เป็นประจำทุกปีที่ ‘ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย)’ ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียล จะจัดงานที่นำเสนอข้อมูล และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโลกโซเชียลมีเดียของไทยในปีที่ผ่านมา
สำหรับการจัดงานครั้งที่ 8 ภายใต้คอนเซปต์ SHIFT: Make it SHIFT กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้สรุปสิ่งที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียของไทยในปี 2019 ออกมาเป็น 5 ปรากฏการณ์ดังนี้
1.ผู้ใช้ไม่โต แต่คุยกันมากขึ้น
ตัวเลขผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาทุกปีกลับหยุดนิ่งในปีนี้ โดยอยู่ที่ 74% จากประชากรทั้งประเทศ เช่นเดียวกับปี 2018 ที่อยู่ในตัวเลขนี้เช่นเดียวกัน กลับกันสถิติจำนวนข้อความบนโลกโซเชียลสูงถึง 7.2 พันล้านข้อความ สูงขึ้นจากปีก่อนถึง 36% ซึ่งมีจำนวนข้อความอยู่ที่ 5.3 พันล้านข้อความ
2.แบรนด์คุยกับลูกค้ามากกว่า 2 แพลตฟอร์ม
เมื่อคนไทยหันมาใช้ชีวิตในโลกออกไลน์มากขึ้น หากแบรนด์อยากคุยกับลูกค้าก็ต้องตามเข้ามาในนี้ จากการเก็บข้อมูล 1,399 แบรนด์ พบว่า 84% ของแบรนด์ใช้โซเชียลมีเดียตั้งแต่ 2 แพลตฟอร์มขึ้นไปในการสื่อสารกับผู้บริโภค เพื่อให้สามารถสื่อสารได้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
3.ค้นสูตรวัดความสำเร็จบนโซเชียลมีเดีย
แม้แบรนด์หันมาใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น แต่อย่างที่รู้กันว่าการทำคอนเทนต์ไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะแต่ละแพลตฟอร์มการโพสต์ ข้อความ รูป ไม่สามารถใช้คอนเทนต์เดียวกันได้ หากแบรนด์ก็ยังอยากรู้อยู่ดีว่า จะมีอะไรมาเป็นตัววัดผลเพื่อชี้ว่า คอนเทนต์ที่ทำประสบความสำเร็จ
จากการเก็บข้อมูลของข้อความทั้งหมด 8.5 แสนข้อความที่แบรนด์โพตส์บนโซเชียลมีเดีย ไวซ์ไซท์ได้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาค่ากลาง โดยใช้ชื่อว่า P90 หมายถึงการมี Engagement หรือการมีส่วนร่วมของข้อความมากกว่า 90% ของที่แบรนด์ทั้งหมดโพสต์ในโซเชียลมีเดีย
สำหรับค่ากลางบน Facebook อยู่ที่ 1,297 Engagements, Twitter 201 Engagements และ Instagram 938 Engagements ส่วน YouTube จะนับจากยอด โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 630,480 วิว ถึงจะถือว่าคลิปนั้นมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม แต่ละอุตสาหกรรมจะมีค่ากลางที่ไม่เหมือนกัน กล้า ยกตัวอย่างในตลาดขนมขบเคี้ยว และข้อความค่ากลางบน Facebook อยู่ที่ 3,100 Engagements, Twitter 2,919 Engagements, Instagram 1,169 Engagements และ YouTube 5,457,921 วิว
ขณะที่อุตสาหกรรมโรงพยาบาลค่ากลางบน Facebook อยู่ที่ 284 Engagements, Twitter 316 Engagements, Instagram 82 Engagements และ YouTube 5,984 วิว
4.อินฟลูเอนเซอร์ไม่ได้จำกัดตัวเองแค่หมวดเดียว
‘อินฟลูเอนเซอร์’ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาดที่แบรนด์ให้ความสนใจและใช้มากขึ้น แต่จากการเก็บข้อมูลพบว่า อินฟลูเอนเซอร์มีการเปลี่ยนแปลงการนำเสนอเนื้อหา โดยจะเห็นว่าหลายๆ คนมีเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่หมวดหมู่ที่ถูกกำหนดไว้
โดยมากกว่า 97% ของอินฟลูเอนเซอร์ มีการนำเสนอเนื้อหาข้ามหมวดหมู่ตั้งแต่ 2 หมวดขึ้นไป เช่น อินฟลูเอนเซอร์หมวดความสวยงามเริ่มหันมานำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือออกกำลังกายมากขึ้น
โดยการนำเสนอดังกล่าวยังคงได้รับความนิยมสูงจากผู้ติดตาม รวมถึงกระจายเนื้อหาไปได้ในวงกว้างมากขึ้น ทำให้การวัดผลที่ผ่านมาอาจจะไม่สะท้อนความสามารถที่แท้จริงของอินฟลูเอนเซอร์อีกต่อไป
5.‘เพลงลูกทุ่ง’ เครื่องมือใหม่ที่โตเร็ว โตแรง
‘เพลงลูกทุ่ง’ กำลังเป็นเครื่องมือการตลาดที่น่าจับตามอง เพราะโตเร็วและโตแรง โดยหากนำเพลงที่มียอดวิวมากที่สุดใน YouTube จำนวน 20 เพลงมาเรียงกัน จะพบว่า 12 เพลงในนี้คือเพลงลูกทุ่ง
เมื่อนำ Performance มาเทียบกับเพลงประเภทอื่นๆ เพลงลูกทุ่งมี Performance มากกว่า 12% ที่สำคัญหากศิลปินคนไหนมาทำเพลงร่วมกับศิลปินลูกทุ่ง จะมียอดวิวเพิ่มกว่า 480% ดังนั้น เพลงลูกทุ่งจึงเหมาะกับแบรนด์ที่ต้องการเข้าถึงลูกค้าระดับแมสที่อยู่ทั่วประเทศ
“ในปีนี้สิ่งที่แบรนด์ควรจะต้องให้ความสำคัญคือ การฟังเสียงของลูกค้าเพื่อรู้ให้ทันโลก และสามารถปรับตัวได้ทันกับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น รวมถึงต้องมองภาพรวมให้รอบด้าน เพื่อประเมินสถานการณ์และคู่แข่ง สุดท้ายคือควรเลือกใช้เครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประหยัดเวลาในการทำงาน และวางแผนรับมือได้อย่างทันท่วงที”
อย่างไรก็ตาม บนโลกโซเชียลมีเดียไม่ได้สวยงามเสนอไป การเก็บข้อมูลของไวซ์ไซท์พบว่า มีข้อความ 1.2 แสนข้อความที่พูดถึงการพนันและซื้อบริการพนัน มีข้อความ 7.75 แสนข้อความที่เป็นข้อความ Bully กัน
แต่ที่น่าตกใจคือ มีข้อความ 1.3 ล้านข้อความที่พูดถึงการขายบริการทางเพศ ซึ่งบางข้อความเปิดเผยราคา กล้าระบุว่า พร้อมให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลเหล่านี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์