วันนี้ (12 มีนาคม) วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวชี้แจงถึงการส่งออกหน้ากากอนามัย โดยชี้แจงว่าช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตอนนั้นหน้ากากอนามัยยังเป็นสินค้าทั่วไปและยังไม่เกิดภาวะวิกฤต โดยกรมการค้าภายในยังไม่ได้ไปควบคุมการนำเข้าหรือส่งออก แต่ทั้งนี้การใช้น้ำหนัก (ตัน) มานับจำนวนหน้ากากอนามัยก็ถือว่าผิดปกติแล้ว เพราะปกติยอดส่งออกจะพูดกันเป็นชิ้น
“ถ้าเป็นหน้ากากอนามัย 330 ตัน ถ้าคิดเป็นชิ้นแล้วก็ 80 กว่าล้านชิ้น ซึ่งถือว่าเยอะมาก แต่ข้อเท็จจริงคือที่ออกไปช่วงนั้น รหัสที่ออกไปผสมผสานหลายอย่างซึ่งไม่ควรจะนำมารวม” วิชัยกล่าว
วิชัยกล่าวด้วยว่า ถ้าพูดถึงการส่งออกหน้ากากอนามัย ต้องพูดให้ชัด เพราะหน้ากากอนามัยมีทั้งหมด 71 ชนิด แต่ที่รัฐบาลสงวนไว้ห้ามส่งออกคือหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ใช้ในประเทศไทย หรือ Surgical Mask นอกจากนี้ยังมีหน้ากากอีกหลายประเภทซึ่งไม่ได้ใช้ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการควบคุมสินค้าและบริการได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วยเจ้าหน้ากระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเชี่ยวชาญและตอบได้ว่าหน้ากากแบบไหนไม่ได้ใช้ในเมืองไทย เพื่อพิจารณาอนุมัติการส่งออกหน้ากากอนามัยโดยเฉพาะ รวมถึงได้กำหนดเงื่อนไขในการพิจารณาอนุมัติให้ส่งออกอีก 3 เงื่อนไข คือ 1. เป็นสินค้าที่มีคุณสมบัติเฉพาะใช้สำหรับบางภารกิจเท่านั้น 2. มีลิขสิทธิ์หรือโลโก้ และ 3. บางโรงงานที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้ผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น 100%
วิชัยยังได้เปิดเผยตัวเลขการขออนุมัติส่งออกหน้ากากอนามัย โดยมีผู้ส่งคำขอ 242 ราย จำนวน 53,612,906 ชิ้น
ได้รับการพิจารณาอนุญาตส่งออกเมื่อวันที่ 17-28 กุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 7 ราย รวม 12,742,051 ชิ้น ซึ่งในจำนวนนี้ยืนยันว่าไม่มีหน้ากากอนามัยแบบ Surgical Mask ที่ใช้ในประเทศไทย และที่อนุมัติให้ส่งออกล้วนเป็นหน้ากากอนามัยที่ไม่ใช้ในประเทศไทยทั้งหมด
นอกจากนี้วิชัยกล่าวด้วยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือให้โรงงานที่ผลิตหน้ากากอนามัยแบบชนิดที่ไม่ใช้ในประเทศเปลี่ยนสายการผลิตมาทำ Surgical Mask ที่ใช้ในประเทศไทย ทำให้สถานการณ์จากที่เคยผลิตหน้ากากอนามัยได้วันละ 1.2 ล้านชิ้น วันนี้เพิ่มเป็น 1.56 ล้านชิ้น
โดยจะให้กระทรวงสาธารณสุขกระจายให้บุคลากรทางการแพทย์จำนวน 800,000 ชิ้น ซึ่งจะกระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดโรงพยาบาลกรมการแพทย์ และโรงพยาบาลรัฐนอกสังกัดจำนวน 500,000 ชิ้น, สถานพยาบาลเอกชนจำนวน 115,000 ชิ้น สมาคมคลินิกไทยจำนวน 45,000 ชิ้น โรงพยาบาลสังกัดมาหาวิทยาลัยจำนวน 70,000 ชิ้น และสถานพยาบาลสังกัด กทม. จำนวน 70,000 ชิ้น
ส่วนกรมการค้าภายในจะกระจายให้ประชาชนจำนวน 760,000 ชิ้น โดยขายบรรจุแพ็ก 4 ชิ้น แพ็กละ 10 บาท ผ่านร้านธงฟ้าจำนวน 300,000 ชิ้น, เทสโก้ โลตัส (180 สาขา) จำนวน 100,000 ชิ้น, วิลล่า มาร์เก็ต (36 สาขา) จำนวน 60,000 ชิ้น และ ท็อปส์ (204 สาขา) จำนวน 100,000 ชิ้น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า