×

บทสรุปการประชุมโลกร้อน COP25 ตกลงอะไรกันได้บ้าง

16.12.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS. READ
  • ผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ บรรลุข้อตกลงที่จะทำให้เกิดแผนการลดการปล่อยคาร์บอนที่สมบูรณ์ขึ้นในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ในช่วงปลายปี 2020 อีกทั้งยังจะต้องเสนอแผนการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยกระดับความท้าทายเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
  • การตั้งกฎของตลาดคาร์บอนคือหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ในปีนี้ 
  • บรรดาผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ ผู้แทนฝ่ายต่างๆ รวมถึงนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ต่างรู้สึกผิดหวังกับบทสรุปการประชุมในครั้งนี้ที่อาจจะยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก

ภาพ: Marcos del Mazo / LightRocket via Getty Images

 

ปิดฉากลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP25 ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน หลังจากต้องขยายเวลาการประชุมออกไปอีก 2 วัน ท่ามกลางกระแสแรงกดดันจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ เนื่องจากตกลงและหาข้อสรุปไม่ได้ในบางประเด็น นับเป็นการประชุมโลกร้อนที่ใช้ระยะเวลาในการเจรจายาวนานที่สุดของสหประชาชาติ

 

การประชุม COP25 ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยหัวข้อสำคัญที่ใช้หารือในที่ประชุมคือการพยายามหาวิธีนำเอาความตกลงปารีส ปี 2015 ไปปฏิบัติจริงอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการกำหนดแผนปฏิบัติการที่จำเป็นเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ได้วางไว้ คือควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรม โดยจะต้องหาข้อสรุปให้ได้ก่อนสิ้นปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่ความตกลงปารีสเริ่มมีผลบังคับใช้

 

ภาพ: Oscar Del Pozo / AFP via Getty Images

 

 

สิ่งที่ตกลงกันได้และเห็นชอบร่วมกัน

บรรดาผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ บรรลุข้อตกลงที่จะทำให้เกิดแผนการลดการปล่อยคาร์บอนที่สมบูรณ์ขึ้นในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ในช่วงปลายปี 2020 โดยทุกประเทศจะต้องเสนอแผนการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Nationally Determined Contributions – NCD) ที่ยกระดับความท้าทายเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งยังจะต้องศึกษาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และนำมาปรับใช้เพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน รวมถึงชะลอและหลีกเลี่ยงวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

 

โดยประเทศที่ผลักดันเป้าหมายที่ท้าทายขึ้นส่วนใหญ่เป็นประเทศในสหภาพยุโรปและประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กในมหาสมุทรต่างๆ ขณะที่ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา จีน บราซิล และอินเดีย ต่างแสดงจุดยืนคัดค้านการผลักดันเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลังการถอนตัวออกจากการเป็นภาคีความตกลงปารีส ส่งผลต่อความพยายามบรรลุข้อตกลงของที่ประชุมในหลายเรื่อง โดยจะถอนตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2020

 

แต่อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม COP25 ได้ตกลงประนีประนอมกัน โดยบรรดาประเทศพัฒนาแล้วและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจะต้องแสดงให้ที่ประชุมเห็นว่าตนได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นก่อนถึงปี 2020

 

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้คือการตั้งกฎของตลาดคาร์บอน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศและแต่ละองค์กรที่เกี่ยวข้องสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ โดยจะเลื่อนออกไปพิจารณาเป็นหัวข้อสำคัญในการประชุม COP26 

 

ภาพ: Eduardo Parra / Europa Press via Getty Images

 

ปฏิกิริยาต่อภาพรวมการประชุม COP25

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) กล่าวว่าตนรู้สึกผิดหวังต่อผลการประชุมในครั้งนี้ 

 

“ผมรู้สึกผิดหวังกับผลการประชุม COP25 ประชาคมระหว่างประเทศสูญเสียโอกาสครั้งสำคัญในการแสดงความมุ่งมั่นที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหา ปรับตัว และสนับสนุนทางการเงิน เพื่อรับมือวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

 

“พวกเราจะต้องไม่ยอมแพ้ และผมเองก็จะไม่มีวันยอมแพ้”

 

ขณะที่ แคโลรินา ชมิดท์ รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของชิลีและประธานการประชุม COP25 ก็แสดงทัศนคติในทิศทางเดียวกันกับกูเตอร์เรส โดยระบุว่า

 

“ความคิดเห็นของที่ประชุมยังไม่สามารถแสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่เพิ่มมากขึ้นในระดับที่พวกเราต้องการ ก่อนที่การประชุมนี้จะปิดฉากลง ฉันอยากจะเคลียร์ประเด็นนี้และเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมมือกันกระทำการใดๆ ต่อประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศให้รวดเร็วและจริงจังมากยิ่งขึ้น คนรุ่นใหม่ต่างคาดหวังในตัวพวกเราเป็นอย่างมาก”

 

ทางด้าน เอียน ฟราย ผู้แทนของตูวาลู ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เผยว่า “มีผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกเริ่มได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว การที่ปฏิเสธข้อเท็จจริงเหล่านี้อาจตีความได้ว่านี่อาจเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

 

ภาพ: Beata Zawrzel / NurPhoto via Getty Image

 

โดย Nakabuye นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวอูกันดา ระบุว่า “เราต่างพูดคุยถึงเรื่องภาวะเร่งด่วนเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ แต่กลับไม่มีใครทำอะไร เหมือนกับว่ามันเป็นแบบนั้นเลยจริงๆ

 

ถึงผู้นำทั้งหลาย พวกเราต้องการความเป็นผู้นำในการต่อสู้เรื่องสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่การเอาแต่พูดคุยกัน คุณจะเจรจากันไปอีกนานเท่าไร คุณเจรจากันมานานตั้งแต่ 25 ปีที่แล้ว ก่อนที่ฉันจะเกิดเสียด้วยซ้ำ”

 

แม้ในปีนี้การประชุมจะไม่ได้ให้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ แต่การปลุกกระแสตื่นตัวและสร้างจิตสำนึกให้แก่พลเมืองโลก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่นำโดย เกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม วัย 16 ปี จากสวีเดน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย และช่วงชิงพื้นที่ของสื่อต่างๆ ทั่วโลกเรื่อยมา นับตั้งแต่การประชุมโลกร้อน COP24 ที่โปแลนด์ รวมถึงปีนี้และในที่ประชุม COP26 ที่สกอตแลนด์ในช่วงปลายปี 2020 เราคงยังจะเห็นเธอเป็นกระบอกเสียงสำคัญในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X