×

ฟุตบอล ‘บุนเดสลีกา’ ทำอย่างไรในการเตรียมพร้อมกลับมาแข่งก่อนลีกชาติอื่น

14.04.2020
  • LOADING...

1 เดือนแล้วนะครับ ที่เราไม่มีเกมฟุตบอลให้ได้ลุ้นและเชียร์กันเลย

 

สารภาพจากใจเลยว่า ในช่วงแรกผมแอบรู้สึกดีมาก เพราะตลอด 15 ปีที่ทำงานมา ไม่เคยมีสักครั้งที่จะได้อยู่ห่างจากเกมฟุตบอลได้ยาวนานขนาดนี้ เพราะในยามปกติ ต่อให้ฟุตบอลซึ่งแข่งขันกันยาวนานฤดูกาลละ 9-10 เดือน จบลง ในระหว่างพักฤดูกาล ก็จะมีทัวร์นาเมนต์หรือรายการต่างๆ ที่ต้องติดตามเสมอ

 

การได้ห่างจากกันบ้างเหมือนการดีท็อกซ์ เอาฟุตบอลออกจากร่างกาย จากที่ไม่เคยได้เข้านอนเร็วเลย ผมได้นอนเร็ว แถมนอนแบบเต็มอิ่มเป็นครั้งแรก สภาพร่างกายที่อ่อนล้าอิดโรยตลอดเวลาก็ค่อยๆ กลับมาแข็งแรงขึ้นตามลำดับ เรียกว่านอนกันจนตาใสเลยทีเดียว

 

แต่เหมือนที่เขาว่ากันไว้ครับว่า เราจะรู้ถึงคุณค่าของสิ่งใดก็ต่อเมื่อเรากำลังจะสูญเสียมันไป

 

ผมเองก็เพิ่งรู้ใจตัวเองเหมือนกันว่าคิดถึงเกมฟุตบอลมากแค่ไหน ก็เมื่อได้เห็นคลิปการออกกำลังกายด้วยการเล่นโยคะของนักเตะลิเวอร์พูล ซึ่งในคลิปได้เห็นภาพของเหล่านักเตะที่เราคุ้นเคยหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน รวมถึงการร้องเพลงอวยพรวันคล้ายวันเกิดของเพื่อนๆ ในทีม เรียกว่าดูไปก็อมยิ้มไป

 

ทว่า เมื่อคลิปวิดีโอจบลง หัวใจก็หล่นดังตุ้บ ขอบตาเริ่มชื้น มันเป็นช่วงเวลาที่เพิ่งรู้ตัวจริงๆ ว่าคิดถึงเกมฟุตบอลมากแค่ไหน

 

เชื่อว่าหลายคนก็ไม่แตกต่างกันครับ แม้กระทั่ง ‘เฮียโหน่ง วงศ์ทนง’ เองก็ยังอดแชร์คลิปวิดีโอฟุตบอลเก่าๆ (ซึ่งกลายเป็นกิจกรรมแก้เหงาที่ดีที่สุดสำหรับแฟนฟุตบอลเวลานี้) ด้วยทนคิดถึงแทบไม่ไหว

 

ณ เข็มนาฬิกาเดินไป ยังไม่มีใครตอบได้นะครับว่าเกมฟุตบอลจะกลับมาได้เมื่อไร

 

แต่ข่าวดีที่อยากจะหยิบมาฝากทุกคนในวันนี้คือ มี ‘สัญญาณ’ ดีที่เริ่มเห็นกันมากและชัดขึ้นเรื่อยๆ ครับ

 

ลีกที่มีแนวโน้มว่าจะกลับมาได้ไวที่สุดก่อนใครเพื่อนในเวลานี้คือ ‘บุนเดสลีกา’ เยอรมัน ซึ่งเป็นลีกเดียวที่นักฟุตบอลเริ่มกลับมาลงฝึกซ้อมได้แล้ว แม้ว่าในการซ้อมจะไม่ได้เป็นปกติเหมือนก่อนหน้านี้ก็ตาม

 

เพราะแม้จะกลับมาลงซ้อมได้ แต่ก็มีการออกแบบการซ้อมให้สอดคล้องกับแนวคิด Social Distancing รักษาระยะห่างเพื่อรักษาชีวิตของกันและกัน การซ้อมจึงจะเป็นในรูปแบบของการซ้อมแยกเป็นกลุ่มเล็ก และจะไม่มีการปะทะหรือโดนตัวกันในระหว่างนี้

 

เมื่อซ้อมเสร็จทุกคนสามารถใช้ห้องแต่งตัวได้ แต่จะแบ่งกันใช้ในระยะเวลาสั้นๆ ไม่มีการอาบน้ำที่สนามซ้อม เมื่อซ้อมจบ ทุกคนรีบเก็บข้าวของและขับรถกลับบ้านใครบ้านมันทันที

 

ฟังดูแปลกๆ อยู่ใช่ไหมครับ? แต่สำหรับนักฟุตบอลแล้ว แค่นี้ก็ดีใจมากแล้ว เหมือนที่ มาร์โก กรูยิช กองกลางของทีมแฮร์ธา เบอร์ลิน ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “การที่มีลูกฟุตบอลอยู่ที่เท้าของผมอีกครั้ง คือความรู้สึกที่ดีมาก มันเป็นก้าวเล็กๆ แต่ก็ดีกว่าได้อยู่ที่บ้านมาก”

 

ขณะที่ในภาพรวมแล้ว ทางด้านบุนเดสลีกามีแผนที่จะกลับมาแข่งขันให้ได้อีกครั้งภายในช่วงต้นเดือนหน้า

 

D-Day ที่หวังไว้คือวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ครับ และสิ่งที่จะเป็นตัวตัดสินใจคือ การตัดสินใจจากทางการว่าจะ ‘ไฟเขียว’ ให้กลับมาได้ไหม

 

นอกจากนี้คือ ‘ความรู้สึก’ ของสังคมว่า ถึงเวลาหรือยังที่ฟุตบอลจะกลับมาแข่งขันได้อีกครั้ง

 

ว่าแต่สงสัยกันไหมครับว่า บุนเดสลีกาทำไมจึงดูมีความพร้อมมากกว่าใครเพื่อน แล้วลีกอื่นเขามีแผนการอย่างไร เตรียมอะไรไปถึงไหนแล้ว

 

ต้องเล่าแบบนี้ก่อนครับว่า ในการที่จะกลับมาแข่งฟุตบอลให้ได้อีกครั้งในช่วงที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังดำเนินต่อไปนั้น มีสิ่งที่จำเป็นต้องทำหลักๆ อยู่ 

  1. สถานการณ์การระบาดในประเทศเป็นอย่างไร อยู่ในการควบคุมหรือไม่
  2. จะควบคุมบุคลากรที่จำเป็นสำหรับการจัดแข่งเกมฟุตบอลให้ปลอดเชื้อได้อย่างไร 
  3. สนามแข่งขันมีความพร้อมหรือไม่ บุคลากรเพียงพอหรือไม่

 

บรรยาย: นักเตะบาเยิร์น มิวนิกกลับมาลงซ้อมได้แบบห่างๆ อย่างห่วงๆ

 

สำหรับบุนเดสลีกา สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในเยอรมนียังไม่ยุติครับ แต่ต้องบอกว่า ระบบสาธารณสุขของพวกเขาดีกว่าชาติอื่นมาก ทำให้สามารถจำกัดการระบาดได้ดีมาก และสิ่งสำคัญคือ มีศักยภาพในการตรวจสอบหาผู้ติดเชื้อสูงมาก แถมยังสามารถรักษาผู้ป่วยให้หายกลับมาเป็นปกติได้ในสัดส่วนที่สูงและเร็วมาก

 

จากตัวเลขอ้างอิงบนหน้าเว็บไซต์ของ THE STANDARD เอง (ซึ่งดีมากเลยสำหรับการติดตามสถานการณ์ ขอแนะนำทุกคนเลยครับ) ในขณะที่เขียน เยอรมนีมีผู้ติดเชื้อสะสม 133,670 คน รักษาหายแล้ว 60,300 คน และมีผู้เสียชีวิต 3,022 คน (อัปเดตวันที่ 12 เมษายน 2563) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีกว่าชาติอื่นๆ โดยเฉพาะในหมู่ลีกท็อป 5 ของยุโรป อย่างอิตาลี, สเปน, ฝรั่งเศส และอังกฤษ มาก

 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ คริสเตียน ไซเฟิร์ต ประธานลีกฟุตบอลเยอรมัน (DFL) เชื่อว่า พวกเขามีโอกาสที่จะกลับมาแข่งฟุตบอลได้ต่อ และได้มีการจัดทำแนวทางในการปฏิบัติให้ทุกสโมสรได้ทำตาม

