พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ภาพรวมดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพฤศจิกายน 2562 สูงขึ้น 0.21% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ถือว่าปรับตัวดีขึ้นในรอบ 4 เดือน นับจากการชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
สาเหตุเพราะหมวดพลังงานหดตัวในอัตราต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือน ในขณะที่หมวดอื่นๆ ยังขยายตัวและเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องไปกับเครื่องชี้วัดอื่นๆ เช่น ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ 0.47% เฉลี่ย 11 เดือน เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.69% เทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.53% เทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้เงินเฟ้อขยายตัวต่อเนื่อง เพราะปัจจัยการบริโภคที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากรายได้การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขาการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่ม ยอดการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ และราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนหนึ่งอาจเพราะผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดด้านอุปสงค์การลงทุน เช่น การจำหน่ายปูนซีเมนต์ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง และยอดการทำธุรกรรมอสังหาฯ ยังลดลง
โดยส่วนหนึ่งน่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการชะลอการลงทุนของภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อพิจารณาปัจจัยโดยรวมแล้วชี้ว่า สถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของประเทศยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ และสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของอุปทานและอุปสงค์ในตลาด
นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตเฉลี่ย 11 เดือน อยู่ที่ระดับ 53.3 (อยู่ในระดับเชื่อมั่น) ชี้ว่า ผู้บริโภคยังมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าอิทธิพลของพลังงานจะลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากราคาน้ำมันในปีนี้เริ่มใกล้เคียงกับปีก่อน ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในลักษณะปกติ ยกเว้นสินค้าเกษตร ซึ่งอาจมีความผันผวนอยู่บ้าง ทำให้เงินเฟ้อในเดือนธันวาคมน่าจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และทำให้เงินเฟ้อทั้งปี น่าจะอยู่ในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ 0.7-1.0%
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า