×

ย้อนรอยเหตุยิงเครื่องบินโดยสารตกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

10.01.2020
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2001 เครื่องบินโดยสาร Tupolev Tu-154 สายการบิน Siberia Airlines ของรัสเซีย ถูกยิงตกลงในทะเลดำ ขณะกำลังมุ่งหน้าจากกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ไปยังเมืองโนโวซีบีสก์ของรัสเซีย โดยขีปนาวุธลูกดังกล่าวถูกยิงมาจากคาบสมุทรไครเมีย ขณะที่กองทัพยูเครนกำลังซักซ้อมการรบ เป็นเหตุให้เสียชีวิตยกลำ 78 คน ประธานาธิบดียูเครนและกองทัพต่างแสดงความเสียใจ พร้อมจ่ายเงินเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตรวมเป็นเงินราว 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 454 ล้านบาท)

 

วันที่ 23 มีนาคม 2007 เครื่องบิน Ilyushin II-76 ของสายการบินสัญชาติเบลารุสอย่าง TransAVIAexport Airlines ถูกยิงตกบริเวณชานกรุงโมกาดิชู เมืองหลวงของโซมาเลีย ในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมือง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 11 คน รัฐบาลโซมาเลียอ้างว่า เกิดจากอุบัติเหตุ ในขณะที่รัฐบาลเบลารุสตั้งข้อสังเกต อาจเชื่อมโยงกับการต่อต้านก่อการร้าย

 

วันที่ 17 กรกฎาคม 2014 เครื่องบิน Boeing 777 ของสายการบิน Malaysia Airlines เที่ยวบิน MH17 ถูกยิงตกบริเวณภาคตะวันออกของยูเครน ขณะกำลังมุ่งหน้าจากกรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ ไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 298 คน ทั้งรัฐบาลยูเครนและฝ่ายกบฏแบ่งแยกดินแดนที่ฝักใฝ่ในรัสเซียต่างอ้างว่า อีกฝ่ายเป็นผู้ลงมือยิงขีปนาวุธลูกดังกล่าว ก่อนที่อัยการเนเธอร์แลนด์จะเปิดเผย 4 รายชื่อผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับการยิงเครื่องบินลำนี้ โดย 3 ใน 4 คน เป็นสมาชิกกองทัพรัสเซีย ซึ่งจะเริ่มไต่สวนเดือนมีนาคม 2020 นับเป็นโศกนาฏกรรมการยิงเครื่องบินตกครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในยูเครนและเครื่องบิน Boeing 777

 

วันที่ 8 มกราคม 2020 เครื่องบิน Boeing 747 ของสายการบิน Ukraine International Airlines เที่ยวบิน PS752 ตกลงบริเวณพื้นที่นอกกรุงเตหะราน หลังจากเทกออฟได้เพียงไม่นาน ขณะกำลังจะมุ่งหน้าสู่กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 176 คน ในเบื้องต้นสำนักข่าวอิหร่านระบุว่า เกิดจากความผิดพลาดทางเทคนิค 

 

ล่าสุด ทางการสหรัฐฯ อ้างว่า เหตุเครื่องบินตกเกิดจากการยิงขีปนาวุธของอิหร่านเอง โดยทางการสหราชอาณาจักรและแคนาดาก็ได้รับข้อมูลในทิศทางเดียวกัน ทางด้านรัฐบาลยูเครนระบุว่า การถูกยิงเครื่องบินตกยังเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ยังไม่ถูกตัดทิ้ง ขณะที่รัฐบาลอิหร่านให้การปฏิเสธ และยินดีให้หน่วยงานของสหรัฐฯ เข้ามาตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริง

 

 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X