‘ความปลอดภัย’ ของผู้โดยสารไรด์แชริ่ง หรือไรด์เฮลลิง กลายเป็นประเด็นที่ถูกติดเครื่องหมายคำถามมาโดยตลอด เพราะถึงแม้ผู้ให้บริการหลายรายจะชูจุดเด่นการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามายกระดับความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการมากแค่ไหน แต่หลายครั้งหลายหนเราก็มักจะเห็นข่าวคราวผู้โดยสารถูกคุกคามทางเพศปรากฏออกมาอยู่เป็นระยะๆ
Uber ถือเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการร่วมเดินทางรายใหญ่ลำดับต้นๆ ของโลก ซึ่งล่าสุดได้เปิดเผยรายงานด้านความปลอดภัยที่เก็บข้อมูลรวบรวมในช่วงตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาในสหรัฐฯ (2017-2018) และพบว่ามีผู้ใช้บริการร้องเรียนกรณีการถูกคุกคามทางเพศรวมมากกว่า 5,981 ครั้ง จากจำนวนการเดินทางทั้งหมด 2.3 พันล้านครั้ง
แบ่งเป็นการร้องเรียน 2,936 ครั้งในปี 2017 และเพิ่มเป็น 3,045 ครั้งในปี 2018 สะท้อนให้เห็นว่าตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงจากเดิม โดยสาเหตุการกระทำผิดมากกว่าครึ่ง หรือ 3,000 ครั้ง มาจากการสัมผัสส่วนต่างๆ ของร่างกายผู้โดยสาร ซึ่งส่อเค้าไปในเชิงการคุกคามทางเพศโดยไม่ได้รับความยินยอม ในจำนวนนี้มีผู้โดยสารที่ตกเป็นเหยือถูกข่มขืนมากถึง 464 ราย (2017: 239 ราย และ 2018: 235 ราย) โดย 92% ของเหยื่อคือผู้โดยสาร อีก 7% เป็นคนขับ
ส่วนรายงานอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับรถของ Uber มีจำนวนสูงถึง 107 ครั้ง ในจำนวนนี้มีรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตกว่า 19 ราย
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Uber ได้ออกมาเปิดเผยว่า พวกเขาเตรียมจะนำเทคโนโลยีการบันทึกเสียงอัตโนมัติมาใช้ในระหว่างที่รถของ Uber กำลังออกวิ่งให้บริการ เพื่อเป็นอีกหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยของผู้ใช้บริการและผู้ขับขี่
“ในบางประเทศ เรากำลังอยู่ในช่วงทดสอบฟีเจอร์ที่ช่วยเพิ่มทางเลือกความปลอดภัยให้กับคนขับและผู้โดยสารด้วยการอัดเสียงระหว่างที่ตัวรถกำลังออกวิ่ง นอกจากนี้เรายังตั้งเป้าที่จะเปิดเผยรายชื่อของผู้ขับที่ถูกแบนห้ามให้บริการบนแพลตฟอร์มของเรากับเพื่อนผู้ให้บริการรายอื่นๆ ด้วย
“ความตั้งใจของเราคือการสร้างผลกระทบเชิงบวกนอกที่ไม่ใช่กับแค่ตัวบริษัทของเราเอง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ให้บริการรายอื่นๆ โปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลและแชร์แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้ทุกๆ คนปลอดภัยมากขึ้น” โทนี เวสต์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของ Uber กล่าว
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: