นับตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินเยือนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 ทรงพบว่าราษฎรเดือดร้อน พืชผลเสียหายจากทั้งฝนแล้งและน้ำท่วม ทำให้เกิดแนวพระราชดำริในการแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของราษฎรอย่างฉับพลันในขณะนั้นว่า “สมควรที่จะสร้างฝายหรือเขื่อนขนาดเล็ก (Check Dams) และอ่างเก็บน้ำจำนวนมากขวางทางน้ำ เพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงการไหลบ่าและเก็บกักน้ำไว้ในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นการบรรเทาสภาวะแห้งแล้งได้ทางหนึ่ง”
ที่สำคัญคือทรงเกิดประกายความคิดด้วยความมั่นพระทัยว่าน่าจะนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยให้เกิดฝนได้ และน่าจะมีวิธีการรวมเมฆที่กระจายอยู่ในท้องฟ้า แต่ลอยผ่านพื้นที่แห้งแล้งไปหมดดังที่ทรงสังเกตเห็นในขณะนั้น ให้เมฆเหล่านั้นรวมตัวกันเกิดเป็นฝนตกลงสู่พื้นที่แห้งแล้งดังกล่าวได้ อันเป็นเป็นต้นกำเนิดของแนวพระราชดำริที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนเป็น ‘โครงการพระราชดำริฝนหลวง’ ในปัจจุบัน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันมีมติเฉลิม พระเกียรติในฐานะ ‘พระบิดาแห่งฝนหลวง’ และกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนเป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวง