×

Coconut Empire บอร์ดเกมสะท้อนการเมืองไทย สอนให้ ‘อยู่เป็น’ อย่างชนชั้นนำแดนกะลา

04.11.2019
  • LOADING...
Coconut Empire

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • วิภาพรรณ วงษ์สว่าง หรือนานา ผู้ออกแบบเกมชิ้นนี้เปิดเผยต่อ THE STANDARD ว่า “เกมนี้เราทำสมัยรัฐประหาร ปี 2557 โดย พล.อ. ประยุทธ์ เซอร์ไพรส์ที่เกมทำยังไม่เสร็จก็ยังไม่ล้าสมัย”
  • การปกครองบนเกาะโคโคนัทอาจไม่เป็นที่คุ้นเคยนัก เนื่องจากผู้สร้างชี้ว่าอาณาจักรแห่งนี้อยู่ภายใต้ ‘ระบอบทุกอย่างที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย’ และ ‘ไม่ได้มีความเป็นการเมืองที่มีอยู่จริงๆ มารวมกัน’
  • กระดานการเมืองในแดนกะลานี้ไม่เข้าใครออกใคร เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นในแต่ละตาที่ดำเนินไป ผู้เล่นเองมีบทบาทในการปรับตัวไปเรื่อยๆ จนทำให้การอยู่ยาวไม่สำคัญเท่าการอยู่เป็น

“ประเทศโคโคนัทเป็นเกาะโดดเดี่ยวกลางมหาสมุทร มีรายได้หลักจากการทำเหมืองทอง ทำไร่ทำนา ค้าอสังหาริมทรัพย์ ชีวิตชาวเกาะดำเนินมาอย่างสงบและสันติจนกระทั่งท่านผู้นำคนเก่าดันเสียชีวิตกะทันหัน ช่องว่างทางการปกครองในครั้งนี้จึงเอื้อให้ชนชั้นนำทั้ง 6 กลุ่มเห็นว่านี่ล่ะคือโอกาสดีในการขึ้นสู่อำนาจสูงสุด” คู่มือการเล่นบอร์ดเกม Coconut Empire ระบุภูมิหลังของเรื่องเอาไว้

 

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง หรือนานา ผู้ออกแบบเกมนี้เปิดเผยต่อ THE STANDARD ว่า “เกมนี้เราทำสมัยรัฐประหาร ปี 2557 โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เซอร์ไพรส์ที่เกมยังทำไม่เสร็จ แต่ก็ยังไม่ล้าสมัย”

 

Coconut Empire เพิ่งวางจำหน่ายเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังเปิดระดมทุนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของประเทศไทย

 

“ดูเป็นธีมที่อยู่กับสังคมไทยได้นานมาก ตลกดีเหมือนกัน” เธอตอบพร้อมจบด้วยเสียงหัวเราะ

 

แรกเริ่ม Coconut Empire เติบโตจากบอร์ดเกมล่าสมบัติอันเป็นโปรเจกต์ช่วงสมัยจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของนานา แต่เพื่อสร้างจุดยืนและความแตกต่างจากเกมทั่วไปในตลาด เธอจึงหยิบเอาการเมืองและวัฒนธรรมการเมืองหลายๆ อย่างใกล้ตัวเข้ามาใส่

 

“พออยากทำเกมธีมนี้ เกมกับอำนาจมาคู่กัน… จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเกม เป็นการตอบโจทย์การออกแบบว่าลักษณะของอำนาจรู้สึกอย่างไร”

 

Coconut Empire

 

ระบอบและรัฐธรรมนูญแห่งกะลาแลนด์

รูปแบบการปกครองบนเกาะโคโคนัทอาจไม่เป็นที่คุ้นเคยสำหรับเราๆ ท่านๆ นัก เนื่องจากผู้สร้างชี้ว่าอาณาจักรแห่งนี้อยู่ภายใต้ ‘ระบอบทุกอย่างที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย’ และ ‘ไม่ได้มีความเป็นการเมืองที่มีอยู่จริงๆ มารวมกัน’

 

