×

บทเรียนจากหลุมหลบภัย ‘แอลเบเนีย’ เกาหลีเหนือแห่งยุโรป

09.05.2024
  • LOADING...

‘แอลเบเนีย’ เป็นประเทศเล็กๆ แห่งหนึ่งติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คนไทยไม่ค่อยรู้จัก

 

เมื่อปีก่อนที่ผู้เขียนไปเยือน มีนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยไม่กี่สิบคน ทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่มีอารยธรรมเก่าแก่ ภูมิประเทศยิ่งใหญ่ตระการตา ธรรมชาติงดงามยิ่ง อาหารอร่อย ไวน์รสชาติดี แต่ค่าครองชีพแทบจะไม่ต่างจากกรุงเทพมหานคร

 

แอลเบเนียเคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศยากจนที่สุดในยุโรป เพราะปิดประเทศจากการปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์มายาวนาน เพิ่งเปิดประเทศ มีการปฏิรูปการปกครองเป็นเสรีนิยมมา 30 กว่าปีเอง

 

ที่กรุงติรานา เมืองหลวงของแอลเบเนีย ผู้เขียนแวะไปสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศนี้ และมีอยู่เกลื่อนทั่วประเทศ คือบังเกอร์หรือหลุมหลบภัย

 

เชื่อหรือไม่ว่า แอลเบเนียแม้จะเป็นประเทศขนาดเล็กมาก มีพื้นที่ไม่ถึง 30,000 ตารางกิโลเมตร แต่มีบังเกอร์คอนกรีตมากที่สุดในโลกถึง 173,371 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960-1980 ในสมัยของประธานาธิบดีแอนแวร์ ฮอจา (Enver Hoxha) อดีตผู้นำประเทศเผด็จการและปกครองประเทศมายาวนาน (ค.ศ. 1944-1985) โดยเขาตั้งชื่อโปรเจกต์นี้ว่า ‘Bunkerizimi’ (Bunkerisation)

 

ต้นเหตุของการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างจำนวนมากนี้มาจากความหวาดกลัว

 

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แอลเบเนียเป็นประเทศเอกราช ปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ และถือเป็นประเทศหลังม่านเหล็กคืออยู่ภายใต้อิทธิพลของโซเวียตรัสเซีย แต่ต่อมาทั้งสองประเทศเกิดความขัดแย้งกัน และฮอจากลัวว่ากองทัพโซเวียตจะบุกยึดครอง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างกรีซและยูโกสลาเวียจะบุกข้ามพรมแดน มีการโจมตีทางอากาศ เลยระดมใช้ทรัพยากรและงบประมาณจำนวนมากสร้างหลุมหลบภัยทั่วประเทศ

 

หลุมหลบภัยมีทุกแห่ง กลางเมือง ในหมู่บ้าน ทุ่งหญ้า ชายฝั่ง ฯลฯ หลุมหลบภัยบางแห่งมีขนาดใหญ่มาก สามารถป้องกันระเบิดนิวเคลียร์ได้ด้วย

 

ในยุคสมัยของจอมเผด็จการคนนี้ได้อบรมให้เด็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบว่า พวกเขาต้อง “เฝ้าระวังศัตรูทั้งภายในและภายนอก”

 

ชาวแอลเบเนียทั้งหญิงและชายถูกเกณฑ์ให้เป็นทหาร 8 แสนคน จากพลเมืองไม่ถึง 3 ล้านคน ฝึกฝนตั้งแต่อายุ 12 ขวบ ให้ไปประจำการในบังเกอร์ใกล้ที่สุดเพื่อขับไล่ผู้บุกรุกจากแดนไกลที่ไม่มีใครรู้ว่ามาจริงหรือไม่ นอกจากคำพูดปลุกระดมทุกวันของหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาล

 

เบื้องหลังความหวาดกลัวสงครามของฮอจาก็คือการทำให้ผู้คนในประเทศหันมาสนใจสงครามนอกประเทศ เพื่อเบี่ยงเบนปัญหาความล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล จนกลายเป็นประเทศยากจนที่สุดในยุโรป และในยุคนั้นแอลเบเนียก็ได้ฉายาว่าเป็นประเทศเกาหลีเหนือแห่งยุโรป

 

เกาหลีเหนือและแอลเบเนียมีลักษณะคล้ายกันคือเป็นประเทศที่ปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ มีผู้นำที่อยู่ในตำแหน่งยาวนาน มีแสนยานุภาพทางทหาร แต่ประชาชนในประเทศยากจนมาก

 

แต่สุดท้ายบังเกอร์เหล่านี้ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อันใด เพราะไม่มีสงครามใดเกิดขึ้น แต่ทำให้ประเทศยากจนลงเรื่อยๆ จากงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ถูกทุ่มลงไปแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ทรัพยากรของแอลเบเนียสูญเปล่า บังเกอร์ส่วนใหญ่ถูกปล่อยทิ้งร้าง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจผู้ปกครองประเทศ ออกมาประท้วงหลายครั้ง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในเวลาต่อมา

 

ใจกลางเมืองหลวงมีสิ่งก่อสร้างภายนอกดูคล้ายโดมทรงกลมขนาดไม่ใหญ่มาก คือบังเกอร์ที่เรียกว่า BUNK’ART 2

 

บังเกอร์แห่งนี้ไม่ได้ถูกปล่อยทิ้งร้าง แต่กลายเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่ง

 

เมื่อเราก้าวย่างลงไปใน BUNK’ART 2 ต้องปรับสายตาให้คุ้นชินกับความมืดและทางเดินแคบๆ สร้างบรรยากาศอึดอัด สีเทาๆ สะท้อนประวัติศาสตร์ด้านมืดของประชาชนในยุคเผด็จการครองอำนาจมายาวนาน

 

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงชีวิตหดหู่โหดร้ายของชาวแอลเบเนียในยุคมืด ผ่านภาพ เครื่องมือ เครื่องใช้ และโดยการออกแบบกราฟิกที่ชวนติดตาม

 

ตามทางเดินเราผ่านไปห้องนิทรรศการห้องหนึ่ง เป็นแผ่นป้ายชื่อคนตายจำนวนมากห้อยลงมาจากเพดาน มีคำอธิบายว่า “ในช่วง ค.ศ. 1944-1991 มีประชาชนมากกว่า 6,000 คน ถูกศาลตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าหรือแขวนคอจากข้อหามีทัศนคติทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ โดยส่วนใหญ่ศพของผู้เสียชีวิตไม่เคยถูกนำกลับไปให้ครอบครัวเลย ขณะที่ชาวแอลเบเนีย 35,000 คน ถูกจับเข้าเรือนจำใช้แรงงาน”

 

ด้านหน้าห้องมีตัวหนังสือขนาดใหญ่ติดไว้ว่า “ความชั่วร้ายจะหยั่งรากลึก เมื่อมนุษย์เริ่มต้นคิดว่าเขาดีกว่าคนอื่น”

 

 

เราเดินผ่านห้องสอบสวนของ ‘Sigurimi’ ตำรวจการเมืองที่เป็นอาวุธลับของฮอจา เพื่อใช้ประหัตประหารอาวุธศัตรูทางการเมืองของเขา

 

ตำรวจการเมืองสามารถจับเอาเชลยมาทรมาน โดยตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมต่อรัฐ ตำรวจการเมืองมีสิทธิจะจับใครก็ได้มาคุมขังและค่อยหาหลักฐานยัดข้อหาทีหลัง ซึ่งหลักฐานเหล่านี้มักจะถูกจัดฉากสร้างขึ้นมา

 

ห้องทรมานนักโทษจะแสดงวิธีการต่างๆ อย่างเหี้ยมโหด เพื่อทรมานนักโทษด้วยน้ำมือของบรรดาตำรวจลับ เช่น การแล่เนื้อแล้วทาเกลือ จี้ไฟฟ้าที่หูและร่างกาย อดอาหารจนตาย ใส่ดินระเบิดในร่างกาย คีมบีบหน้าอก แก้ผ้าปล่อยให้หนาวจัดจนตายอย่างช้าๆ ฯลฯ

 

มีคำคมติดฝาผนังอีกแห่งว่า “ถ้าคุณจำอดีตไม่ได้ คุณจะถูกประณามให้ทำซ้ำ”

 

เราเดินออกจาก BUNK’ART 2 ที่นำเสนอด้านมืดของระบอบคอมมิวนิสต์และการปราบปรามอันโหดร้ายกับคนที่เห็นต่างทางการเมือง บังเกอร์เหล่านี้ชวนสร้างบรรยากาศได้สมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตจริงๆ

 

วันต่อมาเราออกเดินทางไปนอกเมืองหลวง เดินผ่านอุโมงค์ที่ขุดข้ามภูเขา เข้าไปในสถานที่ตั้ง BUNK’ART 1 ที่เป็นบังเกอร์ขนาดใหญ่ที่สุด สร้างอยู่ใต้ภูเขาทั้งลูก เป็นทางเดินแคบๆ มีห้องต่างๆ 106 ห้อง กำแพงคอนกรีตมีความหนาประมาณ 1 เมตร และขุดลึกลงไปอีก 4 ชั้น บังเกอร์ขนาดใหญ่ที่บรรจุผู้คนได้นับพันคนน่าจะขุดลึกลงไปไม่ต่ำกว่าร้อยเมตร

 

 

ภายใน BUNK’ART 1 จัดแสดงห้องต่างๆ สำหรับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์หากจะต้องมาใช้ชีวิตในหลุมหลบภัยจริงๆ บังเกอร์แห่งนี้สามารถป้องกันระเบิดนิวเคลียร์ได้ มีระบบกรองอากาศอย่างดี มีระบบไฟฟ้าสำรอง โรงสูบน้ำ ห้องส่วนตัวของผู้นำประเทศ มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพ ห้องสำหรับคนสำคัญของพรรค ห้องอาหาร ห้องเสบียง ห้องประชุมขนาดใหญ่จุคนได้นับร้อย ห้องบัญชาการสงคราม ร้านค้าขายของชำ สิ่งจำเป็นในยามสงคราม และห้องพักของทหารระดับยศต่างๆ แต่ละห้องจะมีโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อ ปลุกระดมให้รักชาติ เสียสละเพื่อชาติ

 

บังเกอร์ขุดด้วยน้ำมือของมนุษย์เป็นหลัก ชาวแอลเบเนียจำนวนมากเสียชีวิตในระหว่างการก่อสร้างบังเกอร์ยักษ์แห่งนี้

 

แต่ห้องเหล่านี้ก็ไม่เคยถูกใช้เลย เช่นเดียวกับบังเกอร์นับแสนแห่งทั่วประเทศที่ถูกทิ้งร้างอย่างไร้ค่า แต่เตือนสติให้ประชาชนได้รู้ถึงความโหดร้ายของบรรดาเผด็จการ

 

นอกจากจะพรากชีวิตผู้คนนับหมื่นแล้ว ยังทำให้ประชาชนยากจน ประเทศล่มจมเสียหายยับเยิน และเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากพากันเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อหางานทำและชีวิตที่ดีกว่า

 

ไม่แปลกใจที่ทุกวันนี้ประชากรแอลเบเนียมีเพียง 2.8 ล้านคน ขณะที่สมองไหลไปอยู่นอกประเทศอย่างต่อเนื่องถึง 8 ล้านคน

 

เป็นบทเรียนที่ไม่เคยล้าสมัยสำหรับประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงมาตลอดทุกยุคทุกสมัย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising