“แกนับถือศาสนาอะไรกันแน่เนี่ย”
คำถามสั้นๆ ใน I’m Not Your F***ing Stereotype หนังสั้นธีสิสของฮีซัมร์ เจ๊ะมามะ นักศึกษาจากคณะ Digital Media and Cinematic Arts มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่หยิบประเด็นปัญหาวิกฤตอัตลักษณ์ที่เด็กสาวมุสลิมต้องเผชิญ มาสะท้อนมุมมองและสิ่งที่เกิดขึ้น แต่หลายคนไม่เคยรับรู้ หรือไม่ก็ถูกพร่าเลือนให้ดูเหมือนว่าไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
ออกมาเป็นหนังสั้นที่เข้มข้น ดุเดือด จนสามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์สั้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยอดเยี่ยม (Best Southeast Asian Short Film) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ 2019 (Singapore International Film Festival) มาครองได้สำเร็จ
I’m Not Your F***ing Stereotype เล่าเรื่องตัวละครที่ชื่อ มารียัม (รับบทโดย ภัครดา มัจฉาสร้อย) เด็กสาวมุสลิมวัยมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่ต้องย้ายไปอยู่ในโรงเรียนที่มองว่าเธอคือความแตกต่าง เป็นคนแปลกแยก และตกเป็นเหยื่อของการเหยียดเชื้อชาติ ความเชื่อ และ ‘Stereotype’ เธอด้วยภาพจำที่ถูกบิดเบือน จนทำให้เธอเริ่มรู้สึกไม่พอใจกับ ‘อัตลักษณ์’ ชื่อ ศาสนา แม้กระทั่งวันเกิดของตัวเอง
คณะกรรมการจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ 2019 แสดงความคิดเห็นถึง I’m Not Your F***ing Stereotype ว่าเป็นหนังสั้นที่ร้อยเรียงประเด็นปัญหา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความเชื่อ ได้อย่างถูกที่ถูกทาง หมดจดสมบูรณ์แบบ จนไม่มีใครสามารถเข้าไปบอกผู้กำกับ ทีมงานเบื้องหลัง และนักแสดงได้ว่าพวกเขากำลังนำเสนอเรื่องราวหรือสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมออกมา และเป็นเหตุผลที่หนังสั้นเรื่องนี้คู่ควรกับภาพยนตร์สั้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยอดเยี่ยมมากที่สุด
นอกจากนี้ ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ได้ชม I’m Not Your F***ing Stereotype ในช่วงที่ฉายในงานฤดูหนัง 5 ในวันที่ 28-30 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ว่า
“ชื่อหนังอาจจะได้รับอิทธิพลจากชื่อหนังของ ราอูล เพ็ค (I Am Not Your Negro) และสไตล์การนำเสนอทั้งการแบ่งหนังออกเป็นบทๆ และการ ‘ครอปภาพ’ เป็นวงกลมอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากหนังเฝิงเสี่ยวกัง ซึ่งชื่อภาษาอังกฤษก็ยังคล้ายคลึงกันอีก (I Am Not Madame Bovary) แต่ความรู้สึกเก็บกด อัดอั้น ความหัวเสียและขุ่นเคือง-เป็นของหนังเรื่อง I’m Not Your F***ing Stereotype โดยตรง และข้อสำคัญ หนังถ่ายทอดแง่มุมที่น่าเชื่อว่าคนดูไม่ค่อยได้รับรู้เท่าใดนัก
“หนังเล่าเรื่องได้คล่องแคล่ว เชื่อมโยงรายละเอียดต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบเนียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหยอกล้อและจิกกัดความเป็นมุสลิมของตัวละคร (เช่น การเกิดวันที่ 11 กันยายน 2001 การซื้อหมูปิ้ง ไปจนถึงการทำบอร์ดวันสำคัญทางพุทธศาสนา) อีกทั้งการใช้แท็กติกการนำเสนอแบบหนังสยองขวัญ-ก็บรรยายความรู้สึกแปลกแยกแตกต่างของตัวละครได้คมคาย”
นอกจากการนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและศาสนาที่ถูกมองผ่านสายตาคนนอก I’m Not Your F***ing Stereotype ยังเป็นเสมือนตัวแทนของการ ‘เหยียด’ และการตัดสินคนคนหนึ่งจาก ‘ภาพ’ หรือตัวตนบางอย่างที่ไม่ได้เป็นเรื่องผิด เพียงแค่ ‘แตกต่าง’ จากความคุ้นชินของคนในสังคม
เหมือนการตัดสิน ล้อเลียน แบ่งแยกเพียงเพราะสีผิว ความหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา อาชีพ ฯลฯ ที่ยังมีให้เห็นมาโดยตลอด และที่เศร้าไปกว่านั้นคือ บางคนยังยอมรับการ ‘เหยียดหยาม’ ความแตกต่างเหล่านี้ราวกับเป็นเรื่องปกติ และทำตัวเหมือนกับว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคม
ภาพ: ฤดูหนัง MovieSeason
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: