ย้อนไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ในสหราชอาณาจักรมีการรวมตัวกันของคนไทย 2 กลุ่ม ที่จัดกิจกรรมทางการเมือง เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย
จุดแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ตามเวลาท้องถิ่น ที่ลานหน้าวิทยาลัยบูรพคดีศึกษา และการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน (SOAS) กรุงลอนดอน กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘ภาคีนักเรียนไทยในอังกฤษเพื่อประชาธิปไตย’ จัดกิจกรรม ‘Candlelight Vigil for Thailand: ไว้อาลัยให้ความยุติธรรม’ โดยมีการอ่านแถลงการณ์ที่มีใจความสำคัญเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ความเคารพในสิทธิและเสรีภาพแห่งการแสดงความคิดเห็น ความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย สังคมที่เปิดใจรับฟังกันและกัน ตลอดจนเรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังเสียงของประชาชน
แถลงการณ์ยังกล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจากการตีความข้อกฎหมาย ในกรณียุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคว่า ทำให้เกิดข้อกังวลต่อการถ่วงดุลของสถาบันที่ใช้อำนาจอธิปไตย และการลดทอนความหมายของคะแนนเสียงประชาชน
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น การชูสามนิ้ว ตะโกนขับไล่เผด็จการ หรือการเปิดแสงไฟจากโทรศัพท์พร้อมร่วมกันขับร้องเพลง Do you hear the people sing? ซึ่งเป็นเพลงที่มาจากละครเวที Les Misérables ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนในฝรั่งเศส
“แม้พวกเรากำลังศึกษาอยู่ในสหราชอาณาจักร แต่ไม่มีวันใดที่พวกเราละเลยต่อเหตุการณ์บ้านเมืองในประเทศไทย และมีความหวังสูงสุดที่จะนำความรู้ความสามารถกลับไปก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งมีความน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง หากสภาพของการเมืองไทยปิดกั้นโอกาสดังกล่าว ภาคีนักเรียนไทยในอังกฤษเพื่อประชาธิปไตย จึงอยากเห็นการเมืองไทยมุ่งสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ด้วยการเคารพเสียงประชาชนผ่านกลไกทางการเมืองอย่างโปร่งใส และเคารพเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็น
“นอกจากนี้พวกเรายังต้องการให้เกิดความยุติธรรมด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม กรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ครั้งนี้สะท้อนให้เราได้เห็นถึงปัญหาระบบโครงสร้างอำนาจประชาธิปไตยที่ล้มเหลว กดดันให้พวกเราต้องลุกขึ้นมาแสดงจุดยืน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ของกลุ่มดังกล่าวระบุ
ส่วนอีกหนึ่งจุดจัดขึ้นเมื่อบ่ายวันที่ 1 มีนาคม ตามเวลาท้องถิ่น บริเวณข้างวิหาร St Giles’ Cathedral ในเมืองเอดินบะระของสกอตแลนด์ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘THAI RISE in Scotland’ จัดกิจกรรม ‘We rise in THAI RISE – เจอกันเอดินฯ ถ้าไม่อินเผด็จการ’ โดยผู้ชุมนุมมีการกล่าวปราศรัยเล่าสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลที่เพิ่งผ่านพ้นไป เช่น ปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร (IO) และการเปิดประเด็นเรื่องมูลนิธิป่ารอยต่อฯ
นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังระบุถึงข้อกังวลที่พวกเขาระบุว่า มีความไม่เป็นประชาธิปไตยในประเทศ การใช้กฎหมายเพื่อกำจัดนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม การลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ฯลฯ และมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในลักษณะคล้ายกันกับกิจกรรมในกรุงลอนดอน
กิจกรรมทั้งสองจุดมีทั้งคนไทยเข้าร่วมจำนวนหนึ่ง ซึ่งมาจากทั้งเมืองที่ใช้จัดงานและเมืองใกล้เคียง ซึ่งมีทั้งนักเรียนไทยในสหราชอาณาจักร และกลุ่มคนไทยที่พำนักในสหราชอาณาจักร
นักศึกษาไทยในเมืองเอดินบะระที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 1 มีนาคม รายหนึ่ง ระบุว่า ตนได้เห็นการชุมนุมในประเทศไทยแล้วตนอยากไปร่วม และอยากแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อให้กำลังใจผู้ชุมนุมภายในประเทศ จึงตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งตนมีความกังวลและมองว่า มาตรฐานในการปฏิบัติต่อกลุ่มการเมืองในประเทศไม่เท่าเทียมกัน กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้ประเทศไม่เดินหน้า ตนอยากเห็นการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ทั้งผู้แทนในสภาฯ ใดๆ ก็ตาม จนถึงองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
“อยากเห็นประชาชนมีสิทธิมีเสียง ผู้บริหารประเทศรับฟังความคิดเห็นของประชาชน” เขาระบุปิดท้าย