 

“ผู้คนเริ่มที่จะกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ทีละนิด และนั่นอาจหมายถึงการที่บุนเดสลีกาจะกลับมาแข่งได้อีกครั้ง” ไซเฟิร์ตให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ไว้กับ The New York Times

 

เรียกว่าโจทย์ข้อแรกเกือบผ่านแล้วครับ ที่เหลือคือนับจากนี้ไปจนถึงกำหนดการที่คาดไว้คือวันที่ 3 พฤษภาคม หากทุกอย่างดีขึ้นตามลำดับ ก็มีความหวังที่ทุกอย่างจะกลับมาได้ เพียงแต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความรู้สึกของผู้คนในประเทศด้วยว่ามัน ‘ใช่เวลาที่จะมาแข่งฟุตบอล’ หรือยัง

 

มาถึงโจทย์ข้อต่อมา ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุดคือ การที่จะทำให้มั่นใจได้อย่างไรว่านักฟุตบอล สตาฟฟ์โค้ช เจ้าหน้าที่สนาม เจ้าหน้าที่ถ่ายทอดสด แพทย์สนาม ไปจนถึงสื่อมวลชนทุกคน จะปลอดจากโควิด-19 จริงๆ

 

มีการประเมินไว้ครับว่า ในการแข่งฟุตบอลแต่ละนัดจะมีคนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายรวม 240 คน

 

เพราะถ้ามีใครสักคนติดเชื้อขึ้นมา ทุกอย่างที่เตรียมมาจะ ‘พัง’ ทันที

 

แต่เพราะความที่เยอรมนีเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์มาก ทำให้พวกเขาได้เปรียบชาติอื่นค่อนข้างมากครับ มีรายงานว่า ในเยอรมนีมีการทดสอบผู้ติดเชื้อราว 1 แสนคนต่อวัน 

 

อย่างไรก็ดี ทางด้าน DFL ยืนยันว่า บุนเดสลีกาจะไม่ ‘แย่ง’​ ทรัพยากรที่ล้ำค่าอย่างชุดทดสอบและอื่นๆ จากระบบสาธารณสุขที่ยังจำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ที่เป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุดที่ต้องได้รับการจัดสรรทรัพยากรนี้

 

จากนั้นคือ โจทย์ข้อ 3 คือเรื่องของสนามแข่งขันครับ และเป็นอีกจุดที่เยอรมนีแตกต่างจากชาติอื่น โดยเฉพาะอังกฤษ เพราะแผนการคือการแข่งในสนามเหย้าของแต่ละทีมตามปกติ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานการณ์เหมือนเข้าแคมป์ฟุตบอลโลกและแข่งในสนามเป็นกลาง แต่จะแข่งใน ‘สนามปิด’ เช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันปัญหาการระบาดซ้ำ

 

เรื่องนี้เหมือนง่ายแต่ไม่ง่ายครับ สิ่งสำคัญคือ การทำให้สถานที่และผู้คนปลอดเชื้อ แต่ก็จะย้อนกลับไปข้อ 2 ครับว่า พวกเขามีความพร้อมสูงกว่าชาติอื่น ดังนั้น เรื่องนี้จึงแนวคิดที่เป็นไปได้

 

อย่างไรก็ดี การจะกลับมาแข่งฟุตบอลอีกครั้งนั้นนำไปสู่คำถามเรื่องของความเหมาะสมที่จะทำให้ประเทศเผชิญกับความเสี่ยงอีกครั้งไม่ได้ครับ

 

ก่อนหน้านี้ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี เคยกล่าวว่า มันมีความเสี่ยงที่การตัดสินใจกลับมาแข่งฟุตบอลอีกครั้งจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำกันมาพังกันหมด

 

ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องทบทวนกันให้ดีและถ้วนถี่

 

แต่การกลับมาของฟุตบอลนั้นก็ไม่ได้มีแต่ข้อเสียครับ ข้อดีก็มี โดยเฉพาะในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกของคนในชาติ ความเจ็บป่วยทางจิตใจจากการที่ต้องอยู่ในความอึดอัด ขาดอิสรภาพ ความบันเทิงในชีวิตหลายอย่างหายไปนั้นประเมินค่าไม่ได้ครับ

 

การได้เห็นนักฟุตบอลกลับมาลงสนามอีกครั้งอาจเป็น ‘ประกายความหวัง’ เล็กๆ ที่ทำให้หัวใจของทุกคนเต้นแรงขึ้น ความมีชีวิตชีวาจะกลับมาอีกครั้ง และจะเป็นสัญญาณสำหรับการกลับมายืนหยัดอีกครั้งของมนุษย์ 

 

ความจริงผมเองไม่ชอบแนวคิดการแข่งในสนามปิดครับ (เคยเขียนไปก่อนหน้านี้แล้ว) แต่ในสถานการณ์นี้และความจำเป็นที่บีบบังคับ เพราะหากบุนเดสลีกาไม่กลับมาแข่ง ความเสียหายนั้นสูงไม่น้อยหน้าลีกอื่นครับ อยู่ที่ราว 812 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมันจะเป็นการทำลายอุตสาหกรรมฟุตบอลลงได้อย่างง่ายดาย จะมีสโมสรในระดับดิวิชัน 2 ครึ่งหนึ่งของ 18 ทีม ที่เสี่ยงต่อการ ‘ล้มละลาย’ เลยทีเดียว

 

ดังนั้น แม้มันจะเป็นฟุตบอลในแบบที่ไม่เหมือนเดิมก็ตาม ยามนี้แค่นี้ก็ดีมากแล้วครับ

 

แต่จะกลับมาได้จริงแบบที่คาดไหม รอความคืบหน้ากันอีกครั้งนะครับ ผมเชื่อว่า น่าจะต้องวัดใจกันจนถึงนาทีสุดท้ายเลยว่า มนุษย์เรากล้าพอจะกดปุ่มไฟเขียวไหม

 

รอด้วยความหวังและความคิดถึงเสมอครับ 🙂

 

บรรยาย: ฆาเบียร์ เตบาส ประธานลาลีกา 

 

ว่าแต่ลีกอื่นจะกลับมาได้เมื่อไร

หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วลีกอื่นจะกลับมาลงสนามได้อีกครั้งเมื่อไร นี่คือความคืบหน้าล่าสุดครับ

 

อังกฤษ: แผนล่าสุดที่มีการพูดถึงกันคือ การกลับมาในเดือนมิถุนายน (หวังไว้ที่วันที่ 6 มิถุนายน) โดยจะแข่งในสนามปิด และมีการเสนอให้ใช้ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติเซนต์จอร์จเป็นศูนย์ควบคุม (ทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องถูกทดสอบการติดเชื้อและต้องถูกกักตัวในที่นี้) จากนั้นคือใช้สนามเวมบลีย์และสนามในศูนย์ฝึกเพื่อแข่งขัน โดยอาจจะมีเกมมากถึงวันละ 4 คู่ แต่ยังไม่มีความชัดเจนมากนักในเวลานี้ เพราะมีปัญหาใหญ่คือ เรื่องชุดทดสอบที่ต้องให้ความสำคัญกับ NHS เป็นลำดับแรก

 

ฝรั่งเศส: L’Equipe รายงานว่า ลีกฟุตบอลฝรั่งเศส (LFP) หวังว่าจะกลับมาแข่งอีกครั้งภายในวันที่ 17 มิถุนายน และจะแข่งทุกๆ 3 วัน โดยยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะให้แข่งในสนามปิดหรือไม่

 

อิตาลี: เซเรีย อา ทางด้านประธานสหพันธ์ กาบริเอเล กราวินา หวังว่าจะผลักดันให้ลีกกลับมาแข่งอีกครั้งในสิ้นเดือนเมษายน โดยจะมีการประชุมสำคัญชี้ชะตาในวันที่ 15 เมษายน โดยคาดว่า จะมีการให้นักฟุตบอลและทุกคนทดสอบการติดเชื้อในเดือนพฤษภาคมก่อนที่จะกลับมาแข่งอีกครั้ง

 

สเปน: ฆาเบียร์ เตบาส ประธานลาลีกา เสนอ 3 ทางเลือก คือวันที่ 28 พฤษภาคม, วันที่ 6 มิถุนายน หรือวันที่ 28 มิถุนายนไปเลย แต่ทุกอย่างยังไม่มีความชัดเจน โดยก่อนนี้ เรอัล โซเซียดัด มีแผนจะกลับมาลงซ้อมเป็นทีมแรก แต่ถูกทางการขัดขวางไว้

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X