กลางดึกของวันเสาร์ที่ผ่านมามีแถลงการณ์สองฉบับจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และสำนักพระราชวังอังกฤษ เกี่ยวกับกรณีที่เจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซ็กซ์ และเมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ ซึ่งมีพระประสงค์จะลดบทบาทการเป็นพระราชวงศ์ระดับสูงเพื่อการมีอิสระทางการเงินและอิสระในการใช้ชีวิต ตามที่ทั้งสองได้ประกาศลงในอินสตาแกรมส่วนตัวเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2020
ก่อนหน้านี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมร่วมกันที่พระตำหนักซานดริงแฮมระหว่างสมเด็จพระราชินีนาถและสมาชิกพระราชวงศ์ส่วนใหญ่ รวมถึงเจ้าชายแฮร์รี ร่วมกับสำนักพระราชวัง หรือที่เรียกว่า Sandringham Summit เพื่อหาทางออกในเรื่องดังกล่าว
โดยสมเด็จพระราชินีนาถได้มีแถลงการณ์ภายหลังการประชุมว่าทรงเข้าใจและเคารพการตัดสินใจของดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ที่ต้องการชีวิตที่เป็นอิสระ และที่ประชุมตกลงร่วมกันว่าจะมีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน (A period of transition) สำหรับครอบครัวซัสเซ็กซ์ในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง รวมถึงยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องพิจารณา ซึ่งผลการดำเนินการทั้งหลายจะเรียบร้อยในเร็ววัน
แถลงการณ์ทั้งสองฉบับที่ออกมาในวันที่ 18 มกราคมนี้จึงเป็นคำตอบของคำถามที่เกิดขึ้นมากมาย ภายหลังการขอลดบทบาทการเป็นสมาชิกราชวงศ์ระดับสูงของดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ และการประชุมร่วมกันของพระราชวงศ์
สำหรับสาระสำคัญของข้อตกลงที่เกิดขึ้นภายในราชวงศ์อังกฤษคือ ภายในฤดูใบไม้ผลิของปีนี้ (ราวเดือนมีนาคม) ทั้งดยุกและดัชเชสจะไม่อาจใช้คำนำหน้านามว่า ‘His/Her Royal Highness’ อันเป็นคำเรียกสมาชิกราชวงศ์อังกฤษที่แสดงถึงฐานันดรศักดิ์ในราชวงศ์ได้อีกต่อไป ซึ่งเท่ากับเป็นการออกจากฐานันดรศักดิ์ ดังนั้นเมื่อไม่มีฐานันดรศักดิ์แล้ว ทั้งดยุกและดัชเชสก็ไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ในฐานะพระราชวงศ์ รวมถึงการปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนสมเด็จพระราชินีนาถ และจะไม่มีการจัดสรรงบประมาณจากภาษีประชาชนเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่นี้อีกด้วย
แม้จะไม่ต้องทรงปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ในฐานะพระราชวงศ์แล้ว ทั้งดยุกและดัชเชสยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ส่วนตัวและให้การอุปถัมภ์โครงการหรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระราชินีนาถได้ แต่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนั้นจะมิใช่การดำเนินการในฐานะผู้แทนของสมเด็จพระราชินีนาถแต่อย่างใด
เรื่องสำคัญอีกเรื่องจากแถลงการณ์คือทั้งดยุกและดัชเชสมีความประสงค์ที่จะคืนเงินจำนวนกว่า 2.4 ล้านปอนด์ที่ใช้ในการบูรณะพระตำหนักฟร็อกมอร์ คอตเทจ มาจากเงินภาษีประชาชน อันเป็นเรื่องที่ทั้งสองถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างยิ่งถึงความเหมาะสมในการใช้จ่ายเงิน
แม้ว่าเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนจะไม่มีฐานันดรศักดิ์ในราชวงศ์และไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ใดแล้ว แต่ทั้งเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน รวมถึง อาร์ชี แฮร์ริสัน เมานต์แบ็ตเทน-วินด์เซอร์ บุตรของทั้งสองก็จะยังคงมีฐานะเป็นสมาชิกในราชวงศ์อยู่ และสามารถเข้าร่วมพิธีการหรือกิจกรรมต่างๆ ของพระราชวงศ์ได้ตามปกติ
ข้อตกลงที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นการหาทางออกที่เหมาะสมให้แก่ทั้งสถาบันกษัตริย์อังกฤษและครอบครัวซัสเซ็กซ์ เนื่องจากประเพณีปฏิบัติที่ผ่านมา การมีสถานะพิเศษของพระราชวงศ์จะต้องแลกมากับการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชน ซึ่ง จอนนี่ ไดมอนด์ ผู้สื่อข่าวสายราชสำนักอังกฤษได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ชีวิตการเป็นพระราชวงศ์อาจดูน่าเบื่อหน่ายกับธรรมเนียมและพิธีการมากมายที่พวกเขาต้องปฏิบัติ แต่นั่นก็ไม่ใช่ชีวิตที่เลวร้าย เพราะเป็นการแลกมาด้วยมาตรฐานการใช้ชีวิตที่สุขสบายมากกว่าผู้อื่น
ด้วยทัศนคตินี้ทำให้ในช่วงแรกที่เจ้าชายแฮร์รีและเมแกนขอลดบทบาทพระราชวงศ์ระดับสูง ทั้งสองจึงถูกวิจารณ์อย่างมากถึงการลดบทบาทการปฏิบัติหน้าที่ แต่ยังคงมีอภิสิทธิ์และสถานะพิเศษบางประการอยู่ รวมถึงยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายบางอย่างว่าภาคส่วนใดจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายนี้ เช่น การรักษาความปลอดภัย ค่าเดินทาง ฯลฯ รวมถึงความเหมาะสมในการพักอยู่ในตำหนักที่ใช้เงินประชาชนในการบูรณะ
เมื่อการขอลดบทบาทในฐานะพระราชวงศ์ระดับสูงของดยุกและดัชเชสเพื่อการมีชีวิตและการเงินที่อิสระนั้นถูกมองว่าเป็นข้อเสนอครึ่งๆ กลางๆ อันนำมาซึ่งข้อกังขาและข้อวิจารณ์อย่างมาก ทำให้การออกจากฐานันดรศักดิ์ของพระราชวงศ์จึงเป็นคำตอบของคำถามที่เกิดขึ้นและเป็นการหาทางออกร่วมกันที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ เนื่องจากการไม่มีฐานันดรศักดิ์และการไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ทำให้รัฐบาลไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพื่อสนองการปฏิบัติหน้าที่ของดยุกและดัชเชส เพื่อเป็นการลดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม รวมทั้งเป็นการลดอภิสิทธิ์และสถานะพิเศษของทั้งสองลง สอดคล้องกับการแสดงเจตจำนงในการคืนเงินที่ใช้ในการบูรณะพระตำหนักด้วย
แม้การออกจากฐานันดรศักดิ์ในครั้งนี้จะไม่กระทบถึงตำแหน่งดยุกและดัชเชสซึ่งทั้งคู่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อ 2 ปีก่อน และเจ้าชายแฮร์รียังคงดำรงสถานะเป็นเจ้าชายแห่งราชวงศ์อังกฤษอันเป็นสิทธิแต่กำเนิดของเขา แต่พวกเขาจะไม่มีภาระหน้าที่ที่ต้องทรงงานในฐานะพระราชวงศ์อีกต่อไป (No longer be working member of the royal family) และไม่ต้องอยู่ภายใต้การจับจ้องหรือตรวจสอบจากสื่อมวลชนหรือประชาชนอีกต่อไป อันเป็นจะเป็นชีวิตอิสระที่ดยุกและดัชเชสปรารถนา
อย่างไรก็ตาม ยังมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการรักษาความปลอดภัยแก่ครอบครัวซัสเซ็กซ์ ซึ่งต้องมีการหารือกันต่อไป รวมถึงสถานะทางภาษีของพวกเขา สัญชาติอังกฤษของเมแกน การเลือกที่พำนักอาศัย และการใช้ชีวิตต่อจากนี้
นอกจากนี้สมเด็จพระราชินีนาถยังทรงมีแถลงการณ์อันเป็นการแสดงความรู้สึกส่วนพระองค์ที่ทรงมีต่อครอบครัวซัสเซ็กซ์ด้วย โดยทรงกล่าวว่า “จากการพูดคุยหารือกันในช่วงที่ผ่านมา ข้าพเจ้ามีความพึงพอใจที่ในที่สุดพวกเราสามารถหาเส้นทางที่จะเป็นประโยชน์และเป็นการสนับสนุนหลานชายของข้าพเจ้าและครอบครัวของเขา… ข้าพเจ้าเข้าใจถึงความยากลำบากในชีวิตที่พวกเขาต้องเผชิญภายใต้การจับจ้องและตรวจสอบอย่างหนักตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และขอสนับสนุนความประสงค์ที่พวกเขาต้องการมีชีวิตที่เป็นอิสระมากขึ้น…”
นอกจากนั้นแล้วยังทรงขอบคุณครอบครัวซัสเซ็กซ์ที่ได้อุทิศตนในการทำงานเพื่อประเทศชาติและเครือจักรภพตลอดมา และยังทรงภูมิใจอย่างยิ่งที่เมแกนสามารถปรับตัวเข้าเป็นสมาชิกราชวงศ์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแฮร์รี เมแกน และอาร์ชี จะยังคงเป็นที่รักอย่างยิ่งในครอบครัวตลอดไป
สมเด็จพระราชินีนาถทรงกล่าวในตอนท้ายว่า พระองค์และสมาชิกราชวงศ์หวังว่าข้อตกลงที่เกิดขึ้นในวันนี้จะช่วยให้ครอบครัวซัสเซ็กซ์สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่มีความสุขและความสงบได้
สถาบันกษัตริย์อังกฤษเป็นสถาบันที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก ผ่านการปรับตัวรวมถึงเปลี่ยนแปลงในหลายด้านเพื่อจะสามารถดำรงอยู่ได้ตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา บทเรียนสำคัญของสถาบันกษัตริย์อังกฤษคือการจะดำรงอยู่ได้ต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนและธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมา
ดังนั้นกรณีของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนจึงเป็นตัวอย่างสำคัญที่ทั้งสองไม่อาจเลือกทำตามสิ่งที่ตนต้องการโดยละเลยธรรมเนียมปฏิบัติหรือความรู้สึกของประชาชน มิฉะนั้นแล้วย่อมก่อให้เกิดความเสียหายครั้งสำคัญที่กระทบถึงสถานะและความมั่นคงของราชวงศ์และสถาบันกษัตริย์ได้ในที่สุด
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: