เมื่อวานนี้ (12 เมษายน) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีการตรวจพบรูโหว่รูใหม่บนชั้นโอนโซนบริเวณขั้วโลกเหนือ โดยวารสาร Nature ระบุว่า รูดังกล่าวมีขนาดใหญ่ประมาณ 3 เท่าของเกาะกรีนแลนด์ นับเป็นรูโหว่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบแถบอาร์กติก
ปกติแล้วชั้นโอโซนจะเป็นชั้นบรรยากาศที่ปกคลุมพื้นผิวโลก เพื่อป้องกันรังสีที่เป็นอันตรายจากดวงอาทิตย์ ซึ่งมนุษย์ได้เริ่มคิดค้นและใช้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอนในโรงงานอุตสาหกรรมและอุปกรณ์ทำความเย็นตั้งแต่ศตวรรษที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ชั้นของโอโซนบางลงและเกิดรูโหว่บนชั้นโอโซนได้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในโลก โดยเฉพาะอาจเพิ่มโอกาสการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังและโรคทางด้านสายตาได้ง่ายขึ้น
เริ่มมีการตรวจพบรูโหว่บนชั้นโอโซนตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดแถบแอนตาร์กติกหรือบริเวณขั้วโลกใต้ ผู้เชี่ยวชาญด้านชั้นบรรยากาศประจำ Institute in Potsdam ในเยอรมนีระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นผลมาจาก Polar Vortex หรือกระแสลมวนในเขตขั้วโลก เป็นกระแสลมที่พัดพาความหนาวเย็นมาปกคลุมทั่วพื้นที่รอบบริเวณมหาสมุทรอาร์กติก
โดยผู้แทนกว่า 197 ประเทศและดินแดนต่างร่วมลงนามรับรองพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนเมื่อปี 1987 เพื่อยุติการใช้สารประกอบคลอโรฟลูออโรคาร์บอนและปกป้องชั้นโอโซนของโลกจากการถูกทำลาย โดยเฉพาะจากก๊าซเรือนกระจก องค์การ NASA เคยระบุว่า การซ่อมแซมพื้นผิวและรูโหว่ของชั้นโอโซน รวมถึงการกำจัดให้สารประกอบดังกล่าวหมดไปจากชั้นบรรยากาศ อาจจำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานหลายทศวรรษ
ภาพ: NASA Ozone Watch
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://news.yahoo.com/largest-arctic-ozone-hole-ever-200926942.html
- https://www.fr24news.com/a/2020/04/largest-arctic-ozone-hole-ever-recorded-opens-above-north-pole.html
- https://www.cbsnews.com/news/largest-arctic-ozone-hole-ever-recorded-north-pole/