3 ธันวาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันคนพิการสากลโดยสหประชาชาติ เพื่อเป็นการระลึกถึงวันครบรอบที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติรับรองแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยเรื่องคนพิการ (World Programme of Action Concerning Disabled Persons) พร้อมสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ เฉลิมฉลองวันคนพิการสากลทุกปี เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการอย่างต่อเนื่อง
จากผล ‘การสำรวจความพิการ พ.ศ. 2560’ พบว่า ประเทศไทยมีคนพิการประมาณ 3.7 ล้านคน คิดเป็น 5.5% ของประชากรทั้งประเทศ โดยมีสัดส่วนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่มีคนพิการที่จดทะเบียนเพียง 44.4% ส่วนอีก 55.6% ไม่ได้จดทะเบียน
สำหรับคนพิการที่จดทะเบียนและมีบัตรประจำตัวคนพิการจำนวน 1,995,767 คน ตามรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย (ข้อมูลสิ้นสุด ณ วันที่ 1 เมษายน 2562) แบ่งเป็นคนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) จำนวน 841,408 คน โดยจำนวนนี้มีคนพิการที่ประกอบอาชีพเพียง 217,480 คน ไม่ได้ประกอบอาชีพ 151,150 คน พิการมาก ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ 57,687 คน ส่วนที่เหลือ 415,091 คน ไม่ได้ระบุข้อมูลด้านอาชีพไว้
จากโจทย์ดังกล่าวทำให้ภาครัฐต้องผลักดันให้คนพิการมีรายได้และมีงานทำ สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยกำหนดให้นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานรัฐรับคนพิการเข้าทำงานในอัตรา 100 คนต่อคนพิการ 1 คน หรือส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