×

25 ปี รอยเลือด คราบน้ำตาของคนดงมะไฟ: การต่อสู้รอบใหม่เพื่อคัดค้านโรงโม่หินในถิ่นเกิด

06.12.2019
  • LOADING...
โรงโม่หินดงมะไฟ

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • เป็นเวลายาวนานกว่า 25 ปีแล้ว ที่ ‘กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได’ ต่อสู้ใช้สิทธิคัดค้านการทำเหมืองหินปูน และเรียกร้องให้หยุดการทำเหมืองหินปูน ในตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู
  • รอยเลือด คราบน้ำตา เกิดขึ้นภายใต้สภาวะก้าวพ้นความกลัว เพียงเพราะใจ ที่ต้องการสู้และรักษาไว้ซึ่งถิ่นทำกิน พวกเขาต้องสูญเสียพี่น้องไปถึง 4 ชีวิต
  • ปี 2562 เหมืองยื่นขอประทานบัตรใหม่ ถ้าทางการอนุญาตหมายความว่า 10 ปีจากนี้วิถีชีวิตและธรรมชาติบ้านเกิดจะยิ่งเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จึงเกิดเป็นการต่อสู้รอบใหม่เพื่อทวงความยุติธรรมที่เขาควรจะได้

หากต้องให้ใครสักคนต่อสู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งกว่าครึ่งชีวิตของเขา เพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘ความยุติธรรม’ ที่ในความเป็นจริงแล้วเขาควรได้รับตั้งแต่เริ่มต้นมีสถานะความเป็น ‘มนุษย์’ 

 

แต่ทว่าในความเป็นจริงเขายังไม่ได้รับ หรือแม้แต่มองเห็นคุณค่าเหล่านั้นเลย สิ่งนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลว ผุพัง และโครงสร้างที่มีปัญหาต่อคนบางกลุ่ม 

 

ในขณะที่กลุ่มคนที่เรียกว่า ‘นายทุน’ ดูเหมือนจะได้รับการอำนวยความสะดวก และความยุติธรรมมาถึงโดยไม่ต้องร้องขอ หรือต้องใช้เวลานานในการเรียกร้องเท่าขนาดครึ่งชีวิตของใครบางคน

 

โรงโม่หินดงมะไฟ

 

เป็นเวลายาวนานกว่า 25 ปีแล้ว สำหรับการต่อสู้อย่างเข้มแข็งในนาม ‘กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได’ เพื่อยืนยันสิทธิชุมชนอนุรักษ์ บำรุงรักษา การจัดการ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยใช้สิทธิคัดค้านการทำเหมืองหินปูน และเรียกร้องให้หยุดการทำเหมืองหินปูน และโรงโม่หิน อย่างต่อเนื่อง 

 

ปัจจุบันเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ตั้งอยู่บน ‘ภูผาฮวก’ มีพื้นที่ทำเหมืองกว่า 175 ไร่ และโรงโม่หินอีก 50 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู 

 

โรงโม่หินดงมะไฟ

 

ชุมชนท้องถิ่นเรียกป่าแถบนั้นว่า ‘ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ ผาจันได’ ซึ่งมีเขาหินปูนที่สวยงาม มีระดับความสูงประมาณ 260-300 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นแนวทิวเขาที่เป็นต้นน้ำแหล่งน้ำซับซึมและอุดมสมบูรณ์หลายลูก ประกอบด้วย ภูผาฮวก, ผาจันได, ภูผายา, ผาโขง และผาน้ำลอด ทั้งหมดอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลาง 

 

ที่สำคัญต้นน้ำจากทิวเขาหินปูนเหล่านั้นได้เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยสำคัญหลายสาย เช่น ลำห้วยปูน ลำห้วยสาวโฮ และลำห้วยคะนาน เป็นต้น จากภูเขาเชื่อมโยงป่าใหญ่น้อยด้วยลำห้วย ไร่นา และชุมชน ซึ่งได้พึ่งพิงและใช้ประโยชน์แหล่งน้ำในการทำนา เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก ตลอดปีโดยเฉพาะในฤดูแล้ง 

 

โรงโม่หินดงมะไฟ

 

 หลังการต่อสู้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีท่าทีว่าการต่อสู้ของชาวดงมะไฟ จะบรรลุผลตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน 

 

การต่อสู้รอบใหม่จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากปี 2562 บริษัทกำลังเร่งดำเนินการต่อใบอนุญาตขอเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองหินบนภูผาฮวกอีก 10 ปี ซึ่งถ้าบริษัทสามารถต่อใบอนุญาตได้สำเร็จ ภูเขา และป่าไม้จะถูกระเบิด ระบบนิเวศถูกทำลาย และแหล่งอาหารของชุมชนก็จะสูญหาย ส่วนนายทุนก็จะขนเอาแร่ไปขายต่อไปอีกจนถึงปี 2573 

 

โรงโม่หินดงมะไฟ

 

สุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมา เพราะไม่เคารพการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการตัดสินใจโครงการ ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ได้รองรับสิทธิชุมชนไว้ในเรื่องการทำประชาพิจารณ์

 

“ที่มาของความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะมีการปลอมใบอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าและใบประทานบัตร ทำให้ชาวบ้านต้องไปฟ้องศาลปกครอง กระทั่งชนะคดี แต่ไม่สามารถทำให้บริษัทเหมืองหยุดประกอบกิจการได้”

 

โดยปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินกิจการระเบิดภูเขา ทำเหมืองและโรงโม่หิน พร้อมทั้งขนถ่ายลำเลียงแร่เข้าออกระหว่างพื้นที่เรื่อยมา เพราะได้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยอ้างว่าคดียังไม่ถึงที่สุด 

 

โรงโม่หินดงมะไฟ

 

สมควร เรียงโหน่ง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได เล่าว่าชาวบ้านเริ่มลุกขึ้นต่อสู้มาตั้งแต่ปี 2536 เมื่อเริ่มมีบริษัทเอกชนเข้ามายื่นขอสัมปทานภูผายา ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อทำเหมืองหิน คนในชุมชนไม่เห็นด้วยจึงเริ่มรวมตัวกันคัดค้าน เพราะบนเขานั้นมีสำนักสงฆ์ และมีการสำรวจพบภาพเขียนสีประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรจึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งสำคัญทางโบราณคดีในเวลาต่อมา

 

ปีถัดมา บริษัทเอกชนได้ย้ายมายื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองหินที่ภูผาฮวก ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลาง ตำบลดงมะไฟ เพื่อทำเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน

 

ขณะที่ชุมชนรวมตัวกันเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างหนัก เป็นเหตุให้ บุญรอด ด้วงโคตะ และ สนั่น สุขวรรณ ถูกลอบยิงเสียชีวิต จนปัจจุบันยังจับคนร้ายไม่ได้

 

โรงโม่หินดงมะไฟ

ภรรยากำนันทองม้วน

 

ปี 2542 กำนันทองม้วน คำแจ่ม แกนนำต่อสู้คนสำคัญ และ สม หอมพรมมา ถูกยิงเสียชีวิต แต่ชาวบ้านตำบลดงมะไฟ จำนวน 6 หมู่บ้าน ยังคงรวมตัวกันยืนหยัดต่อสู้ คัดค้านเหมืองหิน บนภูผาฮวกต่อไป

 

ตลอดการต่อสู้กว่า 25 ปีของชาวบ้านมีรอยเลือดและคราบน้ำตาปรากฏให้เห็นบนเส้นทางนี้มาโดยตลอด แต่ทว่าพวกเขาเลือกที่จะสู้เพื่อปกป้องถิ่นเกิดของตนเอง แม้จะเผชิญต่อสถานการณ์ที่สร้าง ‘ความกลัว’ ให้กับพวกเขา บางคนสู้ตั้งแต่สาวยันแก่ ตั้งแต่ลูกยังเล็กกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เส้นของความกลัวได้ถูกก้าวข้ามไปแล้ว 

