาพสังคมในเรื่องที่พร้อมใจจะเชิดชูกานต์ให้เป็นผู้ชายผู้เป็นที่รักของประชาชน ในฐานะนักแสดงดังคนหนึ่ง และบทสนทนาในฉากนั้นที่ว่า ‘ถ้าคนดูเขารู้ว่านักแสดงที่เขาชอบมีแฟนแล้ว เขาก็จะรู้สึกไม่มีสิทธิในตัวนักแสดงคนนั้น’ ก็ทำให้เราเห็นภาพของความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ผู้ชม’ และ ‘นักแสดง’ บนจอได้อย่างดี

 

ไม่รู้ว่าประโยค ‘ดารานักแสดงคือคนของประชาชน’ ก่อกำเนิดขึ้นมาเมื่อไร แต่เราก็ต้องมองหลายๆ แง่ว่า ประโยคดังกล่าวมันก็มีความเหมาะสม และความถูกต้องของมัน ถึงแม้พวกเขาจะทำมาหากินกับผู้ชม ตรงนั้นเราเข้าใจได้ แต่การจะให้ผู้ชมมีสิทธิทั้งหมดในชีวิตของนักแสดง สิ่งนี้เราว่ามันไม่แฟร์ เพราะอย่าลืมว่านักแสดงเหล่านั้นก็ประชาชนคนหนึ่งเหมือนกัน กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่เราอาจลืมไปว่า นักแสดงเขาต่างมีความรู้สึกในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน แต่ทำไมผู้ชมอย่างเราๆ ถึงอยากจะไปมีสิทธิอยู่เหนือความคิดของพวกเขาล่ะ 

 

สำหรับผู้ที่เสพงานบันเทิงไทยจะมีหนึ่งเรื่องที่เรามักจะทำโดยไม่รู้ตัว คือการเอาคาแรกเตอร์ของบทบาทนั้นๆ ที่นักแสดงได้รับไปผูกติดไว้กับตัวเขา กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่ผู้ชมกลุ่มหนึ่งมักไม่แยกแยะว่า นี่คือการแสดง หรือนี่คือชีวิตจริง

 

เช่น เห็นพระเอกอย่าง ป้อง-ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ ก็ต้องเล่นบทผู้ชายเจ้าชู้เท่านั้น พอเล่นเป็นผู้ชายรักเดียวใจเดียวแล้วไม่อิน หรือข่าวของนักแสดงอย่าง แมท-ภีรนีย์ คงไทย ที่กลายเป็นกระแสแอนตี้ละครของเธอ ก็เกิดขึ้นเพราะว่าข่าวเรื่องความรัก คอมเมนต์ประเภทพวก ‘ไม่อยากดูแมทแล้ว เพราะว่าไม่อินกับบทของเธอที่ต้องเป็นสาวสวยน่ารัก ไม่ใช่คนที่ยุ่งกับสามีชาวบ้าน’ ที่ฟังอย่างไรก็ดูไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกับละครที่เธอเล่นตรงไหน

 

 

“ไม่ควรให้นักแสดงถูกตั้งโจทย์จากผู้ชมไปก่อนแล้วว่า หากต้องรับบทใดบทหนึ่ง มันต้องไม่ใช่บทบาทที่เริ่มต้นจาก ‘ชีวิตจริง’ ของพวกเขา แต่ควรจะยึดจากบทบาทที่เขา ‘ได้รับ’ เป็นหลัก”

 

รวมถึงข่าวล่าสุดนี้ของ #พระเอกน้ำส้มสายชู ที่ถูกโยงไปที่นักแสดงอย่าง อิน-สาริน รณเกียรติ และมีคอมเมนต์ถึงตัวเขาว่า ‘พระเอกจะเป็นเกย์ไม่ได้’ เพราะเกย์ดูแลผู้หญิงไม่ได้ เกย์อ่อนแอและเป็นสาว เราว่าเป็นความคิดที่ใจแคบไปหน่อย

 

นี่เลยเป็นที่มาของคำว่า ‘ภาพลักษณ์’ หรือ ‘ติดภาพ’ และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าในยุคหนึ่ง ทำไมเราจึงได้เห็นนักแสดงหลายๆ คน รับงานแสดงแต่บทเดิมๆ เหมือนเป็นการสร้างแบรนด์ตัวเองให้แข็งแรง จำได้ว่านักแสดงคนนี้คือนางเอกเจ้าน้ำตา หรือพระเอกคนนี้คือพระเอกละครบู๊ เพื่อง่ายต่อการวางโพสิชันนักแสดงคนนั้นๆ ต่อการทำงาน สร้างฐานแฟน และสร้างตัวตนให้แข็งแรงเพื่อทำหน้าที่เป็นแม่เหล็กเรียกผู้ชมเข้าช่อง 

 

และการรักษาภาพลักษณ์คือกรอบหลักที่ทำให้ข่าวแบบนี้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเพื่อเหตุผลใดก็ตาม แต่สำหรับวงการบันเทิงไทย การทำให้ภาพลักษณ์ของดารา-นักแสดงคนหนึ่งเสียหาย มันคือความสั่นคลอนที่ค่อนข้างน่ากลัว สำหรับธุรกิจและตัวนักแสดงเองด้วย แต่เรื่องรสนิยมทางเพศก็ไม่สมควรถูกจัดอยู่ในหนึ่งหัวข้อของการรักษาภาพลักษณ์

 

สำหรับเราแล้วข่าวเรื่อง #พระเอกน้ำส้มสายชู เป็นอีกสถานการณ์หนึ่งในวงการบันเทิงไทยที่เราควรยกขึ้นมาเป็นบทเรียน เพราะถ้าหากในละครเรื่อง ‘เมืองมายา’ ที่เรากล่าวถึงนั้น เป็นภาพคู่รักดาราชาย-หญิง ที่ต้องปกปิดชีวิตรักของตัวเองให้เป็นความลับ เพราะกลัวจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ชม

 

 

“ในโลกตะวันตกมีนักแสดงที่เปิดเผยตัวว่าเป็น LGBTQ มากมาย และพวกเขาก็ยังสามารถแสดงบทบาทของ Straight ได้ โดยที่ไม่ต้องตัดสินจากรสนิยมทางเพศในชีวิตจริง ดูกันที่การแสดงล้วนๆ”

 

แล้วคุณลองนึกภาพถึงนักแสดงไทยที่เป็น LGBTQ ในปัจจุบันที่จำเป็นต้องปกปิดชีวิตของตัวเอง ไม่ใช่แค่ปัจจัยของการได้รับการสนับสนุนจากผู้ชมที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถมีชีวิตอย่าง Come out ได้ แต่ยังมีปัจจัยเรื่องรสนิยมทางเพศที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ที่อาจส่งผลกระทบกับงาน ภาพลักษณ์ และชื่อเสียง ที่ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมกันล่ะ ทำไม LGBTQ จะเป็นนักแสดงไม่ได้ ในโลกตะวันตกมีนักแสดงที่เปิดเผยตัวว่าเป็น LGBTQ มากมาย และพวกเขาก็ยังสามารถแสดงบทบาทของ Straight ได้ โดยที่ไม่ต้องตัดสินจากรสนิยมทางเพศในชีวิตจริง ดูกันที่การแสดงล้วนๆ

 

เราอาจต้องลองเห็นใจ เข้าใจ และยอมรับพวกเขา และไม่ควรให้นักแสดงถูกตั้งโจทย์จากผู้ชมไปก่อนแล้วว่า หากต้องรับบทใดบทหนึ่ง มันต้องไม่ใช่บทบาทที่เริ่มต้นจาก ‘ชีวิตจริง’ ของพวกเขา แต่ควรจะยึดจากบทบาทที่เขา ‘ได้รับ’ เป็นหลัก อย่างเช่น พระเอกก็ต้องเป็นผู้ชาย จะมีข่าวว่าเป็นเกย์ไม่ได้ นางเอกก็ต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น จะเป็นเลสเบี้ยนไม่ได้ ซึ่งเราอาจต้องมานั่งทบทวนกันใหม่ดีๆ ว่ามันถูกต้อง และแฟร์กับอาชีพนักแสดงทุกคนแล้วหรือ

 

มันไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่คุณจำเป็นจะต้องรู้ว่า อ๋อ ดาราคนนี้เป็นเกย์ ต่อให้เขาจะมีรสนิยมทางเพศแบบไหน มันไม่ใช่เรื่องของคนอื่นที่จะเข้าไปก้าวก่าย ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะไปชี้บอกเขาว่า ทำไมไม่บอกคนอื่นล่ะ ทำไมไม่เปิดตัว เชื่อเราว่าควรเก็บเรื่องบางเรื่องไว้ให้เป็นเรื่องส่วนตัวของพวกเขาบ้าง แยกแยะพื้นที่ทับซ้อนของนักแสดง เสพงาน และสนับสนุนนักแสดงที่คุณรักอย่างมีสติ

 

และเราอยากให้ทุกคนปฏิบัติต่อกันเยี่ยงมนุษย์ที่มีหัวจิตหัวใจ และความรู้สึกเหมือนๆ กันดีกว่า

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X