×

ภัยแล้งในไทยยังน่าเป็นห่วง หลังพบปริมาณน้ำใช้การได้แค่ 39% ลดลงกว่าปี 62 มาก

05.02.2020
  • LOADING...

นอกเหนือจากภาวะการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้ว สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของไทยตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงวิกฤตไม่แพ้กัน

 

ล่าสุดวันนี้ (5 กุมภาพันธ์) ข้อมูลจากกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แสดงให้เห็นปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปัจจุบันภาพรวมอยู่ที่ 43,940 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 58% แต่เป็นปริมาตรน้ำใช้การได้เพียง 20,158 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 39% และหากเทียบกับปีที่ผ่านมา จะพบว่าน้อยกว่าปี 2562 จำนวน 9,909 ล้านลูกบาศก์เมตรเลยทีเดียว (เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ผ่านมาจะพบว่าปริมาณน้ำลดลงอย่างรวดเร็วถึง 4%)

 

โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังน้ำน้อยในเขื่อนจำนวน 16 แห่ง ประกอบด้วย ภูมิพล, สิริกิติ์, แม่กวงอุดมธารา, แม่มอก, จุฬาภรณ์, อุบลรัตน์, ลำพระเพลิง, มูลบน, ลำแชะ, ลำนางรอง, ป่าสักชลสิทธิ์, ทับเสลา, กระเสียว, คลองสียัด, บางพระหนองปลาไหล และประแสร์

 

ทางด้าน มณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่าปัจจุบันหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้บูรณาการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ 

 

โดยในส่วนของการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นได้ร่วมกับจังหวัดและท้องถิ่นระดมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมด้วยเครื่องจักรกลจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 นครราชสีมา และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตใกล้เคียง เข้าประจำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเพื่อส่งน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่เข้าระบบผลิตประปาและเติมน้ำในถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ 

 

ขณะเดียวกันปัจจุบันมีจังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, พะเยา, น่าน, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, เพชรบูรณ์, หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม, สกลนคร, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, นครสวรรค์, อุทัยธานี, ชัยนาท, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี และฉะเชิงเทรา รวม 116 อำเภอ 621 ตำบล 5,297 หมู่บ้าน 

 

ทั้งนี้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต หรือทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X