×

ชวน โอ๋ ภาคภูมิ คุยถึงการทำหนัง Based on True Story จากกรณีศึกษา ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง ว่าแท้จริงแล้ว ‘ควรมีอะไรอยู่ในถ้ำนางนอน’

01.12.2019
  • LOADING...

กระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามมาหลังเกิดกรณี ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ผู้อำนวยการสถานการณ์ในปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง แสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ว่าหนังเรื่อง The Cave นางนอน มีสิ่งที่ถูกแต่งเติมเสริมอรรถรสมากกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และมีการตอบโต้จาก ทอม วอลเลอร์ ผู้กำกับหนังผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวอย่างดุเดือดเมื่อรอบอาทิตย์ที่ผ่านมา กำลังจะค่อยๆจางไป พร้อมๆ กับความสนอกสนใจในตัวหนังที่เพิ่มมากขึ้น 

 

แน่นอนว่าสิ่งดีตกไปอยู่ที่ตัวหนังและทีมผู้สร้าง The Cave นางนอน ที่พื้นที่ข่าวจะทำให้พวกเขาได้สามารถใช้ผลงานพิสูจน์ความตั้งใจและคุณภาพงาน 

 

แต่หากมองลึกลงไปที่เนื้อหา หนึ่งในแง่มุมที่น่าสนใจคือการเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์ในลักษณะ Based on True Story ที่แฟนหนังมักจะพบเห็นหนังชั้นดีในลักษณะนี้อยู่บ่อยๆ จากฮอลลีวูดและอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก 

 

เฉกเช่นเดียวกับในประเทศไทยที่ก็มีหนังในลักษณะนี้อยู่จำนวนหนึ่ง แต่ในเวลาเดียวกัน หลายคนก็ตั้งข้อสงสัยว่า หนังที่เรียกตัวเองว่า Based on True Story นั้นควรมีเส้นแบ่งระหว่าง ‘ความจริง’ หรือ ‘เค้าโครงเรื่องจริง’ กับ ‘เรื่องแต่ง’ ที่ตรงไหนกัน นั่นคือคำถามที่เราเชื่อว่าทีมผู้สร้างภาพยนตร์ที่ต้องทำการบ้านให้ถี่ถ้วนอยู่เสมอ 

 

THE STANDARD POP โทรศัพท์ไปหา โอ๋-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยอย่าง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, Homestay ที่ครั้งหนึ่งเคยลงมือกำกับ ‘ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง’ หนึ่งในสี่ภาพยนตร์โครงการคีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์ ซึ่งเป็นงานในลักษณะ Based on True Story โดยเขาเล่าเรื่องชีวประวัติของ สืบ นาคะเสถียร วีรบุรุษผู้มีอุดมการณ์แรงกล้าที่จะปกป้องผืนป่าห้วยขาแข้งมาสร้างสรรค์ผ่านมองมุมของตัวเอง 

 

เพื่อชวนโอ๋มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าเขามีความรู้สึกกับคำว่า Based on True Story ในฐานะที่เคยทำหนังแนวนี้มาก่อน หนังแนวนี้มีประโยชน์อย่างไร ไล่เรียงไปถึงการสะท้อนว่าประเทศเราอาจมีจุดอ่อนบางอย่าง ที่ทำให้คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับหนัง Based on True Story อยู่บ้าง

 

เพราะโอ๋เองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยคิดจะนำเสนอชีวิตสุดเข้มข้นของ สอ เสถบุตร ในรูปแบบภาพยนตร์ และสุดท้ายก็ตัดสินใจเลิกล้มโปรเจกต์เพราะความ ‘ไม่กล้า’ ของตัวเองเหมือนกัน

 

ภาพยนตร์ The Social Network กำกับโดย เดวิด ฟินเชอร์ 

 

สำหรับคุณ คิดว่าการทำหนัง Based on True Story เรื่องหนึ่ง จะต้องอ้างอิงหรือมีความเป็นจริงอยู่ในนั้นมากน้อยขนาดไหน 

จากมุมของผมรู้สึกว่า Based on True Story ที่ทำเป็นหนัง Fiction ฉายโรงภาพยนตร์หรือโทรทัศน์น่าจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้กำกับว่าอยากเล่าในประเด็นไหน ซึ่งไม่สามารถถ่ายทอดความจริงออกมาได้ 100% อยู่แล้ว อยู่ที่มุมมองและทัศนคติที่แตกต่างกันเวลามองเข้าไปที่เหตุการณ์นั้น ตรงนั้นที่ทำให้หนังน่าสนใจว่าผู้กำกับคนนั้นจะเล่ามุมมองแบบไหนออกมา 

 

อย่างหนังเรื่อง The Social Network ผมก็อยากดูเพราะอยากรู้ว่า เดวิด ฟินเชอร์ เขาคิดอย่างไรกับเรื่อง Facebook หรือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผมเชื่อว่าผู้กำกับอย่างเขามีสิทธิ์ตีความสิ่งที่เขาคิดว่ามันน่าจะเป็นไปได้บนการตัดสินใจของเขา ซึ่งจะใช้ความจริงกี่ส่วนนั่นเป็นเรื่องของผู้กำกับเลย

 

ส่วนผลที่จะตามมาผู้กำกับคนนั้นก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบว่า สังคมจะคิดว่าสิ่งที่เขาตีความออกมามันเป็นอย่างไร มันก็เหมือนหนังเรื่องหนึ่งที่เวลาฉายมา คนรู้สึกว่าเรื่องนี้ดีว่ะ เรื่องนี้ไม่ดีว่ะ ซึ่งผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นเลย ที่ตัวผู้กำกับจะต้องไปเคารพมัน 100% มันไม่มีทางทำได้ถูกหมดอยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้อยู่ในช่วงเวลานั้นจริงๆ และจะไม่น่าสนใจด้วยซ้ำ ถ้าหนังพยายามบอกเล่าความจริงอย่างตรงไปตรงมา เหมือนที่ดูจากสารคดี หรือข่าวที่ถ่ายทอดความจริงได้ใกล้เคียงกว่าก็ได้ 

 

ภาพจริง: สืบ นาคะเสถียร จาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 

 

ถ้าผู้กำกับสามารถตีความเรื่องราวใหม่ได้ พอจะมีเส้นแบ่งตรงไหมว่า เราจะสามารถเล่าเรื่อง หรือตีความได้เท่านี้ เพื่อที่จะให้ความเคารพกับคนที่กำลังพูดถึงให้มากที่สุด และสามารถเล่าเรื่องทุกมุมของเขาไปได้

ผมว่าเส้นแบ่งนี้ไม่มีนะครับ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้กำกับจริงๆ แต่ในมุมของผม ตอนทำเรื่องคุณสืบใน ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง ผมมองในภาพรวมด้วยเจตนาว่า ผมไม่ได้มีเจตนาทำให้เขาดูไม่ดี ผมเชื่ออยู่แล้วว่าเขาเป็นคนที่มีความเสียสละ ผมอยากเล่าสิ่งนี้ให้คนอื่นได้ยิน แล้วผมก็ไม่ได้อยากทำหนัง Propaganda ว่า คุณสืบเขาช่างเป็นฮีโร่เหลือเกิน ก็ดัดให้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งนี่แหละ แต่เป็นมนุษย์ที่มีความเชื่อและตัดสินใจแบบนี้ 

 

อย่างตอนต้นเรื่องที่เล่าผ่านจดหมายที่คุณสืบเขียนถึงลูกสาว ในความเป็นจริงไม่มีจดหมายนั้นอยู่จริงนะครับ ผมแต่งขึ้นมาแบบ Fiction จากความคิดที่ว่าถ้ามีโอกาสได้พูดกับลูกสาว เขาจะพูดว่าอะไร เพื่อช่วยซัพพอร์ตเรื่องราวให้น่าสนใจยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นจินตนาการทั้งหมด ไม่มีความจริงอยู่เลยแม้แต่นิดเดียว และผมรู้สึกว่าคนทำหนังควรจะทำสิ่งนี้ด้วย 

 

แล้วหนังควรจะถูกเล่าในทุกๆ มุม ไม่ว่าจะเป็นมุมที่ร้ายหรือดี เราควรเล่าออกมาอย่างจริงใจ ว่าเรามองเขาในฐานะมนุษย์จริงๆ ไม่ใช่เล่าแค่สิ่งที่ข่าวหรือโซเชียลมีเดียตั้งขึ้นมาว่าเขาเป็นอะไร ผมว่าในฐานะผู้กำกับ ต้องเข้าไปมองในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์แบบ 360 องศา สำหรับผมนะครับ อันนี้คืออุดมคตินะครับ

 

จดหมายฉบับสุดท้าย: ภาพจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 

 

 

ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม ผู้สวมบทบาทเป็น สืบ นาคะเสถียร ในภาพยนตร์ ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง

 

กลัวไหมว่าถ้าต้องเจอกับคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้จริงๆ มาบอกว่า ทำแบบนี้ได้อย่างไร เรื่องนี้ไม่ใช่ความจริง

ตอนนั้นผมคาดเดาไม่ได้ เพราะคุณน้ำฝน (ชินรัตน์ นาคะเสถียร) มีสิทธิ์ที่จะชอบหนังเรื่องนี้ หรือดูแล้วสะเทือนใจก็ได้ เพราะเราไม่เคยเจอกันมาก่อน แต่ผมก็ยึดหลักในใจว่าผมทำเรื่องนี้โดยไม่ได้คิดร้ายอะไร เล่าด้วยมุมมองของเราอย่างบริสุทธิ์ใจ เขาไม่น่าจะคิดไม่ดีกับผม 

 

ถ้าเขาคิดจริงๆ ผมก็คงเสียใจ แต่ผมคงไม่ไปฟูมฟายแน่นอน เพราะรู้สึกว่าทำไปแล้วต้องรับผิดชอบสิ่งที่ทำ ผมเขียนขึ้นมาจริงๆ แล้วผมก็ไม่เห็นว่า เดวิด ฟินเชอร์ จะออกมาดราม่าเรื่องที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ดูหนังเขาแล้วไม่ชอบเลย ผมว่าเขาคงไม่แคร์ เพราะเขาก็ไม่ได้ทำอะไรที่มันเลวร้าย หรือมองอะไรผิดเพี้ยนไปเลย 

 

ซีรีส์ The Crown ออกอากาศทาง Netflix 

 

การที่ประเด็นหนังเรื่อง The Cave นางนอน กลายเป็นประเด็นที่คนวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ กำลังบอกอะไรอยู่บ้าง 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องดีนะ เพราะทำให้เห็นว่าหนัง Based on True Stoy ทำให้เกิดการถกเถียงของคนดูว่าเขามีความคิดแตกต่างกันในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เหมือนทำซีรีส์ The Crown แล้วมีคนมาพูดถึงควีนเอลิซาเบธในสิ่งที่เขารู้ เขาเห็น แล้วเอามาเชื่อมโยงกัน ผมรู้สึกว่าเป็นเหตุการณ์ที่ดี 

 

แล้วผมก็เตือนตัวเองว่าอย่าไปคาดหวังว่าคนที่เราไปทำเรื่องของเขา จะชอบในสิ่งที่เราทำเสมอไป เขาอาจจะไม่ชอบสิ่งที่เราตีความก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้นถ้าเขายังไม่เสียชีวิต ขนาดตอนผมทำ ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง ก็มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้บางคนที่ได้ดูมาบอกว่า คุณสืบที่เขารู้จักไม่ Aggressive เท่าในหนังของผมนะ

 

เพราะคนที่อยู่ในความเป็นจริง มักจะติดในความจริงที่เขารู้ เหตุการณ์นี้มันอาจจะทำให้คนได้ถกเถียงกัน และทำให้ได้เข้าใจมากขึ้นว่าหนังคืออะไร เพราะคนก็แยกไม่ออกว่า Based on True Story คืออะไร มันต้องเหมือนความจริง 100% หรือเปล่า มันก็คงจะได้บอกหลายๆ คนว่า จริงๆ แล้วมันไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นไปตามความเป็นจริงเช่นนั้นเสมอไป

 

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนไหมว่า นี่คือจุดอ่อนของการทำหนัง Based on True Story ในเมืองไทย เพราะถ้าจะเล่าเรื่องของบุคคลหรือเหตุการณ์ใดๆ ในแง่ลบ จะมีกระแสดราม่าตามมา 

มันเกิดตั้งแต่ตอนแรก เป็นงูกินหางหมด ผมเป็นคนชอบเรื่องอัตชีวประวัติมาก รู้สึกว่าประเทศเรามีคนอีกหลายคนที่ถ้าได้เล่าเรื่องของบุคคลนั้นในหนังไหน ผมว่ามันไปถึงสเตจรางวัลระดับโลกได้เลย แต่เราแทบไม่มีหนังอย่างนี้ เพราะถ้ามีปุ๊บจะเกิดปัญหาตามมา 

 

ซึ่งผมรู้สึกว่าการที่เราได้เล่าชีวิตของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ทำให้คนเราได้ถกเถียงกันในสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ทำให้คนมีความรู้ พอทำไม่ได้เลยทำให้ประเทศเราขาดหนังที่สำหรับผมเหมือนการเจริญทางปัญญาบางอย่างเลยนะ แต่มันไม่เกิดขึ้นเพราะคนทำหนังกลัวปัญหานี้ พอนานๆ เกิดขึ้นที ก็เลยดูเป็นดราม่ายิ่งใหญ่ว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ อย่างนั้นไม่ได้ 

 

ในขณะที่ต่างประเทศ ไม่ว่ามีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้วก็สามารถเล่าได้หมด แล้วมันทำให้เกิดความคิดเห็น เกิดความรู้ขึ้นเยอะเลย มันทำให้เห็นเลยว่าประเทศเรายังมีการกดขี่กันทางความคิดบางอย่างอยู่ ที่ไม่สามารถทำให้คนทำหนังลุกขึ้นมาทำหนังบางเรื่องได้ อย่างผมก็ได้แต่เสียดายและคิดอยู่ทุกวันเลยว่า ผมอยากทำมากเลยนะ แต่สุดท้ายผมไม่กล้าทำจริงๆ 

 

ขอบคุณข้อมูลภาพจาก 

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 

www.seub.or.th

www.facebook.com/SeubNakhasathienFD/

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X