- โควิด-19 สามารถป้องกันได้ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ โดยต้องฟอกอย่างน้อย 20 วินาที หากไม่มีสบู่และมือไม่เปื้อนเศษสิ่งสกปรก US CDC แนะนำให้ใช้เจลล้างมือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 60-95% ส่วนการทำความสะอาดพื้นผิวให้ใช้แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70%
- วันที่ 13 กันยายน 2562 กระทรวงสาธารณสุขเคยประกาศให้ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ (Alcohol-based hand sanitizer) เช่น โลชั่น ครีม เจล สเปรย์ เป็น ‘เครื่องมือแพทย์’ ซึ่งผลิตภัณฑ์จะต้องมีมาตรฐาน และผู้ผลิตต้องได้รับการรับรองคุณภาพ
- ในประกาศนี้ เจลล้างมือแอลกอฮอล์ต้องประกอบด้วยเอทิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอล (Ethanol), ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์หรือไอโซโพรพานอล (Isopropanol) หรือเอ็น-โพรพิวแอลกอฮอล์ หรือเอ็น-โพรพานอล (n-Propanol) รวมกันอย่างน้อย 70% โดยปริมาตร (v/v) หรือ 62.4% โดยน้ำหนัก (w/w)
- วันที่ 9 มีนาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเกี่ยวกับเจลล้างมือแอลกอฮอล์ 2 ฉบับ โดยฉบับแรกยกเลิกประกาศดังกล่าว และกำหนดให้เจลล้างมือแอลกอฮอล์เป็น ‘เครื่องสำอาง’ เหมือนเดิมแทน เพื่อแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์ฯ ขาดตลาดในระหว่างที่มีการระบาดของโควิด-19
- และอีกฉบับห้ามผลิต นำเข้า หรือขายเจลล้างมือแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นต่ำกว่า 70% เพื่อแก้ปัญหาเดิมของ ‘เครื่องสำอาง’ คือบางผลิตภัณฑ์ฯ อาจมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์น้อยกว่าที่กำหนด ทำให้ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ และมีผู้เข้าใจผิดนำไปใช้ตามสถานที่สาธารณะ เพื่อป้องกันโรคติดต่อต่างๆ
- ดังนั้นประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 2 ฉบับจึงเปรียบเสมือนการ ‘ปลดล็อก’ ให้มีการผลิตเจลล้างมือแอลกอฮอล์รองรับความต้องการของประชาชนมากขึ้น และเพื่อควบคุมคุณภาพของเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70% ซึ่งสามารถกำจัดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้
- ปัจจุบันมีเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือที่จดแจ้งกับ อย. ทั้งหมด 2,613 ตำรับ จากสถานที่ผลิต 766 แห่ง มีกำลังการผลิตวันละ 90 ตัน หรือประมาณ 2 แสนกระปุก แต่ประชาชนก็สามารถผลิตเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือเองได้ โดยใช้สูตรที่ อย. หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แนะนำ