ตามหมายกำหนดการเยือนสหรัฐอเมริกาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ วันนี้ (5 ต.ค.) เป็นวันที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางถึงประเทศไทยในเวลา 21.55 น.
นอกจากภาพการพบกันอย่างชื่นมื่นระหว่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และผู้นำของไทยในทำเนียบขาวที่เผยแพร่ออกไปทั่วโลกแล้ว ในทริปเดียวกันนี้เอง นายกรัฐมนตรียังเปิดเผยความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อผู้นำสหรัฐฯ ในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่จัดโดยสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน และสภาหอการค้าสหรัฐอเมริกาว่า
“วันที่ผมได้พบกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้พูดแหย่เหมือนคนคุ้นเคยกัน รู้ว่าท่านเป็นคนจริงใจ พูดจาสุภาพกับผม ครั้งแรกที่พบท่านคือตอนที่พูดคุยโทรศัพท์กัน ท่านพูดด้วยวาจาที่ไพเราะ ทำให้รู้สึกได้ว่าผมจะได้พบเพื่อนของผมอีกคน แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมมาครั้งนี้เพราะท่านได้แสดงให้เห็นถึงความจริงใจ แล้วมีอะไรท่านก็พูดกับผม”
ถือเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าทริปนี้น่าจะจบลงด้วยความแฮปปี้ ท่ามกลางข้อกังขาของคนในประเทศที่ตั้งคำถามหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ก่อนนายกฯ จะกลับไทยว่า สรุปแล้วการไปเยือนสหรัฐอเมริกาตามคำเชิญของทำเนียบขาวคราวนี้ ประเทศไทยได้อะไรบ้าง?
การยอมรับจากทรัมป์จึงไม่ได้มีความหมายในการให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารหรือผลงานของรัฐบาล
ภาพลักษณ์ใหม่รัฐบาล คสช. สิ่งที่ประยุทธ์หวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
ในมุมมองของ ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์ทางทหาร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินว่าการเยือนทำเนียบขาวของพลเอกประยุทธ์ครั้งนี้ สิ่งที่ได้แน่ๆ คือภาพลักษณ์ใหม่ของรัฐบาล คสช. โดยเฉพาะภาพลักษณ์ส่วนบุคคลของนายกรัฐมนตรี
“ในบริบทของรัฐบาล การได้เห็นรัฐบาลทหารสามารถเดินทางไปเยือนหนึ่งในประเทศที่สำคัญของโลกตะวันตกอย่างสหรัฐฯ ผมคิดว่าผู้นำไทยได้ภาพลักษณ์ใหม่แน่นอน เพราะเป็นการพาตัวเองออกไปสู่เวทีใหญ่ระดับโลก เป็นสัญญาณเพื่อจะบอกโลกเหมือนกันว่า อย่างน้อยรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจที่กรุงเทพฯ ก็ได้รับสัญญาณบวกจากสหรัฐฯ ในระดับหนึ่ง”
ขณะที่หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเปิดทำเนียบขาวต้อนรับผู้นำไทยครั้งนี้ โดยเฉพาะนางซาราห์ ซูวัล อดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายความมั่นคงพลเรือน ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ในสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา ที่วิจารณ์การต้อนรับครั้งนี้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะในอดีต ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แทบไม่เคยเปิดทำเนียบขาวต้อนรับผู้นำจากการรัฐประหาร ต่างจากยุคของทรัมป์ที่ต้อนรับผู้นำอำนาจนิยมตั้งแต่อียิปต์ ตุรกี ฟิลิปปินส์ จนมาถึงไทย พร้อมตั้งคำถามต่อรัฐบาลทรัมป์ว่า “สหรัฐอเมริกายังคงให้ค่ากับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในต่างแดนหรือไม่”
เช่นเดียวกับ ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองว่าหลังกลับจากไทย สิ่งที่พลเอกประยุทธ์จะสามารถนำมาอ้างกับประชาชนในประเทศได้คือการยอมรับจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ แต่หากพิจารณาให้ดีคือ มาตรฐานการยอมรับที่ทรัมป์กับโอบามาใช้ก็ต่างกัน สิ่งที่ได้จึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
“ดังนั้นการยอมรับจากทรัมป์จึงไม่ได้มีความหมายในการให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารหรือผลงานของรัฐบาล เพราะทรัมป์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ ทรัมป์ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เท่านั้น”
แม้ภาพลักษณ์ใหม่ที่ได้จะมาพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการถูกลดทอนความสำคัญ แต่ ศ.ดร.สุรชาติ กลับมองว่าประเด็นนี้คงต้องมองกันยาวๆ เพราะอาจมีผลต่อเนื่องที่จะทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยในระยะยาวต่อไป
“เราคงตอบไม่ได้ว่าในระยะยาว ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลเยือนวอชิงตันแล้วมันจะนำไปสู่อะไรที่มากกว่านี้ในอนาคตหรือไม่ สัญญาณที่ส่งออกมาจากสหรัฐฯ อาจเป็นการส่งสัญญาณให้ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะชาติตะวันตกให้ดำเนินนโยบายในลักษณะที่คล้ายคลึงกันหรือไม่”
ตีความง่ายๆ คือการเยือนสหรัฐฯ รอบนี้อาจเป็นการเปิดประตูสู่การยอมรับของประเทศอื่นๆ ที่เคยมีท่าทีเย็นชากับรัฐบาลทหารก่อนหน้านี้ก็เป็นไปได้
ตีความระหว่างบรรทัดแถลงการณ์ร่วมไทย-สหรัฐฯ และทิศทางประเทศต่อจากนี้
หลังการพบปะกันในทำเนียบขาว ทั้งสองประเทศได้ออกแถลงการณ์ร่วมไทย-สหรัฐฯ ที่มีใจความรวม 12 ข้อ แบ่งเป็นความร่วมมือด้านความมั่นคง ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ของประชาชนของทั้งสองประเทศ
ซึ่ง ศ.ดร.สุรชาติ มองว่าสิ่งที่จับต้องได้มากที่สุดจากการไปเยือนทำเนียบขาวคือแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ที่จะฉายภาพให้เห็นทิศทางและนโยบายในอนาคตของรัฐบาลต่อไป
“เราต้องตระหนักว่าแถลงการณ์ร่วมคือทิศทางใหญ่ เท่ากับเป็นการตอบเราในเชิงนโยบายว่าทิศทางในระดับนโยบายของรัฐบาลไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป”
ในประเด็นด้านความมั่นคง ศ.ดร.สุรชาติ วิเคราะห์ว่า แถลงการณ์ร่วมได้ระบุอย่างชัดเจนถึงท่าทีของประเทศไทยที่ต้องการให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ส่วนปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ที่จีนได้พยายามเข้าไปขยายอิทธิพลก่อนหน้านี้ ไทย-สหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดถือกฎหมายทะเลของสหประชาชาติ หรือ UNCLOS เป็นหนึ่งในหลักการสำคัญ รวมทั้งยอมรับกติกาสำหรับการจัดความสัมพันธ์ใหม่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง
นอกจากนี้ยังมีประเด็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ที่เสนอให้รัฐบาลเมียนมายอมรับว่าสถานการณ์มีความรุนแรง และควรเปิดหนทางให้อาเซียนเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบ
ซึ่งประเด็นเหล่านี้คือการแสดงท่าทีและจุดยืนของไทยในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไทยอาจไม่เคยได้แสดงออกมาก่อนหน้านี้
“ผมคิดว่ารัฐบาลอเมริกันประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลไทยออกแถลงการณ์จุดเดียวกับสหรัฐฯ ในมิติด้านความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกาหลีเหนือ ปัญหาทะเลจีนใต้ รวมถึงปัญหาในรัฐยะไข่ ผมว่าเราเหมือนถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องแสดงท่าทีบางส่วน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เราไม่เคยมีท่าทีมาก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจ”
คำมั่นสัญญาอีกครั้งว่าจะเลือกตั้งปีหน้า
นอกจากความมั่นคงระหว่างประเทศแล้ว ในแถลงการณ์ร่วมยังระบุถึงการเลือกตั้งในอนาคตของประเทศไทย โดยเฉพาะคำแถลงในข้อ 8 ที่ถือเป็นการให้คำมั่นสัญญาต่อประชาคมโลกว่า เมื่อกระบวนการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ฉบับเสร็จสิ้นแล้ว ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมในปี 2561 ซึ่งสอดคล้องกับโรดแมปที่รัฐบาลตั้งเอาไว้
โดยก่อนหน้านี้พลเอกประยุทธ์เคยให้คำมั่นสัญญาในลักษณะนี้บนเวทีโลกมาแล้ว 2 ครั้ง
ครั้งแรกเกิดขึ้นที่กรุงโตเกียว ระหว่างการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในปี 2558 ที่ระบุว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2559
อีกครั้งเกิดขึ้นในการประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์กเมื่อปีที่แล้ว ที่ระบุว่าจะมีการเลือกตั้งในปีนี้
ครั้งนี้จึงถือเป็นการให้คำมั่นสัญญาครั้งที่ 3 ที่น่าจะเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลนำพาประเทศกลับสู่การเลือกตั้งให้เร็วที่สุด
อีกเรื่องที่สำคัญคือการที่ผู้นำทั้งสองประเทศยอมรับถึงความสำคัญของการปกป้อง สนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ข้อ 8 เช่นเดียวกัน
“ถ้ามองผ่านมิติการเมืองไทยในจุดนี้น่าสนใจ เพราะเป็นการบอกว่ารัฐบาลทหารไทยได้ให้คำสัญญาต่อเวทีโลกอีกครั้งเรื่องการเลือกตั้งและเรื่องสิทธิมนุษยชน ดังนั้นถ้ากลับมาเมืองไทยแล้วจะทำอะไรที่ละเมิดต่อคำมั่นสัญญาดังกล่าวก็อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้”
ไทยจะซื้ออะไรจากสหรัฐฯ คำถามที่รัฐบาลต้องตอบ
อีกคำถามสำคัญที่หลายคนตั้งไว้ในใจก่อนที่นายกฯ จะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการคือ กลับมาคราวนี้รัฐบาลไทยจะต้องซื้ออะไรจากรัฐบาลอเมริกันบ้าง
เนื้อหมู ไก่งวง อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องบิน และถ่านหิน คือสินค้าที่หลายคนเก็งเอาไว้ในใจว่าจะต้องมีการสั่งซื้อจากไทยแน่นอนหลังจบทริป
แต่ในความเป็นจริง นอกจากถ่านหินที่นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย และผู้บริหาร SCG ได้ชี้แจงว่า SCG เตรียมลงนามซื้อถ่านหินจากสหรัฐฯ 2 ฉบับ รวม 155,000 ตัน เพื่อใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ ทดแทนการซื้อถ่านหินจากอินโดนีเซียแล้ว สินค้ารายการอื่นๆ กลับไม่มีความชัดเจนและข้อผูกพันที่ระบุว่าไทยจะต้องซื้อแน่ๆ ในอนาคต
เพราะในแถลงการณ์ร่วมระบุเพียงภาพกว้างๆ ถึงความร่วมมือทางการค้าแบบทวิภาคี การขยายฐานการลงทุน และการค้าระหว่างกันเพื่อสร้างงานในทั้งสองประเทศ ความร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ แต่ไม่ได้ระบุชัดในรายละเอียดแต่อย่างใด ทำให้ยากจะชี้ชัดว่าดีลด้านอาวุธ เนื้อสัตว์ หรือเครื่องบินจะเป็นไปอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้หรือไม่
อาจารย์ปองขวัญมองว่า ถึงตอนนี้ยังตอบยากว่าไทยจะต้องซื้ออะไรจากสหรัฐฯ บ้าง เพราะข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอว่าในการเจรจาได้มีการตกลงกันอย่างไร และการเจรจากลุ่มย่อยมีผลลัพธ์อย่างไร แม้ทรัมป์จะมีความพยายามปรับดุลการค้าระหว่างทั้งสองประเทศให้อยู่ในจุดที่สมดุลมากขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจนว่าที่สุดแล้วจะเกิดขึ้นตามที่ทรัมป์ต้องการหรือไม่
เช่นเดียวกับ ศ.ดร.สุรชาติ ที่มองว่าขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตอบว่าไทยจะซื้ออะไรจากสหรัฐฯ บ้าง แต่หลังจากนี้น่าจะมีท่าทีบางอย่างจากรัฐบาล ซึ่งคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
โจทย์ใหญ่และความท้าทายหลังกลับไทย
หากจะประเมินความสำเร็จของรัฐบาลไทยในการไปเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้คงถือว่าเร็วเกินไป เพราะสิ่งที่จับต้องได้ในเวลานี้มีเพียงแถลงการณ์ร่วมของทั้งสองประเทศ และภาพนายกฯ ไทยในทำเนียบขาว ซึ่งคงจะกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ในอนาคต
แต่นอกเหนือจากนั้น ศ.ดร.สุรชาติ แนะนำว่าควรจะดูในระยะยาว ซึ่งถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลไทยในหลายๆ ประเด็น เช่น
หลังจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะมีอะไรคืบหน้าบ้าง
หลังจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโลกตะวันตกจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เมื่อสหรัฐฯ เลือกจะเดินเกมกับไทยอีกแบบ แล้วประเทศอื่นๆ จะเดินเกมแบบเดียวกันหรือไม่
และประเด็นที่สำคัญที่สุดคือการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-สหรัฐฯ ครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนที่เคยแนบแน่นก่อนหน้านี้หรือไม่ เพราะถึงขณะนี้ยังไม่มีทีท่าจากจีนว่าที่สุดแล้วจีนมองการพบปะกันครั้งนี้อย่างไร
ด้านปองขวัญมองว่า สถานการณ์ต่างๆ หลังนายกฯ กลับไทยไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะในภาพแคบ การเจรจาครั้งนี้อาจเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถเจรจากันในด้านเศรษฐกิจได้ แต่ในภาพกว้าง การพบปะครั้งนี้คงไม่สามารถส่งผลให้ไทยมีน้ำหนักในการเจรจากับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ได้มากขึ้น
อ้างอิง: