*หมายเหตุ บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางตอนของ Kingdom ซีซัน 2 (ต้องขออภัยไว้ก่อนล่วงหน้า ถ้าคุณตั้งใจจะดูซีรีส์เรื่องนี้จนจบคงต้องข้ามบทความนี้ไปก่อนครับ)
การดู Kingdom ซีซันล่าสุดบีบคั้นหัวใจมากว่าระหว่างความเลือดข้นขององค์รัชทายาทอีชางกับความเลือดเย็นของมเหสีโจจะเผชิญหน้ากันอย่างไร ท่ามกลางการระบาดของซอมบี้ที่โหยหาเลือดคน
แต่การดูซีรีส์นี้ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้ผมอดนำมายกตัวอย่างประกอบไม่ได้
ไวรัสในร่างกายเหมือนซอมบี้ในพระราชวัง
ไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นสาเหตุของโควิด-19 จะอยู่ในละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะที่ผู้ป่วยไอจามออกมา เมื่อคนที่ยังไม่ป่วยสูดหายใจเข้าไป หรือนำมือที่เปื้อนละอองฯ มาสัมผัสตา จมูก ปาก ถ้าปริมาณไวรัสมากพอ เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกาย แต่เชื้อจะไม่ทำให้เกิดอาการในทันที
เหมือนภาพในซีรีส์ Kingdom ตอนท้ายๆ ของซีซัน 2 เมื่อถึงเวลาจวนตัว นางในของมเหสีโจได้ลงไปเปิดคุกใต้ดินให้ซอมบี้ที่ถูกขังไว้ออกมากัดกินตัวเอง เมื่อกลายเป็นซอมบี้แล้วก็จะวิ่งไปกัดกินนางใน (วิ่งสิครับ จะรออะไร) พ่อครัว เสนาบดี และทหารนายอื่นอย่างบ้าคลั่ง จาก 1 เป็น 2, จาก 2 เป็น 4, จาก 4 เป็น 8 จนเกิดการแพร่ระบาดของซอมบี้ทั่วพระราชวัง
ช่วงแรกที่ซอมบี้เริ่มระบาดจะยังไม่มีใครทราบ จนกระทั่งหมอหญิงซอบีสามารถหนีออกมาจากคุกได้ แล้ววิ่งไปบอกองค์รัชทายาทให้เตรียมตัว
เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการวินิจฉัยซอมบี้ เอ้ย! โควิด-19 จะเห็นได้ว่าขณะนี้มี 2 แบบที่แตกต่างกัน
ก่อนหน้านี้หากสงสัยว่าผู้ป่วยจะติดเชื้อ SARS-CoV-2 คือมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ + ประวัติเสี่ยง เช่น เดินทางกลับมาจากประเทศที่มีการระบาด หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย แพทย์ก็จะใช้ไม้พันสำลีจิ้มไปที่โพรงจมูกด้านหลัง และอีกด้ามป้ายไปที่คอเพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจหา ‘เชื้อไวรัส’
เหมือนกับที่ซอบีค้นพบพยาธิที่วางไข่บนสมุนไพรคืนชีพ
ซึ่งการตรวจแบบนี้จะต้องใช้ค่าใช้จ่ายมาก อย่างที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินว่าช่วงแรกมีราคาหลักหมื่นบาท แต่ช่วงหลังลดลงมาแล้วเหลือประมาณ 3,000-6,000 บาท และต้องใช้เวลาในการตรวจ ซึ่งกว่าผลการตรวจออกก็มักจะเป็นในอีก 1 วันถัดมา หรืออย่างเร็วสุดคือตรวจเช้า รู้ผลเย็น
แต่หลังจากที่มีการระบาด นักวิจัยได้เริ่มคิดค้นวิธีตรวจใหม่ให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น คือการตรวจหา ‘ภูมิคุ้มกัน’ หรือที่อาจได้ยินแพทย์บางคนพูดว่า Antibody (Anti – ต่อต้าน) ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ ภูมิคุ้มกันระยะสั้น (IgM) และภูมิคุ้มกันระยะยาว (IgG) (Ig ย่อมาจาก Immunoglobulin)
ภูมิคุ้มกันนี้เปรียบเสมือน ‘ทหาร’ ที่ออกมาต่อสู้กับซอมบี้
ทหารแบบ IgM หรือภูมิคุ้มกันระยะสั้นที่ไม่มีเวลาเตรียมตัวมากนัก เมื่อองค์รัชทายาทบอกให้จู่โจมที่หัวซอมบี้เสร็จแล้ว ซอมบี้ก็วิ่งพรวดเข้าหาเลย บ้างก็ตัดหัวซอมบี้สำเร็จ บ้างก็ถูกซอมบี้กัดหัว
ในขณะที่ทหารแบบ IgG หรือภูมิคุ้มกันระยะยาว จะต้องมีเวลาฝึกซ้อมเตรียมตัว เปรียบกับทหารของอาจารย์อันฮยอน (อาจารย์ขององค์รัชทายาท) ที่ต่อสู้กับซอมบี้ได้อย่างช่ำชอง เพราะมีประสบการณ์มาหลายสมรภูมิ
ดังนั้นถึงแม้การตรวจหาภูมิคุ้มกันจะใช้เวลาสั้นลง เพราะเป็นการตรวจจากเลือด และได้รับการพัฒนาให้เป็นชุดตรวจรวดเร็ว (Rapid Test) คือเจาะเลือดปุ๊บ อีก 15 นาทีก็รู้ผลปั๊บ แต่มีข้อจำกัดตรงที่ต้องตรวจในระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะช่วงแรกทหารที่จะเข้ามาช่วยต่อสู้ นั่นคือภูมิคุ้มกันของร่างกายยังมาไม่ถึง
เมื่อซอมบี้ระบาดทั่วพระราชวังไปแล้ว ทหารก็อาจมีจำนวนน้อยเกินไป ทำให้ยังตรวจไม่พบ แต่ถ้าทหารจัดการซอมบี้ได้หมดแล้วอย่างในตอนจบของเรื่อง ทหารทุกคนย่อมรู้จักซอมบี้เป็นอย่างดี
ดัดแปลงจาก Liming Bio
การแปลผลจึงต้องใช้ความระมัดระวัง
การตรวจหาเชื้อไวรัสทำได้ 2 วิธีคือ การตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยวิธี RT-PCR กับ Rapid NAAT จะเริ่มตรวจพบเชื้อหลังจากได้รับเชื้อแล้ว 3-5 วัน
ดังนั้นถ้าเพิ่งสัมผัสกับผู้ป่วยมา เช่น นั่งรถคันเดียวกับผู้ป่วยมาเมื่อวาน (1 วัน) อยากจะตรวจหาเชื้อวันนี้ก็จะไม่สามารถทำได้ และแพทย์จะไม่ตรวจให้ เนื่องจากถ้าผลออกมาเป็น ‘ลบ’ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะ ‘ไม่ติดเชื้อ’ เพราะอาจอยู่ในระยะฟักตัว (เหมือนซอมบี้เพิ่งกัดนางในคนแรกไป)
กรณีนี้แพทย์จะแนะนำให้แยกตัวและสังเกตอาการก่อน หากมีอาการผิดปกติจึงจะมาตรวจหาเชื้ออีกที ส่วนการตรวจหาภูมิคุ้มกันก็เป็นไปไม่ได้เลย เพราะในช่วง 5 วันแรก ร่างกายของเรายังไม่สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา
การตรวจหาภูมิคุ้มกันมีชุดตรวจอยู่ 2 แบบคือ แบบตรวจหาภูมิคุ้มกันรวม และแบบตรวจแยกว่าเป็นภูมิคุ้มกันแบบ IgM หรือ IgG ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าช่วง 8-14 วันหลังมีอาการจะสามารถตรวจพบ IgM (ช่วงนี้เชื้อไวรัสจะลดลงแล้ว) จากนั้นช่วง 15-21 วัน IgM จะลดลง และมี IgG เพิ่มขึ้นมาแทน
ดังนั้นการตรวจหาภูมิคุ้มกันในระยะแรก เช่น อยู่บ้านเดียวกันกับผู้ป่วย ผ่านมา 5 วันแล้ว แต่ยังไม่มีอาการ อยากตรวจด้วยชุดตรวจรวดเร็ว หากผลตรวจเป็น ‘ลบ’ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะ ‘ไม่ติดเชื้อ’ เพราะอาจอยู่ในช่วงสร้างภูมิคุ้มกันอยู่ (ทหารที่จะเข้ามาช่วยยังมาไม่ถึง)
ตรงกันข้าม ถ้าผลภูมิคุ้มกันเป็น ‘บวก’ หมายความว่าติดเชื้อแล้ว จะต้องวินิจฉัยต่ออีกว่า ‘หายป่วยแล้ว’ หรือ ‘กำลังป่วย’ อยู่อีกที โดยพิจารณาจากอาการและระยะเวลาที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่แน่ชัด อาจใช้ผล IgM และ IgG ที่แตกต่างกัน (เช่น IgM เป็นบวกแต่ IgG เป็นลบ แสดงว่าอาจกำลังติดเชื้อ) หรือส่งตรวจหาเชื้อไวรัสยืนยันผลอีกทีหนึ่ง
เพราะฉะนั้นการวินิจฉัยโควิด-19 ทั้งสองแบบมีทั้งข้อดีข้อเสีย และแต่ละแบบก็เหมาะสมกับระยะการดำเนินโรคแตกต่างกัน การแปลผล ‘บวก’ หรือ ‘ลบ’ จึงต้องใช้ความระมัดระวัง และต้องให้แพทย์ผู้ตรวจรักษาเป็นผู้ให้คำปรึกษาก่อนตรวจทุกครั้ง ย้ำว่าไม่ควรซื้อชุดตรวจทางอินเทอร์เน็ตมาตรวจเอง
ผมยกสถานการณ์การแพร่ระบาดของซอมบี้ในพระราชวังคยองบกกุงในซีรีส์ Kingdom ประกอบน่าจะทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น และหวังว่าเราทุกคนจะปลอดภัยนะครับ
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่ thestandard.co/coronavirus-coverage
และอัปเดตทุกความเคลื่อนไหวของโรคโควิด-19 ได้ที่ www.facebook.com/thestandardth
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/719
- Antibody responses to SARS-CoV-2 in patients of novel coronavirus disease 2019 https://doi.org/10.1101/2020.03.02.20030189
- Liming Bio http://www.limingbio.com/index.php?m=content&c=index&a=show&catid=18&id=112