 

โรงโม่หินดงมะไฟ

 

ลำดวน วงศ์คำจันทร์ ชาวบ้านดงมะไฟ และแม่ผู้ต่อสู้ในขบวนการนี้มายาวนาน เล่าว่า เธอต่อสู้ตั้งแต่ลูกสาวของเธอยังเล็ก จนปัจจุบันลูกสาวของเธอได้เติบโต และย้ายไปทำงานอยู่ที่เกาหลีใต้แล้ว 

 

“ลูกไม่เคยบอกให้แม่หยุด ลูกไม่ได้ว่าอะไร เขาเห็นเราต่อสู้มาตั้งแต่เด็ก พอโทรไปเล่าให้เขาฟังว่าวันที่ 7 ธันวาคมนี้ ชาวบ้านจะไปเดินสู้กันอีก ลูกสาวบอกว่าเสียดายที่ไม่ได้อยู่ร่วมด้วย” 

 

ลำดวนบอกว่า เธอเคยกลัวที่จะสู้ เคยถูกเจ้าหน้าที่ลากลงจากรถกระบะ ลากเหมือนหมูเหมือนหมา เหมือนไม่ใช่คน ตอนนั้นได้รับบาดเจ็บ แต่ก็ไม่ท้อถอย เพราะรู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นก็เพื่อบ้านเกิดตัวเอง ทำให้ชีวิตการต่อสู้ของเธอได้ก้าวข้ามผ่านความกลัวไปแล้ว และด้วยพลังสตรีที่ออกมาสู้ร่วมกัน ทำให้เธอมีเพื่อนร่วมสู้ระหว่างทาง

 

“แม่สู้ด้วยใจ สู้ด้วยพลังทั้งหมดที่มี เวลาเหนื่อยท้อก็ร้องเพลงกัน ใจที่สู้มันทำให้แม่ไม่กลัวอะไรแล้ว กลัวแต่จะไม่ได้รักษาธรรมชาติเหล่านี้ไว้ให้ลูกหลาน ไม่รู้ว่าจะชนะไหม ก็สู้มาตั้งนาน รู้แต่ว่าจะสู้ให้ถึงที่สุด ถึงวันนั้นก็ไม่เสียใจอะไรแล้ว”

 

โรงโม่หินดงมะไฟ

 

ระหว่างการต่อสู้ผ่านช่องทางกฎหมายต่างๆ ชาวบ้านก็ได้อาศัยช่องทางอื่นด้วย โดยขอให้ทางการเข้ามาทำการสำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ ต่อมากรมศิลปากรได้ระบุว่าในตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีความสำคัญ เพราะมีการอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาถึงยุคประวัติศาสตร์ จนกลายมาเป็นชุมชนขนาดใหญ่ในปัจจุบัน 

 

โรงโม่หินดงมะไฟ

 

ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของท้องถิ่น รวมทั้งยังเป็นแหล่งโบราณคดีตามกฎหมาย แต่แหล่งโบราณคดีเหล่านี้บางส่วนซ้อนทับอยู่กับเขตคำขอประทานบัตรทำเหมืองหินปูนของบริษัทเอกชนด้วย อาทิ

 

‘ภูผายา’ ด้านทิศตะวันออกของผาเป็นที่ตั้งของถ้ำพระและถ้ำเสือ มีการสำรวจพบภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย นอกจากนี้ ยังพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปบุเงินกำหนดอายุว่าอยู่ในยุคประวัติศาสตร์สมัยวัฒนธรรมล้านช้าง ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 22-24 ทั้งนี้ ชุมชนเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จึงได้ร่วมกันสร้างสำนักสงฆ์ขึ้น

 

โรงโม่หินดงมะไฟ

 

นอกจากนี้ กรมศิลปากรได้ดำเนินการสำรวจแหล่งโบราณคดีถ้ำเลียงผาและถ้ำหินแตก ซึ่งเป็นถ้ำย่อยที่อยู่ในบริเวณกลุ่มถ้ำน้ำลอด-ถ้ำศรีธน และพบโบราณวัตถุ อันได้แก่ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา และชิ้นส่วนเครื่องถ้วยเขียนสีน้ำเงินใต้เคลือบ ซึ่งจัดเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายสมัยเหล็ก 

 

โรงโม่หินดงมะไฟ

 

นับต้ังแต่ปี พ.ศ. 2558 โครงการเหมืองแร่หินปูนฯ ได้เริ่มทำการระเบิดเพื่อเปิดหน้าเหมือง การดำเนินการในระยะน้ี ทำให้มีเศษหินกระเด็นออกมายังบริเวณโดยรอบโครงการ ซึ่งกระเด็นไปถึงพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านนอกเขตปักหมุด ทำให้มีเศษหินจากเหมืองตกลงไปในแปลงนาข้าว สวนยางพารา ไร้อ้อย ไรมันสำปะหลัง สร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตร บางสวนไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ เจ้าของท่ีต้องปล่อยทิ้งร้าง 

 

โรงโม่หินดงมะไฟ

 

การมีเศษหินกระเด็นลงไปนั้น เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้กับเจ้าของท่ีดินในการจ้างคนเอาเศษหินออกจากแปลงเกษตร ถ้าไม่นำออกก็จะทำการไถพรวนไม่ได้ หรือถ้ารถท่ีจ้างมาไถพรวนดินไปแล้วอุปกรณ์รถไปกระทบเศษหิน จะทำให้อุปกรณ์เสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง เป็นรายจ่ายท่ีเจ้าของไร่ต้องแบกรับ นอกจากความเสียหายต่อพืชผลการเกษตรแล้ว หินท่ีกระเด็นออกมา ยังมีความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุกับชาวบ้านท่ีอยู่ในท่ีดินทำกินของตนเองอีกด้วย

 

โรงโม่หินดงมะไฟ

 

ขณะที่ช่วงเวลา 16.00-17.00 น. เป็นเวลาทำการระเบิด จะมีการแจ้งเตือนก่อนอย่างน้อย 30 นาที ชาวบ้านท่ีกำลังทำงานอยู่ในแปลงเกษตรโดยรอบ เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณต้องรีบออกจากพื้นที่ให้ไกลจากภูเขา เพื่อป้องกันอันตรายท่ีอาจจะเกิดข้ึนจากเศษหินกระเด็น หินร่วง รวมใช้เวลาต้ังแต่ออกจากพื้นที่การเกษตร รอจนกว่าจะระเบิดเสร็จ แล้วจึงสามารถเข้าไปทำงานต่อได้ เสียเวลา 2 ชั่วโมงในแต่ละวันท่ีทำการระเบิด ถึงแม้การระเบิดในระยะต่อมาจะมีเศษหินกระเด็นออกมาน้อยลง เนื่องจากเหมืองแร่หินปูนเริ่มมีการขุดลึกลงไป แต่ชาวบ้านยังคงมีความกังวลใจต่ออุบัติเหตุท่ีอาจจะเกิดข้ึน

 

โรงโม่หินดงมะไฟ

 

พื้นท่ีสัมปทานโครงการเหมืองแร่หินปูนฯ มีถ้ำสำคัญและสวยงามหลายแห่ง ซึ่งหลายถ้ำยังไม่ได้รับการสำรวจอย่างเป็นทางการจากกรมศิลปากร หน่ึงในน้ันคือ ถ้ำผาน้ำลอด ซึ่งมีความสำคัญคือ เป็นทางผ่านของสายน้ำท่ีไหลมารวมกันจากป่าสงวน เก่ากลอย-นากลาง ร่องน้ำสายน้ีจะไหลในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะไหลผ่านแปลงเกษตรของชาวบ้านไปทางภูผาโขง จากน้ันจะไหลไปรวมกับลำห้วยปูน ซึ่งเป็นลำห้วยสำคัญท่ีหล่อเลี้ยงพื้นท่ีการเกษตรของชาวบ้าน โดยลำห้วยสายน้ีจะไหลไปบรรจบกับคลองคะนานและคลองโมง ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงต่อไป

 

นี่คือผลกระทบส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เพื่อปกป้องพื้นที่ทำกิน และวิถีชีวิตของตนเองเอาไว้ 

 

โรงโม่หินดงมะไฟ

 

ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ชาวบ้านก็ได้ร้องเรียนและต่อสู้มาโดยตลอด การทำประชาพิจารณ์เท็จที่มีเจ้าหน้าที่ส่วนราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง กระทั่งนำไปสู่การฟ้องร้องคดี จนกระทั่งความจริงเปิดเผยว่ามีการสร้างหลักฐานเท็จ เพื่อนำเอาผลประชาพิจารณ์ไปขอให้มีการออกประทานบัตร มีเพียงผู้ถูกดำเนินคดีไม่กี่ราย ขณะที่เหมืองยังคงเปิดทำการ และคดีความก็ยังไม่ถึงที่สุด มีการยื่นขอประทานบัตรใหม่ 

 

โรงโม่หินดงมะไฟ

 

การต่อสู้ของชาวบ้านดูเหมือนจะเหนื่อยล้าลง แต่ ‘หัวใจ’ ของคนในชุมชนอย่างที่แม่ลำดวนว่า ได้นำพาพวกเขาให้ลุกขึ้นต่อสู้รอบใหม่ โดยในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ ชาวบ้านจะเริ่มออกเดินทางตามหาความยุติธรรมอีกครั้ง โดยรวมตัวกันไปที่ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู

 

เพื่อถามหาความยุติธรรม ที่พวกเขาควรจะได้ด้วยตัวของพวกเขาเอง พวกเขาที่บางคนสู้มาตั้งแต่สาวยันแก่นั่นเอง

 

โรงโม่หินดงมะไฟ

 

ลำดับเหตุการณ์การต่อสู้: 

 

  • ปี 2536 เริ่มมีบริษัทเอกชนเข้ามายื่นขอสัมปทานภูผายา ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อทำเหมืองหิน คนในชุมชนไม่เห็นด้วยจึงเริ่มรวมตัวกันคัดค้าน เพราะบนเขานั้นมีสำนักสงฆ์ และมีการสำรวจพบภาพเขียนสีประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรจึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งสำคัญทางโบราณคดีในเวลาต่อมา
  • ปี 2537 บริษัทเอกชนได้ย้ายมายื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองหิน ที่ภูผาฮวก ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลาง ตำบลดงมะไฟ เพื่อทำเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน
  • ปี 2538 ชุมชนรวมตัวกันเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างหนัก เป็นเหตุให้ บุญรอด ด้วงโคตะ และ สนั่น สุขวรรณ ถูกลอบยิงเสียชีวิต จนปัจจุบันยังจับคนร้ายไม่ได้
  • ปี 2541 ชุมชนยื่นหนังสือคัดค้านการขอสัมปทาน ขณะที่บริษัทเดินหน้ารังวัดขอบเขตเหมือง โดยไม่สนใจเสียงคัดค้าน
  • ปี 2542 กำนันทองม้วน คำแจ่ม แกนนำต่อสู้คนสำคัญ และ สม หอมพรมมา ถูกยิงเสียชีวิต แต่ชาวบ้านตำบลดงมะไฟ จำนวน 6 หมู่บ้าน ยังคงรวมตัวกันยืนหยัดต่อสู้ คัดค้านเหมืองหินบนภูผาฮวกต่อไป
  • ปี 2543 อุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภู ให้อนุญาตประทานบัตรเหมืองหินแก่บริษัทบนภูผาฮวก มีระยะเวลาทำเหมืองหิน 10 ปี ตั้งแต่เดือนกันยายน 2543 ถึงกันยายน 2553 

 

ปี 2544

 

  • คนในชุมชนชุมนุมประท้วง และใช้มาตรการปิดถนนที่เป็นเส้นทางขนเครื่องจักรกลของคนงานเหมือง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม จนสามารถขนเครื่องจักรกลเข้าสู่พื้นที่ทำเหมืองบนภูผาฮวกได้
  • ชาวบ้านยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนประทานบัตรทำเหมืองหิน
  • แกนนำชุมชนถูกจับกุมดำเนินคดี 12 คน ข้อหาวางเพลิงเผาที่พักคนงานเหมือง และโรงเก็บอุปกรณ์ ซึ่งศาลตัดสินจำคุก 2 ราย อีก 10 ราย ศาลยกฟ้องในเวลาต่อมา
  • ปี 2547 ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาเพิกถอนคำขอประทานบัตร แต่ปี 2553 ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษา คืนประทานบัตรให้บริษัททำเหมืองหิน แต่อายุประทานบัตรก็หมดอายุลงพอดี เป็นเหตุให้บริษัทต้องเริ่มขอต่อใบอนุญาตใหม่ รวมถึงการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพื่อเข้าทำเหมืองแร่ในพื้นที่อีกครั้ง 
  • ปี 2553 บริษัทได้รับการต่อใบอนุญาตการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และต่ออายุประทานบัตรอีกครั้ง คือตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2553 ถึง 24 กันยายน 2563 แม้ชุมชนจะยืนยันการคัดค้านอย่างเข้มแข็งต่อเนื่องก็ตาม
  • ปี 2555 ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่จำนวน 78 ราย ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เพิกถอนหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง และเพิกถอนใบอนุญาตต่ออายุประทานบัตรของบริษัททำเหมือง
  • ปี 2558 ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับพระราชทาน ‘ธงพิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต’ ตามโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ซึ่งเกิดจากชาวบ้านในพื้นที่ได้มีการอนุรักษ์ บำรุงรักษาป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง 
  • ปี 2559 บริษัทดำเนินการระเบิดหิน ภูผาฮวก และเริ่มลำเลียง ขนถ่ายแร่ไปขาย 
  • ปี 2561 ศาลปกครองอุดรธานี ได้มีคำพิพากษา (14 มีนาคม 2561) เพิกถอนหนังสืออนุญาตให้บริษัทเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง เนื้อที่กว่า 175 ไร่ ระยะเวลา 10 ปี และเพิกถอนใบอนุญาตต่ออายุประทานบัตร ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ออกให้บริษัท โดยให้มีผลนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา แต่เนื่องจากภายหลังคู่ความได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด และอยู่ระหว่างการยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ คุ้มครองชั่วคราวของชาวบ้าน บริษัทก็ได้ดำเนินกิจการระเบิดภูเขา ทำเหมืองและโรงโม่หิน พร้อมทั้งขนถ่ายลำเลียงแร่ เข้า-ออก ระหว่างพื้นที่เหมืองเรื่อยมา
  • ปี 2562-ปัจจุบัน บริษัทกำลังเร่งดำเนินการต่อใบอนุญาตขอเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองหินบนภูผาฮวกอีก 10 ปี ซึ่งถ้าบริษัทสามารถต่อใบอนุญาตได้สำเร็จ ภูเขา และป่าไม้จะถูกระเบิด ระบบนิเวศถูกทำลาย และแหล่งอาหารของชุมชนก็จะสูญหาย ส่วนนายทุนก็จะขนเอาแร่ไปขายต่อไปอีกจนถึงปี 2573

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising