ใครที่เป็นวัยรุ่นในยุค 90s คงจะคุ้นเคยกับการแข่งขันของสองค่ายเพลง ‘อาร์เอส-แกรมมี่’ ที่ขับเคี่ยวกันมาตลอด ต่างฝ่ายต่างมีศิลปินยอดนิยมที่มีฐานแฟนคลับและสร้างรายได้ให้กับทั้งสองบริษัทถล่มทลาย จนเมื่อเราผ่านยุค ‘เทปล้านตลับ’ มาไกลถึงยุคสตรีมมิงแล้ว ทั้งสองเจ้าก็ยังฟาดฟันกันต่อในธุรกิจสื่อ ในฐานะผู้ที่มีคอนเทนต์ที่แข็งแกร่งเป็นของตนเอง
ในปี 2556 แกรมมี่เปิดศึกชิงแพลตฟอร์มด้วยการทำตลาดกล่อง ‘จีเอ็มเอ็ม แซท’ และอาร์เอสก็งัดกล่อง ‘ซันบ็อกซ์’ มาสู้ แข่งขันดุเดือดขนาดที่ต่างฝ่ายต่างบล็อกคอนเทนต์ของฝ่ายตรงข้ามกันเลยทีเดียว จนมาถึงจุดแตกหักเมื่อทั้งสองค่ายกระโดดลงตลาด ‘ทีวีดิจิทัล’ ในปี 2557 พร้อมกับการเกิดของช่องโทรทัศน์หน้าใหม่กว่า 20 ช่อง ทุกฝ่ายต่างหวังผลกับสถานะการเป็น ‘ฟรีทีวี’ ซึ่งช่องอะนาล็อกในช่วงนั้นมีรายได้จากการโฆษณาหลายแสนบาทต่อนาที จึงไม่แปลกที่ทุกช่องต่างทุ่มสรรพกำลังในช่วงแรกเพื่อชิงฐานคนดู
มาถึงปี 2560 พอจะสรุปได้แล้วว่าธุรกิจทีวีดิจิทัลนั้นไม่สดใส และต่างก็ต้องปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจเพื่อหนีภาวะขาดทุนทั้งสิ้น
และนี่คือภาคต่อของการแข่งขันระหว่างอาร์เอสและแกรมมี่
อาร์เอสถอยสื่อ หันขายครีม-โฮมช้อปปิ้ง
หากค้นข้อมูลของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) จากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตอนนี้ เอกสารจะชี้แจงว่าเป็น ‘ธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์’ ที่ผลิตคอนเทนต์บันเทิงครบวงจร มีธุรกิจหลักคือธุรกิจสื่อและธุรกิจจัดจำหน่ายเพลงเหมือนกับที่เราเข้าใจกันมานาน
หากแต่ถ้าได้อ่านหรือฟัง เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานกรรมการของบริษัทแถลง จะพบว่าอาร์เอสกำลังเปลี่ยนประเภทธุรกิจที่ทำจากธุรกิจกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ไปเป็นธุรกิจพาณิชย์ตามโครงสร้างของรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไป
ในระยะหลัง ธุรกิจสุขภาพและความงามของอาร์เอสภายใต้ บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด มาแรงมากและทำยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำ เพียงครึ่งปีแรกของปี 2560 ที่ผ่านมา อาร์เอสขายครีม-อาหารเสริมไปได้ถึง 500 ล้านบาท ทะลุเป้าที่เดิมตั้งไว้ที่ 440 ล้านบาท นี่จึงเป็นความหวังสำคัญของอาร์เอสที่จะเดินหน้าผลักดันให้เป็นรายได้หลักขององค์กรในเร็ววัน
จากการคาดการณ์ผลประกอบการสิ้นปีนี้ รายได้จากธุรกิจใหม่จะมีมูลค่าเท่ากับรายได้จากธุรกิจสื่อที่เป็นรายได้หลัก ส่งผลให้เฮียฮ้อถึงกับประกาศว่า ปี 2561 สัดส่วนรายได้ของบริษัทไลฟ์สตาร์จะแซงหน้าเป็นธุรกิจหลัก โดยครองสัดส่วน 50% มูลค่าแตะ 2,400 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจสื่อจะคิดเป็น 40% และธุรกิจเพลงจะเหลือเพียง 10% เท่านั้น อาร์เอสจึงห่างไกลออกจากสถานะ ‘ค่ายเพลง’ ไปทุกที ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวเป็นระยะว่าธุรกิจเพลงอาจจะลดขนาดลงเหลือ 5% เท่านั้น แต่ทางผู้บริหารอาร์เอสก็ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้
นี่เป็นตัวอย่างของการขยายไปสู่ธุรกิจอื่น หรือการกระจายธุรกิจ (Business Diversification) ที่ชัดเจนตามธรรมชาติของโลกธุรกิจที่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ธุรกิจไหนที่ไม่ทำเงินก็ต้องลด ธุรกิจไหนที่มีศักยภาพ กำไรดี ก็ต้องเร่งเครื่องผลักดัน
ช่อง 8 เคยเป็นกล่องดวงใจของอาร์เอส
ถ้าย้อนไปดูข่าวในปี 2557 เมื่อวงการทีวีไทยระเบิดศึก ‘ทีวีดิจิทัล’ ใหม่ๆ ธุรกิจสื่อที่ถือเป็นกล่องดวงใจของอาร์เอสทำรายได้ในไตรมาส 2/2557 ได้ถึง 1,135 ล้านบาท เติบโตจากเดิม 150%
ด้วยปัจจัยหลักจากเงินค่าโฆษณาที่ไหลเข้า ‘ช่อง 8’ ที่ตอนนั้นได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเป็นไม้เด็ด และทำให้ชื่อของช่อง 8 เป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว แม้ต่อมาอาร์เอสต้องเจอดราม่าเรื่องข้อกำหนด must-have สำหรับการแข่งขันรอบสุดท้ายที่ฟ้องร้องเป็นคดีความถึงศาลปกครองสูงสุดก็ตาม ขณะที่ธุรกิจเพลงทำรายได้เป็นอันดับสองอยู่ที่ 150 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่องตามพฤติกรรมการฟังเพลงที่เปลี่ยนแปลงไป
อาร์เอสจึงดันช่อง 8 สุดตัวโดยใช้ละคร วาไรตี้ กีฬา และข่าว เพื่อเพิ่มฐานคนดู เหมือนกับช่องอื่นๆ ที่เน้นขายความบันเทิงและทำทุกหนทางเพื่อเรตติ้ง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเดียวสำหรับมีเดียเอเจนซีและองค์กรต่างๆ ที่จะเลือกซื้อโฆษณาสำหรับช่องทีวีนั้น เรตติ้งก็คือโอกาสในการทำเงินจากการขายโฆษณาที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ขององค์กรสื่อ
แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อต้นทุนของการทำสื่ออยู่ในระดับที่สูง แค่ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเพียงอย่างเดียวของอาร์เอสก็อยู่ที่ 2,265 ล้านบาท โดยจ่ายไปแล้ว 4 งวด (2557-2560) คิดเป็นเงินเกือบ 1,300 ล้านบาท
จากงบการเงิน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา หากลองเปรียบเทียบสัดส่วนรายได้จากแต่ละธุรกิจของอาร์เอส พบว่ารายได้ธุรกิจสื่อของอาร์เอสอยู่ที่ 1 พันล้านบาท ซึ่งนอกจากจะไม่ได้เพิ่มขึ้นจาก 3 ปีก่อนแล้วยังลดลงอีกด้วย โดยธุรกิจสื่อมีกำไรขั้นต้นประมาณ 140 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14% ของรายได้
ส่วนธุรกิจสุขภาพและความงามที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา พบว่าในไตรมาสที่ 2 ทำรายได้รวม 500 ล้านบาท มีกำไรขั้นต้นถึง 344 ล้านบาท หรือคิดเป็น 68% ของรายได้ สูงกว่าชนิดที่ธุรกิจสื่อทาบไม่ติด ที่สำคัญคือแนวโน้มธุรกิจขายครีมของอาร์เอสยังคงเติบโตต่อเนื่องตามเทรนด์ของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ไม่เคยตกด้วย ซึ่งถือว่าสวนกระแสกับตัวเลขรวมทั้งอุตสาหกรรมสื่อทุกประเภทของปี 2560 ที่สมาคมมีเดียเอเยนซีและธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทยออกมาประมาณการว่าจะหดตัวลงเหลือประมาณ 1 แสนล้านบาท หรืออาจจะต่ำกว่านั้น เนื่องจาก ‘เค้ก’ ก้อนเดิมของธุรกิจสื่อทั้งหลายไม่เพียงแต่มีตัวหารเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่กลับหดเล็กลง มีเพียงสื่อดิจิทัลและสื่อนอกบ้านที่ยังคงเติบโตได้
เฉพาะสื่อทีวีของอาร์เอสมี 1 ดิจิทัลทีวีคือช่อง 8 และอีก 4 ช่องดาวเทียม ได้แก่ ช่อง 2, สบายดีทีวี, เพลินทีวี และยูแชนแนล จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับการทำกำไรบนเงื่อนไขของค่าใบอนุญาตและต้นทุนการผลิตรายการที่มี
เป็นเรื่องธรรมดาของธุรกิจ ถ้าทำแล้วไม่กำไรก็เปล่าประโยชน์ที่จะทำ และไม่ว่าธุรกิจที่ทำจะใหญ่โตขนาดไหนก็ตามก็ต้องถูกวัดที่ ‘บรรทัดสุดท้าย’ (Bottom Line) อยู่ดี
อาร์เอสเตรียมย้ายจากกลุ่ม ‘สื่อ’ ไป ‘พาณิชย์’
จากสถานการณ์ของธุรกิจสื่อที่ซึมยาว ต้นทุนสูง และการเสียส่วนแบ่งให้กับสื่อดิจิทัลที่โตวันโตคืน จึงไม่แปลกที่วันนี้เฮียฮ้อจะบอกกับใครๆ ว่าหุ้นของอาร์เอสจะย้ายจากกลุ่มสื่อ (Media) ไปอยู่กลุ่มพาณิชย์ (Commercial) ในปี 2561 ตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะสัดส่วนรายได้จากการขายของจะมากกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ยังประกาศจะเปิดธุรกิจใหม่อีก 2 ตัวในปีหน้าด้วย จึงทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า หรือนี่จะเป็นการส่งสัญญาณ ‘ถอย’ จากธุรกิจสื่อของอาร์เอส และวันข้างหน้าอาจกลายเป็นแค่ธุรกิจสนับสนุนการขายสินค้าและบริการเหมือนกับที่บรรดาเจ้าสัวทั้งหลายเข้าซื้อหุ้นของทีวีดิจิทัลเพื่อใช้เป็นกระบอกเสียงให้กับสินค้าของตนมากกว่าคิดจะทำกำไรจากสื่อกันจริงๆ
แกรมมี่อ่วม ขายกิจการต่อเนื่อง หยุดขาดทุน
ในขณะที่เราเห็นอาร์เอสปรับตัว มองกลับมาที่คู่แข่งเดิมอย่างแกรมมี่บ้าง ซึ่งประกาศมาโดยตลอดว่ามีคอนเทนต์เป็นของตนเอง และจะสร้างความได้เปรียบเมื่อเทียบกับบรรดาผู้เล่นหน้าใหม่ของธุรกิจทีวี แต่ว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นับจากจุดสตาร์ทของทีวีดิจิทัล ธุรกิจของแกรมมี่กลับไม่สวย และเราก็เห็นการ ‘ตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต’ ของแกรมมี่เป็นระยะ ตั้งแต่การขายธุรกิจที่ไม่ทำกำไร เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ เพย์ทีวี หรือกระทั่งการขายหุ้นของ ‘อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ’ ออกไปก็ตาม
ปี 2557 แกรมมี่ถือว่า ‘เล่นใหญ่’ ด้วยการประมูลทีวีดิจิทัล 2 ช่องคือ ช่องวัน และช่องจีเอ็มเอ็ม 25 รวมเฉพาะค่าธรรมเนียมใบอนุญาตอยู่ที่ 5,610 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าอาร์เอสที่ประมูลช่อง 8 เพียงใบเดียวถึงเกือบ 3 เท่า แต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่เป็นอย่างที่วาดฝันเอาไว้ โดยสิ้นปีแกรมมี่ขาดทุนถึง 2,314 ล้านบาท
ขณะที่ปี 2558 แกรมมี่ยังขาดทุน 1,145 ล้านบาท
และปี 2559 ผลประกอบการยังไม่กลับเป็นบวก และยังขาดทุน 520 ล้านบาท
จะเรียกสถานการณ์ของแกรมมี่ว่า ‘เจ็บหนัก’ ก็คงไม่ผิดนัก ท้ายที่สุดจึงตัดสินใจขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับบรรดา ‘นายทุนใหญ่’ เพื่อหาเงินมาขับเคลื่อนธุรกิจต่อ ในปลายปี 2559 กลุ่มปราสาททองโอสถ เข้าซื้อหุ้น 50% จาก บริษัท วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจ ‘ช่องวัน’ ด้วยดีลเกือบ 2 พันล้านบาท และกลุ่มสิริวัฒนภักดี โดย บริษัท อเดลฟอส จำกัด เข้าซื้อหุ้น 50% ของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด ด้วยเม็ดเงิน 1 พันล้านบาท ซึ่งทำธุรกิจหลายตัว ประกอบด้วย ช่องจีเอ็มเอ็ม 25, ธุรกิจวิทยุ เอไทม์-มีเดีย และธุรกิจนำเที่ยว เอ-ไทม์ ทราเวิลเลอร์
หากดูข้อมูลจากงบการเงิน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 ของแกรมมี่จากเว็บของตลาดหลักทรัพย์ฯ โครงสร้างรายได้ของแกรมมี่ยังไม่ต่างจากเดิมมากนัก โดยรายได้หลักมาจากธุรกิจเพลง 1,636 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 671 ล้านบาท รองลงมาคือรายได้จากการซื้อขายสินค้าและบริการอื่นๆ 1,099 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงาน 368 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากธุรกิจสื่อเป็นอันดับ 3 ที่ 926 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงาน 342 ล้านบาท
เนื่องจากแกรมมี่ขายกิจการออกไปต่อเนื่อง จึงไม่สามารถเปรียบเทียบรายได้ระหว่างธุรกิจได้แบบหมัดต่อหมัด แต่สิ่งที่ชัดเจนคือแกรมมี่ก็ ‘ถอย’ จากธุรกิจสื่อเช่นเดียวกัน โดยปรับจากการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มกลับสู่การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ (Content Provider) อีกครั้ง แม้จะกลับไปจุดเดิมที่เคยก้าวมา แต่ก็ไม่ใช่โจทย์ที่ง่ายนักของแกรมมี่ ในยุคที่ทางเลือกของสื่อต่างๆ มีหลากหลายกว่าเดิมมาก รวมถึงบรรดาผู้ผลิตดิจิทัลคอนเทนต์ที่มีจำนวนมากและเติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบันสามารถทำรายการที่จับตลาดคนรุ่นใหม่ในต้นทุนที่น้อยกว่าแกรมมี่หลายเท่าตัว
บทสรุปการปรับตัวของ ‘แกรมมี่-อาร์เอส’ ที่ยังไม่จบ
เมื่อกลับมามองทั้ง ‘แกรมมี่-อาร์เอส’ ก็คงจะเห็นภาพของการแข่งขันในเวทีที่ต่างกันชัดขึ้นเรื่อยๆ ต้องยอมรับลีลาในเกมธุรกิจของเฮียฮ้อที่ปรับทัพของอาร์เอสได้คล่องตัวตามสไตล์การจัดการที่เบ็ดเสร็จ เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และค่อนข้างใจถึงที่ไม่ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ อย่างธุรกิจเพลง หาทางรอดใหม่ให้องค์กรมีสถานะ ‘กำไร’ ได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่แกรมมี่ แม้ขนาดของธุรกิจจะใหญ่กว่า แต่กลับเจ็บหนักจากการทำธุรกิจทีวีดิจิทัลที่แบกต้นทุนสูงเป็นเดิมพัน และปรับตัวได้ช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ที่พฤติกรรรมการดูละคร ฟังเพลง เสพข่าว ต่างออกไปจากเดิมมาก นี่ยังไม่นับคู่แข่งที่เป็นคอนเทนต์ต่างประเทศ ซึ่งบุกเข้ามาเต็มตัวผ่านแพลตฟอร์มมือถือแล้วด้วย
ภาพการเป็นคู่แข่งตลอดกาลของสองทั้งค่ายคงเป็นอดีตไปแล้ว อาร์เอสเปลี่ยนทิศทางหันไปขายของที่ทำกำไร มีฐานลูกค้าต่อยอดจากสื่อที่ยังมีอยู่ในมือ ขณะที่แกรมมี่ยังคงขายของเดิมแบบที่เคยขาย ไม่มีอาวุธใหม่ และ ‘หน้าร้าน’ ที่เคยมีก็ใช้ได้ไม่เต็มที่อีกต่อไป
อย่างไรก็ดี เกมนี้คงยังไม่จบง่ายๆ และไม่มีใครบอกได้ว่าจะจบเมื่อไร จบแบบไหน คงต้องรอดูกันต่อไปว่าอนาคตของ ‘อดีตสองค่ายเพลงยักษ์ใหญ่เมืองไทย’ จะเป็นอย่างไร
อ้างอิง:
- rs-th.listedcompany.com/news.html/id/604694/group/newsroom_press_th
- www.bangkokbiznews.com/news/detail/771597
- www.bangkokbiznews.com/news/detail/770064
- www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=GRAMMY&ssoPageId=5&language=th&country=TH
- www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=RS&ssoPageId=5&language=th&country=TH