- สำนักงานศุลกากรและการป้องกันชายแดนสหรัฐฯ (CBP) และสำนักงานจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลสหรัฐฯ (FEMA) แถลงการณ์ร่วมระบุว่าจะเริ่มดำเนินการยึดสินค้าส่งออกในกลุ่มอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) เช่น หน้ากากอนามัย N95, เครื่องช่วยหายใจแบบฟอกอากาศ, หน้ากากอนามัยสำหรับการผ่าตัด, ถุงมือผ่าตัด และเครื่องช่วยหายใจประเภทอื่นๆ เพื่อสกัดกั้นการส่งออกอุปกรณ์การแพทย์ที่สำคัญไปยังต่างประเทศในภาวะการแพร่กระจายของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้สินค้ากลุ่มดังกล่าวอยู่ในภาวะขาดแคลน
- OPEC+ ใกล้บรรลุข้อตกลงลดกำลังการผลิต แต่น้อยกว่าที่คาด โดยในที่ประชุมฉุกเฉินของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร หรือ OPEC+ วานนี้ยังไม่มีแถลงการณ์ร่วมอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามสื่อต่างประเทศอย่าง Wall Street Journal, CNBC และ CNN รายงานข่าวโดยอ้างแหล่งข่าวว่า OPEC+ สามารถบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการลดกำลังการผลิตน้ำมันด้วยข้อกำหนด 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของกำลังการผลิตปัจจุบันในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2020 จากนั้นลด 8 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม 2020 และ 6 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2021 ซึ่งปริมาณดังกล่าวน้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดไว้ระดับ 20% หรือ 20 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อชดเชยกับอุปสงค์ที่ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความกังวลดังกล่าวสร้างแรงกดดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในคืนที่ผ่านมา
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเป็นวงเงิน 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ สำหรับการเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยได้ระบุเพิ่มเติมว่าโครงการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจโดยตรงมีวงเงินรวมที่ 6.5 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อป้องกันกรณีการผิดนัดชำระหนี้ให้น้อยที่สุด
- Fed ได้อนุญาตให้ธนาคาร Wells Fargo ปล่อยเงินกู้ให้กับธุรกิจขนาดเล็กได้เพิ่มเติมในโครงการ Paycheck Protection Program (PPP) และ Main Street Lending Program เท่านั้น เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
- วานนี้รัฐมนตรีคลังกลุ่มสหภาพยุโรปลงมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมกว่า 5 แสนล้านยูโร เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในยุโรป ซึ่งในส่วนของมาตรการนี้รวมไปถึงการให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำในกลุ่ม ESM และการชดเชยรายได้บางส่วน อย่างไรก็ตามความพยายามในการออก Euro Bond ยังคงไม่ผ่านที่ประชุม เนื่องจากยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันระหว่างยุโรปเหนือและใต้
ภาวะตลาดวานนี้
- แม้ว่าตัวเลขชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจะสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ แต่ภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นวงเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นจากแรงหนุนดังกล่าว สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นยุโรปที่ปรับตัวขึ้นเช่นกันจากความคาดหวังที่รัฐมนตรีคลังยุโรปสามารถบรรลุข้อตกลงมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจในวงเงินกว่า 5 แสนล้านยูโร
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง แม้ว่ากลุ่ม OPEC+ บรรลุข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตน้ำมัน 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอชดเชยกับดีมานด์น้ำมันที่ลดฮวบลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันในตลาดยังคงสูงอยู่ ด้านราคาทองคำปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ไม่ค่อยดีนัก ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน
สหรัฐฯ
- Dow 30 อยู่ที่ 23,719.37 เพิ่มขึ้น 285.8 (+1.22%)
- S&P 500 อยู่ที่ 2,789.82 เพิ่มขึ้น 39.84 (+1.45%)
- Nasdaq อยู่ที่ 8,153.58 เพิ่มขึ้น 62.67 (+0.77%)
ยุโรป
- DAX อยู่ที่ 10,564.74 เพิ่มขึ้น 231.85 (+2.24%)
- FTSE 100 อยู่ที่ 5,842.71 เพิ่มขึ้น 220.68 (+3.93%)
- Euro Stoxx 50 อยู่ที่ 2,892.79 เพิ่มขึ้น 41.52 (+1.46%)
- FTSE MIB อยู่ที่ 17,621.62 เพิ่มขึ้น 240.8 (+1.39%)
เอเชีย
- Nikkei 225 อยู่ที่ 19,345.77 ลดลง 7.47 (-0.04%)
- S&P/ASX 200 อยู่ที่ 5,387.3 เพิ่มขึ้น 180.4 (+3.46%)
- Shanghai อยู่ที่ 2,825.9 เพิ่มขึ้น 10.54 (+0.37%)
- SZSE Component อยู่ที่ 10,463.05 เพิ่มขึ้น 76.5 (+0.74%)
- China A50 อยู่ที่ 12,855.37 เพิ่มขึ้น 7.13 (+0.06%)
- Hang Seng อยู่ที่ 24,300.33 เพิ่มขึ้น 329.96 (+1.38%)
- Taiwan Weighted อยู่ที่ 10,119.43 ลดลง 18.04 (-0.18%)
- SET อยู่ที่ 1,210.48 เพิ่มขึ้น 4.71 (+0.39%)
- KOSPI อยู่ที่ 1,836.21 เพิ่มขึ้น 29.07 (+1.61%)
- IDX Composite อยู่ที่ 4,649.08 เพิ่มขึ้น 22.38 (+0.48%)
- BSE Sensex อยู่ที่ 31,159.62 เพิ่มขึ้น 1265.66 (+4.23%)
- PSEi Composite อยู่ที่ 5,510.83 ลดลง 0 (0%)
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 23.21 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 3.2 (-12.12%)
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ อยู่ที่ 31.82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 1.8 (-5.36%)
- ราคาทองคำ อยู่ที่ 1683.63 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้น 36.07 (+2.19%)
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- Infoquest
- Bloomberg
- Investing
- CNBC
- Reuters