- จับตาตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยวันนี้สหรัฐฯ มีกำหนดประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งคาดว่าจะประกาศออกมาที่ 1.75 แสนตำแหน่ง ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับตัวเลขอัตราการว่างงานที่ถูกคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 3.6% ซึ่งใกล้เคียงระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์
- BOE แถลงรอความแน่นอนก่อนลดอัตราดอกเบี้ย แอนดรูว์ เบลีย์ ว่าที่ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นไปได้ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมต่อจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ว่าจะยังคงรอดูความชัดเจนของผลกระทบจากการแพร่กระจายของโควิด-19 เสียก่อน ก่อนที่จะดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป
- OPEC เตรียมเดินหน้าลดกำลังการผลิต บิจาน ซานกาเนห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันอิหร่าน แถลงว่า OPEC มีมติเห็นชอบให้ลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีก 5 แสนบาร์เรลต่อวัน หลังจากร่วมประชุมที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ก่อนที่จะเตรียมเดินทางไปร่วมประชุมกับรัสเซีย ซึ่งยังคงสงวนท่าทีต่อการปรับลดกำลังการผลิตดังกล่าว โดยรัสเซียมีความเห็นว่าควรคงกำลังการผลิตระดับปัจจุบันไปจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 2
- วุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติเห็นชอบผ่านร่างงบประมาณฉุกเฉินจำนวน 8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยคะแนน 96 ต่อ 1 เสียง เพื่อดำเนินการอุดหนุนค่ารักษาโรค สนับสนุนการพัฒนาวัคซีน และการตรวจหาผู้ติดเชื้อ หลังจากที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งแตะ 129 คนในสหรัฐฯ และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 11 ราย โดยร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยัง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อให้ลงนามบังคับใช้ต่อไป
- ธนาคารโลกเตรียมลดคาดการณ์ GDP ไทยเซ่นโควิด-19 เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก เปิดเผยว่าธนาคารโลกเตรียมปรับลดประมาณการ GDP ไทย ปี 2563 จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.7% จากการแพร่กระจายของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวที่อาจหดตัวมากกว่า 50% อย่างไรก็ตามยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่ง เช่น หนี้สาธารณะในระดับที่ต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นบวก อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ และเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูง ซึ่งช่วยให้การดำเนินนโยบายการคลังสามารถเป็นไปได้อย่างยืดหยุ่น
สรุปภาพรวมตลาดวานนี้
- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปกลับมาเคลื่อนไหวในแดนลบอีกครั้ง หลังจากจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แคลิฟอร์เนียและลอสแอนเจลิสต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน สร้างแรงกดดันต่อบริษัทจดทะเบียนให้ออกมาปรับประมาณการยอดขายลดลง สอดคล้องกับการปรับขึ้นของราคาทองคำจากแรงเข้าซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยและการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์
- ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียยังคงปรับตัวบวกขึ้นตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปในคืนก่อนหน้า และความคาดหวังนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ควบคู่กับนโยบายการเงินที่คาดว่าจะดำเนินการต่อจากนี้
สหรัฐฯ
- Dow 30 ปิดที่ 26,121.28 ลดลง 969.58 (-3.58%)
- S&P 500 ปิดที่ 3,023.94 ลดลง 106.18 (-3.39%)
- Nasdaq ปิดที่ 8,738.6 ลดลง 279.49 (-3.1%)
ยุโรป
- DAX ปิดที่ 11,944.72 ลดลง 182.97 (-1.51%)
- FTSE 100 ปิดที่ 6,705.43 ลดลง 110.16 (-1.62%)
- Euro Stoxx 50 ปิดที่ 3,363.58 ลดลง 56.98 (-1.67%)
- FTSE MIB ปิดที่ 21,554.88 ลดลง 391.15 (-1.78%)
เอเชีย
- Nikkei 225 ปิดที่ 21,329.12 เพิ่มขึ้น 229.06 (+1.09%)
- S&P/ASX 200 ปิดที่ 6,395.7 เพิ่มขึ้น 70.3 (+1.11%)
- Shanghai ปิดที่ 3,071.68 ลดลง 0 (0%)
- SZSE Component ปิดที่ 11,711.37 เพิ่มขึ้น 218.35 (+1.9%)
- China A50 ปิดที่ 14,191.5 เพิ่มขึ้น 371.42 (+2.69%)
- Hang Seng ปิดที่ 26,767.87 เพิ่มขึ้น 545.8 (+2.08%)
- Taiwan Weighted ปิดที่ 11,514.82 เพิ่มขึ้น 122.47 (+1.08%)
- SET ปิดที่ 1,390.83 เพิ่มขึ้น 12.22 (+0.89%)
- KOSPI ปิดที่ 2,085.26 เพิ่มขึ้น 25.93 (+1.26%)
- IDX Composite ปิดที่ 5,638.13 ลดลง 12.01 (-0.21%)
- BSE Sensex ปิดที่ 38,470.61 เพิ่มขึ้น 61.13 (+0.16%)
- PSEi Composite ปิดที่ 6,884.77 เพิ่มขึ้น 17.51 (+0.25%)
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ 46.23 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 0.55 (-1.18%)
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปิดที่ 50.15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 0.98 (-1.92%)
- ราคาทองคำ ปิดที่ 1674.7 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้น 37.77 (+2.31%)
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- Infoquest
- Bloomberg
- Investing
- CNBC
- Reuters