×

BBC ไหวไหม? สื่อ 100 ปีจะรอดหรือร่วงในทศวรรษหน้า เมื่อต้องเผชิญวิกฤตหนักหนาที่สุดในประวัติศาสตร์

โดย THE STANDARD TEAM
18.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • BBC หรือ British Broadcasting Corporation เป็นสื่อหลักสัญชาติอังกฤษอายุ 98 ปี ซึ่งมีบทบาทสำคัญทั้งในและนอกประเทศ ปัญหาคือวันนี้ BBC กำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน จนทำให้ถูกจับตาว่าสื่อเก่าแก่อย่าง BBC จะอยู่รอดปลอดภัยโดยที่ยังยิ่งใหญ่ได้หรือไม่ในทศวรรษหน้า
  • ที่ผ่านมา BBC ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ และค่าธรรมเนียมการชมรายการจากเจ้าของโทรทัศน์ทุกคนในอังกฤษ แต่เวลานี้รัฐบาลอังกฤษกำลังมัดมือให้ BBC ปฏิรูปสถานีเป็นบริการสมัครสมาชิกสไตล์ Netflix โดยแทนที่ BBC จะรอรับค่าธรรมเนียมใบอนุญาตอย่างที่เคย รัฐบาลจะตัดงบอุดหนุนส่วนนี้ทิ้งไปเพื่อให้ BBC หารายได้ด้วยบริการสมัครสมาชิก 
  • ขณะเดียวกันก็จะบีบให้ BBC ขายสถานีวิทยุจากที่มีทั้งหมด 61 แห่ง รวมถึงการลดจำนวนสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของ BBC ซึ่งมี 10 ช่องในขณะนี้ รวมถึงการลดเนื้อหาในเว็บไซต์ของ BBC และการปรับโครงสร้างการลงทุนในอนาคต
  • การปฏิรูปนี้ควรจะเป็นเรื่องดี แต่หลายฝ่ายมองว่า BBC กำลังเผชิญวิกฤตหนักหนาที่สุดในประวัติศาสตร์ บนเกมการเมืองอังกฤษที่ไม่เคยร้อนระอุเช่นนี้มาก่อน 
  • ฝ่ายที่เชียร์ BBC นั้นมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ BBC เป็นสงครามตัดการเข้าถึงข้อมูล ไม่ให้คนอังกฤษได้รับข่าวคุณภาพ ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่คุณลุง BBC ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่ผู้คนเลือกชมบริการสตรีมมิงวิดีโอ และดูทีวีน้อยลง

ช่วงสัปดาห์ที่โลกกำลังหวานกับเทศกาลวาเลนไทน์ วงการสื่อแดนผู้ดีอังกฤษร้อนระอุทันทีที่รัฐบาลสหราชอาณาจักร นำโดยนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ประกาศแผนตรวจสอบเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวี (TV License Fee) ที่อาจนำไปสู่การยกเลิกในอนาคต

 

ผู้ที่ได้รับผลโดยตรงหาก License Fee ถูกยกเลิกคือ BBC เพราะค่าธรรมเนียม TV License Fee เป็นภาษีที่ผู้ชมชาวอังกฤษทุกคนถูกบังคับให้จ่ายเพื่อระดมเงินหลายพันล้านปอนด์ต่อปี เพื่อเป็นทุนในการสร้างและเขียนข่าว สารคดี รวมถึงรายการวิทยาศาสตร์และความบันเทิงของ BBC

 

เดวิด คลีเมนติ (David Clementi) ประธาน BBC ยืนยันว่าแม้จะยินดีให้ข้อมูล และอภิปรายเกี่ยวกับการระดมทุนในอนาคตของ BBC แต่รายการ BBC ที่หลายคนชื่นชอบจะถูกตั้งเป็นเดิมพัน โดยย้ำระหว่างการปราศรัยที่สำนักงานของ BBC ใกล้แมนเชสเตอร์ว่า 

 

“BBC เป็นสินทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่ของประเทศ การลดทอน BBC ลงจะทำให้สหราชอาณาจักรอ่อนแอลงได้”

 

 

อาจเป็นเรื่องของการเมือง?

