นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนพบว่า ผู้คนที่มีส่วนร่วมกับงานศิลปะบ่อยๆ เช่น ทุก 2-3 เดือน หรือมากกว่านั้น มีแนวโน้มเสียชีวิตช้าลงถึง 31% เทียบกับคนที่ไม่เสพงานศิลป์ แม้แต่ไปโรงละครหรือเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์เพียงครั้งสองครั้งต่อปี ก็มีความเสี่ยงน้อยลงถึง 14%
นักวิจัยทำการศึกษาข้อมูลที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างวัย 50 ปีขึ้นไปจำนวนกว่า 6,000 คนในประเทศอังกฤษ โดยดูความถี่ที่พวกเขาเข้าร่วมกิจกรรมทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นงานนิทรรศการ คอนเสิร์ต และละครเวที ตั้งแต่ต้นปี 2004 และมีการติดตามผลเป็นเวลาเฉลี่ย 12 ปี ซึ่งในระหว่างนั้นจะมีการบันทึกการเสียชีวิตของพวกเขา ด้วยข้อมูลจากศูนย์บริการสุขภาพแห่งชาติ หรือ National Health Service
“ในขณะที่พฤติกรรมที่ส่งผลต่อสุขภาพอื่นๆ อย่างเช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือออกกำลังกาย ดูเหมือนจะเป็นตัวทำนายแนวโน้มการเสียชีวิตได้ดีที่สุด แต่กลายเป็นว่ากิจกรรมสันทนาการ หรือกิจกรรมที่ทำให้มีความสุขกลับเป็นสิ่งที่ผู้คนมองข้าม และไม่คิดว่ามันจะทำให้สุขภาพของพวกเขาดีขึ้น” เดซี แฟนคอร์ท รองศาสตราจารย์ประจำแผนกวิจัยพฤติกรรมศาสตร์และสุขภาพของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน กล่าว
ผลการศึกษานี้ยังดูความหลากหลายด้านปัจจัยทางเศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคมอีกด้วย เพื่อนำมาใช้อธิบายว่าทำไมการมีส่วนร่วมกับงานศิลปะถึงเชื่อมโยงกับชีวิตที่ยืนยาวขึ้นของคนเรา ซึ่งการศึกษานี้มีลักษณะเชิงสังเกตการณ์ ดังนั้นจึงไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนได้ ทำให้ส่วนหนึ่งของการศึกษามุ่งเป้าไปที่สภาพสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างระหว่างกลุ่มคนที่ไปและไม่ไปงานนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ และแกลเลอรี
นักวิจัยพบความสัมพันธ์ระหว่างการเสพงานศิลป์กับฐานะความร่ำรวยราว 9% ขณะที่ความแตกต่างในกระบวนการรับรู้ การมีส่วนร่วมทางสังคม และสุขภาพทางจิตใจก็อีกเป็นปัจจัยสำคัญด้วยเช่นกัน ส่วนกิจกรรมอื่นๆ เช่น เวลาว่างหรือการประกอบอาชีพก็มีความเกี่ยวข้องกับการเลือกชมนิทรรศการ แกลเลอรี และละครเวทีเช่นกัน
ผลการศึกษายังเผยอีกว่า ครึ่งหนึ่งของผู้เข้าร่วมทั้งที่ชอบไปงานนิทรรศการกับไม่ชอบไป จะเกี่ยวข้องกับความแตกต่างทางสถานะด้านเศรษฐกิจสังคม ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยที่บอกว่า การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวัฒนธรรม ถือเป็นรูปแบบทางสังคมอย่างหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม แฟนคอร์ทบอกว่า ผู้เข้าร่วมมากกว่าครึ่งนั้นมีความเป็นอิสระจากปัจจัยทั้งหมดที่เรากล่าวมา
การมีส่วนร่วมกับศิลปะบ่อยๆ จะช่วยทำหน้าที่เหมือนเป็นเกราะป้องกันความเครียด และยังช่วยสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้ผู้คนรู้จักปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังช่วยให้คนผู้มีทุนทางสังคม นั่นก็คือการเข้าถึงการสนับสนุนทางอารมณ์และข้อมูล ที่ช่วยให้ผู้คนที่เริ่มมีอายุมากขึ้นประสบความสำเร็จในชีวิตได้
“หากการศึกษานี้พบหลักฐานที่ชิ้นใหญ่กว่านี้ เราก็จะได้รู้แน่ชัดว่างานศิลปะมีประโยชน์ต่อสุขภาพของเราอย่างไรบ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วมันอาจมีประโยชน์อีกมากมายที่เรายังไม่รู้ และช่วยสนับสนุนให้ชีวิตของเราอยู่ได้นานมากยิ่งขึ้นอีกด้วย”
งานศึกษาจากองค์การอนามัยโลกเมื่อต้นปีนี้พบว่า ทั้งการมีส่วนร่วมแบบเปิดรับ อย่างการเดินชมพิพิธภัณฑ์ และการมีส่วนร่วมแบบลงมือทำ อย่างการร้องเพลงในคณะประสานเสียง ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งหมด
บรรณาธิการคนหนึ่งกล่าวว่า ทุกคนควรมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวัฒนธรรม และควรกังวลกับการลดจำนวนวิชาศิลปะในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยด้วย
แพทย์ที่ได้อ่านบทความนี้อาจจะตระหนักถึงคุณค่าของศิลปะ แต่พวกเขาก็ยังสงสัยว่าการมีส่วนร่วมกับวัฒนธรรม หรือศิลปะเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อการมีอายุยืนยาวของคนได้อย่างไร
แม้ตอนนี้จะมีผลงานมากมายเกี่ยวกับกิจกรรมที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในเชิงบวกอย่างศิลปะ แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคตการวิจัยก็ยังต้องการกลไกอื่นๆ เพิ่มเติมที่สามารถอธิบายความเชื่อมโยงของกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมกับชีวิตที่ยืนยาวของคนเรา
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: