งานของคุณกำลังจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์หรือไม่? หลายธุรกิจมีเป้าหมายที่จะลดการพึ่งพาแรงงานคน และหันความสนใจไปยังหุ่นยนต์และใช้ระบบอัตโนมัติซึ่งควบคุมด้วยซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
Uniqlo ฟาสต์แฟชั่นยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่สนใจหนทางนี้ โดยได้จับมือกับสตาร์ทอัพเพื่อนร่วมชาติ Mujin ในการพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เพื่อสร้างหุ่นยนต์สองแขนแบบใหม่ที่สามารถหยิบเสื้อยืด พับ และบรรจุลงในกล่องก่อนส่งไปถึงมือของลูกค้า
เดิมทีงานเหล่านี้ถูกทำด้วยสองมือของมนุษย์ แต่ปัจจุบันกำลังถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ มีรายงานว่า 90% ของโรงงานในกรุงโตเกียวถูกทดแทนด้วย ‘หุ่นยนต์’ ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบไปเรียบร้อยแล้ว
หุ่นยนต์ของ Mujin สามารถมองเห็น ตรวจจับความเคลื่อนไหว และป้องกันการจัดส่งผิดพลาดผ่านการตรวจสอบอัตโนมัติ โดยใช้กล้องสามมิติเพื่อสแกนและบันทึกข้อมูล รวมไปถึงสามารถเติมกระดาษ วางลงในแต่ละแพ็กเกจ และหยิบสินค้าคนละแบบใส่ลงไปในกล่องเดียวกัน โดยคำนวณพื้นที่ว่างได้อย่างแม่นยำ แต่ละปี Uniqlo ผลิตเสื้อผ้า 1.3 พันล้านชิ้นสำหรับจำหน่ายใน 3,500 แห่ง ใน 26 ประเทศทั่วโลก
ในการให้สัมภาษณ์กับ The Financial Times ทาคุยะ จิมโบ (Takuya Jimbo) รองประธานกรรมการบริหาร Fast Retailing บริษัทแม่ของ Uniqlo ผู้รับผิดชอบด้านซัพพลายเชน กล่าวว่า ฟาสต์แฟชั่นยักษ์ใหญ่แดนซามูไรต้องการมุ่งพัฒนาซัพพลายเชน โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของนวัตกรรมดังกล่าวในญี่ปุ่นในเวลานี้ ซึ่งกลายเป็นเรื่องยากมากที่จะจ้างคนงาน และมีเรื่องให้คิดมากกว่าที่หลายคนนึกถึง
“เราต้องเป็นผู้ที่วิ่งนำหน้าผู้อื่น ทดลอง และเรียนรู้จากความผิดพลาด เพราะมีเพียงบริษัทที่พัฒนาโมเดลธุรกิจของตัวเองเท่านั้นถึงจะอยู่รอดได้” จิมโบกล่าว
นอกจากนี้รองประธานกรรมการบริหาร Fast Retailing ยังอ้างถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานที่แดนอาทิตย์อุทัยกำลังเผชิญ เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำและสังคมสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลจากสถาบันประชากรและประกันสังคมแห่งชาติประเมินว่า ประชากรของญี่ปุ่นจะลดลงจากประมาณ 127 ล้านคน เหลือประมาณ 88 ล้าน ภายในปี 2065 ซึ่ง 1 ใน 5 ของคนญี่ปุ่นจะมีอายุเกิน 70 ปี
ด้วยเหตุนี้เชนฟาสต์แฟชั่นและนักพัฒนาหุ่นยนต์จึงไม่กังวลกับการที่ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่แรงงานคน อีกทั้ง “ในกรณีของคลังสินค้าเมื่อมีไม่มนุษย์อยู่ในนั้นก็หมดความกังวลเรื่องโดนขโมยสินค้าได้เลย” อิสเซย์ ทาคิโนะ (Issei Takino) ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารของ Mujin กล่าวกับ The Financial Times
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: