×

เจาะ Grab & Go เทรนด์มาแรงยุคผู้บริโภคเร่งรีบ และเบื้องหลัง Sizzler To Go ครั้งแรกที่ร้านถูกย่อส่วนมาตั้งบน BTS

11.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ในยุคที่เร่งรีบ ‘ผู้บริโภคยุคใหม่’ จึงมองหาทางเลือกของอาหารที่รวดเร็วและสะดวกสบาย เป็นที่มาที่ทำให้ Grab & Go เป็นสิ่งที่แบรนด์ใหญ่ๆ กำลังให้ความสนใจ ทว่าไม่ได้มีแค่เร็วเท่านั้น แต่พวกเขากำลังมองหา ‘อาหารเพื่อสุขภาพ’ ด้วย
  • Sizzler ซึ่งวาง Positioning ตัวเองเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ มองเห็นและต้องการนำตัวเองไปอยู่ในจุดนั้นให้ได้ โดยพบว่าช่วงเวลาที่ยังเข้าไม่ถึงผู้บริโภคคือ ‘มื้อเช้า’
  • กลายเป็นที่มาของ Sizzler To Go ร้านขนาดเล็กเพียง 2 ตารางเมตร เป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปีและครั้งแรกในโลกที่ร้านมีขนาดเล็กแบบนี้ ตัวร้านออกแบบใหม่ทั้งหมด และวางขายอาหารเพียง 3 เมนูคือ สลัด น้ำผลไม้สกัดเย็น และแซนด์วิช
  • ‘เกินความคาดหมาย’ คือสิ่งที่ Sizzler พบหลังจากเปิดร้านสาขาแรกไปในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยยอดขายมากกว่าที่ประเมินไว้ 40-50% และที่สำคัญปรากฏว่ามื้อเข้าไม่ใช่ช่วงที่ขายดีที่สุดอย่างที่ประเมินไว้ตอนแรกอีกด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้บริโภคยุคใหม่ยุ่งกว่าที่เคยเป็นมาก่อน พวกเขาพยายามดิ้นรนเพื่อหาเวลาสำหรับการทำงานที่วุ่นวายและการใช้ชีวิตส่วนตัวในแต่ละวัน แน่นอนว่าในท่ามกลางวิถีชีวิตที่วุ่นวายเช่นนี้ การจัดสรรเวลา 20 นาทีสำหรับการทำอาหารก็ดูจะเป็นเรื่องที่เสียเวลาเป็นอย่างมาก

 

ในยุคที่เร่งรีบ ผู้บริโภคยุคใหม่จึงมองหาทางเลือกของอาหารที่รวดเร็วและสะดวกสบายซึ่งสามารถรับประทานได้ในระหว่างเดินทาง หรือซื้อจากเส้นทางที่เดินไปทำงาน แน่นอนว่าอาหารเหล่านั้นหนีไม่พ้นอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารพร้อมรับประทานที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อต่างๆ 

 

แต่ด้วยเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรงทำให้ผู้บริโภคบางส่วนกำลังมองหาอาหารเพื่อสุขภาพเอง ซึ่งอาหารที่มีขายอยู่แล้วยังไม่ตอบโจทย์มากนัก จุดนี้เองเป็นสิ่งที่ Sizzler ซึ่งวาง Positioning ตัวเองเป็นอาหารเพื่อสุขภาพมองเห็นและต้องการนำตัวเองไปอยู่ในจุดนั้นให้ได้

 

 

‘มื้อเช้า’ คือโอกาส

กรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด (ซิซซ์เล่อร์) และนงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด (ซิซซ์เล่อร์) ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า Sizzler คือ Full-Service Restaurants ซึ่งใช้เวลาในการรับประทาน โอกาสขายจึงอยู่ในมื้อกลางวันและมื้อเย็น เหลือเพียง ‘มื้อเช้า’ ที่ยังเข้าไม่ถึงผู้บริโภค 

 

อย่างที่รู้กันว่าธุรกิจอาหารแข่งขันรุนแรงมากขึ้นทุกวัน และคู่แข่งก็ไม่ได้จำกัดแค่ร้านอาหารด้วยกันอีกต่อไป ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือการเดินเข้าไปหาผู้บริโภค แต่ด้วยความที่ร้านมักจะตั้งอยู่ในศูนย์การค้า การเข้าไปหาผู้บริโภคในมื้อเช้าจึงเป็นไปไม่ได้เลย 

 

Sizzler จึงมาศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค พบว่าช่วงเช้าเป็นเวลาหลักที่คนเดินทางไปเรียนหรือไปทำงาน การที่ Sizzler จะเจอกับผู้โภคบริโภคตั้งแต่ 6 โมงเช้าจึงต้องนำตัวเองไปในอยู่ในจุดคนเดินทางเยอะๆ นั่นคือสถานีรถไฟฟ้า จึงเป็นที่มาของ ‘Sizzler To Go’ 

 

(ขวา) กรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด (ซิซซ์เล่อร์)
(ซ้าย) นงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด (ซิซซ์เล่อร์)

 

ต้องทำให้แตกต่างมากที่สุด

Sizzler To Go เป็นโมเดลร้านแบบ Grab & Go เป็นหนึ่งในรูปแบบร้านที่ Sizzler สนใจมาพักใหญ่ๆ กว่าจะได้ทำจริง หากความท้าทายก่อนที่จะมาเป็น Sizzler To Go คือการที่ Sizzler เคยชินกับการเสิร์ฟอาหารของผู้บริโภคแบบเป็นจาน ตกแต่งสวยงาม และใช้เวลาในการรับประทาน

 

“พฤติกรรมของคนเดินทางเร่งรีบมาก มีเวลาตัดสินใจหลักวินาทีว่าจะซื้ออะไรไปกินเป็นมื้อเช้า ดังนั้นสินค้าที่ขายจึงต้องดึงดูดและเป็นอะไรที่เข้าใจง่าย ที่สำคัญราคาต้องสมเหตุสมผล ไม่ควรเกิน 100 บาท เพราะผู้ไม่บริโภคไม่ต้องการจ่ายในราคาที่สูงมากสำหรับอาหารมื้อเช้า”

 

หลังจากได้ไอเดียจึงถูกนำเข้าสู่กระบวนการทำงานแบบ Design Thinking เพื่อค้นหารูปแบบของร้าน ความต้องการของผู้บริโภค อาหารที่เหมาะสม ทำเลที่จะไปตั้ง และราคาที่จะวางขาย

 

เพราะแม้ Grab & Go จะดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับแบรนด์ใหญ่ที่ลงมาเล่นในสนามนี้ แต่คนไทยคุ้นชินกับการซื้ออาหารเช้าไปรับประทานที่ทำงานอยู่แล้ว ทั้งข้าวเหนียวหมูปิ้ง หรือข้าวกล่องต่างๆ ดังนั้นจึงต้องทำให้แตกต่างมากที่สุด

 

 

ครั้งแรกของร้านขนาด 2 ตารางเมตร

Sizzler To Go สาขาแรกตั้งอยู่บน BTS ศาลาแดง (บริเวณทางออก 4 ทางเข้าสีลมคอมเพล็กซ์) ที่เลือกที่นี่เพราะนอกจากจะมีทราฟฟิกเฉลี่ย 70,000-80,000 คนต่อวัน เฉพาะช่วงเช้าประมาณ 20,000 บาทต่อวัน และกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยทำงาน Sizzler ยังได้พื้นที่ร้านมาพอดิบพอดีด้วย

 

ตัวร้านได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมด โดยมีพื้นที่ขนาด 2 ตารางเมตร ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปีและครั้งแรกในโลกที่ร้านมีขนาดเล็กเท่านี้ โดยโทนสีได้ปรับให้อ่อนลง และตัวโลโก้ ‘Sizzler To Go’ ได้เปลี่ยนจากสีแดงและเขียวมาเป็นสีขาว เพื่อสื่อถึงความคลีนและแตกต่างจากร้านปกติ

 

เมนูที่ขายในร้านมี 3 เมนู ได้แก่ สลัด ราคา 99 บาท, น้ำผลไม้สกัดเย็น ราคา 95 บาท และแซนด์วิช ราคา 79 บาท 

 

“ทุกเมนูที่เลือกมาขายไม่หลุด Positioning ของแบรนด์ และเป็นอาหารที่เข้าใจง่าย อย่างเช่น แซนด์วิช ที่เราเลือกทำเพราะไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติก็รู้จัก ที่สำคัญยังควบคุมคุณภาพได้ง่าย”

 

 

ผลตอบรับเกินความคาดหมาย

Sizzler To Go เปิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นวันแรก ทั้งกรีฑากรและนงชนกบอกว่าเกินความคาดหมายเป็นอย่างมาก เพราะยอดขายมากกว่าที่ประเมินไว้ 40-50% ช่วงแรกของขาดนิดหน่อย เดิมตั้งใจจะเติมสินค้าแค่ 3 ครั้ง แต่ปรากฏว่าต้องเติม 5-6 ครั้ง แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือไม่ใช่ตอนเช้าที่ขายดีที่สุด

 

“เดิมเราเข้าใจว่ามื้อเช้าจะขายดีที่สุด เพราะอาหารที่ขายเหมาะกับการรับประทานในตอนเช้าหรือระหว่างวัน แต่ปรากฏว่าในช่วงเย็นกลับขายดีกว่าช่วงเช้า ซึ่งลูกค้ามักจะซื้อสลัดกลับไปรับประทานที่บ้าน ทำให้เราประเมินแล้วว่าต่อไปอาจจะต้องเพิ่มอาหารที่เหมาะกับมื้อเย็นมากขึ้น”

 

ขณะเดียวกันยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องปรับต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการให้ความรู้กับลูกค้าว่าน้ำผลไม้สกัดเย็นต้องอยู่ในตู้เย็น ไม่ควรวางไว้ข้างนอก เพราะอาจจะเสียได้

 

 

เบื้องต้น Sizzler วางแผนขยายโมเดล To Go โดยเริ่มจากสถานีรถไฟฟ้า แต่อาจจะไม่ทุกสถานี ก่อนมองหาโอกาสขยายไปยังโรงพยาบาลหรือสำนักงาน แต่ยังไม่ขอเปิดเผยว่าจะขยายไปอีกกี่สาขา บอกเพียงว่าภายในครึ่งปีแรกจะเห็นอีกแน่นอน

 

อย่างไรก็ตาม Sizzler To Go ไม่ได้เป็นเพียงโมเดลที่ทำให้ Sizzler สามารถเข้าไปอยู่กับผู้บริโภคในมื้อเช้าเท่านั้น

 

ทว่าเป้าหมายสำคัญที่ Sizzler ต้องการคือการเข้าไปอยู่ในบ้านของผู้บริโภค แม้การทำ ‘อาหารพร้อมรับประทาน’ (Ready to Eat) จะเป็นหนึ่งในหนทางที่ทำให้แบรนด์ไปปรากฏตัวในบ้านได้ แต่ต้องใช้เวลาในการศึกษา และต้องดูให้รอบด้านว่าเมนูใดจะเหมาะสม

 

หากวันนี้ฟอร์แมต To Go ทำให้ Sizzler ไปปรากฏตัวในบ้านผ่านสลัดที่ผู้บริโภคหิ้วกลับไปตอนเย็น

 

 

น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่า Sizzler จะงัดเมนูอะไรออกมาอีก เพื่อทำให้ตัวเองสามารถเข้าไปอยู่ในบ้านของผู้บริโภคได้มากกว่าที่เป็นอยู่

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X