การบีบให้ BBC ปฏิรูปถูกมองเป็นเกมการเมือง เพราะการตรวจสอบค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนี้เกิดขึ้นหลังจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งทั้ง 2 พรรคการเมืองแกนนำรัฐบาลอังกฤษไม่ปลื้มหนังสือพิมพ์ของ BBC เป็นทุนเดิม ยังมีความสัมพันธ์ร้าวฉานระหว่างนายกรัฐมนตรีจอห์นสันกับสื่ออังกฤษ ซึ่ง BBC เป็นหนึ่งในนั้น

 

การกดดัน BBC ที่จะเริ่มต้นในปีนี้ คือ BBC ต้องรับผิดชอบค่า Free TV License มูลค่าประมาณ 250 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท สำหรับคนสูงวัยที่มีอายุมากกว่า 75 ปี 

 

เม็ดเงินที่หดหายไปกลายเป็นคำถาม ซึ่งทำให้การระดมทุนในอนาคตดูยากขึ้น ในยุคที่ BBC ต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม จากคู่แข่งวงการดิจิทัลระดับโลกเช่น Netflix, Amazon และ YouTube ของ Google

 

BBC ควรเข้าใจโลกยุคใหม่

ที่ผ่านมา 75% ของงบประมาณ BBC นั้นมาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาต TV License Fee มูลค่า 3,690 ล้านปอนด์ ราว 1.5 แสนล้านบาท โดยส่วนที่เหลือ BBC มีรายได้จากข้อตกลงใบอนุญาตหลายดีลที่ BBC ทำไว้ และการขายลิขสิทธิ์รายการเชิงพาณิชย์นอกสหราชอาณาจักร

 

สำหรับ TV License Fee นั้น ทุกครัวเรือนในสหราชอาณาจักรที่รับชมการถ่ายทอดสดบนแพลตฟอร์มใดๆ จะต้องจ่ายเงิน 154.50 ปอนด์ต่อปี (ราว 700 บาท) ผู้ที่ไม่ชำระจะถูกดำเนินคดีและมีค่าปรับตามมา 

 

 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการเก็บค่า TV License Fee พบว่ามีสัดส่วนลดลงมากกว่า 200,000 ครัวเรือนเมื่อปีที่ผ่านมา สะท้อนว่ามีประชาชนลงมือทำเรื่อง ขอไม่ชำระค่า TV License Fee มากขึ้น เพราะไม่ต้องการรับชมรายการจากทีวีมากขึ้น

 

ประเด็นนี้ นิกกี้ มอร์แกน (Nicky Morgan) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล วัฒนธรรมสื่อ และการกีฬาของอังกฤษ กล่าวว่าเด็กยุคนี้รู้จักชื่อ Netflix และ YouTube มากกว่า BBC 

 

ปรากฏการณ์นี้ควรเป็นสิ่งที่เปิดตา BBC ให้เข้าใจโลกที่เปลี่ยนไป และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีการเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน

 

‘ค่าธรรมเนียม’ เป็นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อให้ข่าวเป็นอิสระ

BBC นั้นเริ่มต้นให้บริการตั้งแต่ปี 1922 ในฐานะผู้ให้บริการวิทยุ มากกว่า 20 ปีถัดมา จึงเริ่มคิดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายการโทรทัศน์ในปี 1946 ซึ่งเป็นช่วงที่รายการโทรทัศน์ถูกนำกลับมาผลิตอีกครั้งหลังจากระงับไประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงรายการวิทยุชื่อดัง World Service ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1932 

 

เบ็ดเสร็จแล้วเนื้อหาของ BBC ถูกเปิดชมและฟังโดยผู้ชมมากกว่า 426 ล้านคนทั่วโลกทุกสัปดาห์ ขณะที่เว็บไซต์ bbc.com กลายเป็น 1 ในแหล่งข่าวดิจิทัลชั้นนำของโลก

 

 

ที่ผ่านมา BBC แสดงจุดยืนเรื่องการระดมทุนผ่านค่าธรรมเนียม TV License Fee โดยกล่าวว่าค่าธรรมเนียมเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าข่าวจะเป็นอิสระ ยุติธรรม และมีประสิทธิภาพ 

 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ BBC ถูกมองว่าต้องปรับตัวเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศ ซึ่ง BBC โฉมใหม่อาจจะแจ้งเกิดได้ในปี 2022 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งของ BBC

 

BBC ไม่ควรแข่งกับ Netflix

เมื่องบประมาณถูกหั่นทิ้ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับ BBC คือการลดปริมาณเนื้อหาที่บริษัทผลิตได้ ทำให้เชื่อว่าโลกจะได้เห็นเนื้อหาการนำเสนอที่เปลี่ยนไปของ BBC 

 

ประเด็นนี้ทำให้ฝ่ายที่เชียร์ BBC มองว่าสื่อคุณธรรมอย่าง BBC ไม่ควรลงแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ในระบบดิจิทัลอย่าง Netflix เพราะหากทำเช่นนั้น พลเมืองอังกฤษจะไม่สามารถเข้าถึงรายการที่ถูกสร้างมาเพื่อคนในชาติโดยเฉพาะ

 

 

ล่าสุดคือปลายมกราคม 2020 สื่อใหญ่ BBC News ประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่โดยเตรียมปลดพนักงาน 450 คนทั่วโลก เพื่อเป้าหมายการประหยัดต้นทุน 80 ล้านปอนด์ หรือ 3.2 พันล้านบาท ภายในปี 2022 

 

โดยบอกว่าการปลดพนักงานครั้งนี้เป็นเพราะการปรับตัวตามพฤติกรรมการรับชมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ทำให้ BBC จำเป็นต้องปรับรูปแบบของ BBC News ในทศวรรษหน้า เพื่อประหยัดเงินและทรัพยากร และเพิ่มการลงทุนให้มากขึ้นในเรื่องธุรกิจดิจิทัล

 

ความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานกับรัฐบาล

เวลานี้ยังเป็นช่วงที่ BBC ไม่กินเส้นกับรัฐบาลแดนผู้ดีอย่างหนัก เห็นได้ชัดตั้งแต่ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง นายกฯ จอห์นสันปฏิเสธหนึ่งในพิธีกรสัมภาษณ์ข่าวดังของ BBC 

 

ความสัมพันธ์ยิ่งร้าวรุนแรงขึ้นหลังจาก BBC ตัดสินใจไม่แพร่ภาพนายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์ในวันที่ ‘Brexit’ มีผลเต็มตัว โดยให้เหตุผลว่าเพราะรัฐบาลยืนยันที่จะเผยแพร่ผ่านวิดีโอบนโซเชียล แทนที่จะปล่อยให้ผู้แพร่ภาพกระจายเสียงอย่าง BBC เป็นผู้ถ่ายทำ

 

บรรยายใต้ภาพ: บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ

 

นอกจากนี้ยังมีการคว่ำบาตรรายการข่าววิทยุช่วงเช้าของ BBC และบรรณาธิการการเมืองของ BBC ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มนักข่าวที่เดินออกจากการบรรยายสรุปผลงานรัฐบาล ผลคือมีผู้สื่อข่าวบางรายถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าร่วม ทั้งหมดนี้ทำให้ BBC ถูกมองว่ากำลังถูกประกาศสงครามครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

 

หากมองข้ามเกมการเมือง คำถามใหญ่จากกรณีนี้คือสิ่งที่โลกต้องการจากการแพร่ภาพทีวีสาธารณะในช่วง 20 ปีข้างหน้าคืออะไร เพราะนาทีนี้ มีการยกย่องว่าไม่มีสื่อใดในโลกที่มีเนื้อหาครอบคลุมมากเท่ากับ BBC ไม่ว่าจะเป็นรายการบันเทิงทางโทรทัศน์ รายการวิทยุ ไปจนถึงสารคดี

 

ที่สุดแล้ว หลายคนเชื่อว่า BBC จะไม่ตายง่ายๆ และจะอยู่รอดได้ในอนาคต แต่จะอยู่รอดได้เรื่องใดบ้างนั้น ยังไม่มีใครแน่ใจในตอนนี้

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง: 

 

FYI
  • 91% ของคนอังกฤษ กลุ่มอายุ 20 ปีขึ้นไปชมเนื้อหาจาก BBC ทุกสัปดาห์
  • เนื้อหาของ BBC สามารถเข้าถึงผู้ชม 426 ล้านคนทั่วโลก
  • 75% ของงบประมาณ BBC มาจากค่าธรรมเนียม License Fee
  • BBC ได้รับเงิน 3,690 ล้านปอนด์ หรือ 1.5 หมื่นล้านบาท จากค่าธรรมเนียม License Fee ช่วงเดือนเมษายน 2018 ถึงเมษายน 2019
  • BBC ใช้จ่ายเงินสร้างเนื้อหาราว 2,860 ล้านปอนด์ หรือ 1.16 หมื่นล้านบาท ช่วงเดือนเมษายน 2018 ถึงเมษายน 2019
  • BBC มีพนักงานมากกว่า 22,000 คนใน 75 สำนักงานทั่วโลก

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X