นอกจากเรื่องระบอบแล้ว คู่มือการเล่นอันเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของกะลาแลนด์แห่งนี้ตั้งอยู่บนฐานที่เข้าไปกำหนดกติกาประมาณหนึ่งเพื่อให้ชนชั้นนำที่เข้ามาเล่นเกมไม่เลิกไปกลางคัน พร้อมทั้งออกแบบให้มีความเปลี่ยนแปลงเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ตลอดเวลา ซึ่งย้อนแย้งต่อความรู้สึกของผู้ออกแบบเกมที่มีต่อกฎหมายสูงสุดในการเมืองไทยว่ายังอยู่ในจุดที่น่าเศร้าและอยากได้กติกาที่เป็นธรรมมากกว่านี้

 

เมื่อลงลึกในรายละเอียดแล้ว รัฐบาลอาณาจักรมะพร้าวก็มีความสามารถออกกฎหมายผ่านการเลือกไพ่กฎหมายต่างๆ ได้ โดยที่มาของกฎหมายเหล่านี้เป็นการอ้างอิงกฎหมายที่ผู้นำในประวัติศาสตร์ใช้เพื่อบรรลุแก่อำนาจ

 

“หลายอันก็เกิดขึ้นจริง เรามองว่ามันสอดคล้องกับเรื่องจึงหยิบมาใส่ไว้ อย่างอุ้มหายกับจับขังนักโทษการเมืองมันก็ไม่ใช่ไทยอย่างเดียวนะ แต่เป็นบริบทที่เหมือนกันของทั้งโลก” หญิงสาววัย 27 ปีกล่าว

 

เมื่อถามถึงความคิดในการออกแบบไพ่กฎหมายอื่นๆ ให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้น คำตอบที่ได้คือเกมรุ่นทดลองเคยมีผู้เล่นที่ถือไพ่ตุลาการ ซึ่งมีสิทธิ์ขาดในการตัดสินข้อพิพาท เนื่องจากกติกาบางข้อไม่ชัดเจนหรือผู้เล่นบางรายอาจตีความพลิกแพลงกติกา แต่ก็ถูกนำออกไป เนื่องจากผู้เล่นมองว่าตุลาการเองก็มีอคติในการตัดสินเช่นเดียวกัน

 

“แต่มันก็เกิดขึ้นจริง” เธอกล่าวถึงการเมืองในแผ่นดินเกิด “เราแข่งกันในกติกาที่ไม่เคลียร์ มาตัดสินกันหน้างาน ผลที่ได้ออกมาก็คือคนเซ็งเหมือนกัน เพราะบางเรื่องควรเป็นเรื่องที่ตกลงกันได้ตั้งแต่ก่อนมาเล่น”

 

Coconut Empire

 

กติกาการเมืองแบบ ‘โคโคนัท’ อย่างพอเข้าใจ

  • ผู้เล่นสวมบทบาทชนชั้นนำในอาณาจักร (มีได้มากถึง 4-6 คน)
  • แต่ละตัวละครมีมรดกทรัพย์สินและหนู (ประชากรชั้นรากหญ้าของ Coconut Empire และหมากของผู้เล่นบนกระดาน) ต่างกันไป ทั้งสองสิ่งสามารถหาเพิ่มได้ระหว่างเกม
  • ผู้เล่นมีภารกิจแตกต่างกันออกไป โดยชัยชนะสามารถบรรลุได้จากภารกิจหรือร่วมชนะไปกับภารกิจของผู้เล่นรายอื่น
  • หนูของผู้เล่นใช้เดินบนกระดานได้ ใช้หาเงินจากการเข้าไปอยู่ในนา หมู่บ้าน เหมือง และฐานกองกำลังลับ ใช้ต่อสู้กับหนูของชนชั้นนำรายอื่น และสามารถใช้ในการช่วงชิงทำเนียบรัฐบาลเพื่อตั้งตนเองขึ้นเป็นผู้ปกครองได้
  • การต่อสู้ต่างๆ วัดกันผ่านไพ่กองกำลังที่ผู้เล่นซื้อมา
  • ผู้เล่นที่ดำรงตำแหน่งรัฐบาลสามารถใช้ไพ่กฎหมายเพื่อสร้างความได้เปรียบให้ฝ่ายตนเองและกดหัวฝ่ายตรงข้ามได้
  • ตลอดทั้งเกม ผู้เล่นสามารถเสนอข้อตกลง (ไพ่กองกำลัง เงิน หนู กฎหมายเอื้อประโยชน์หากเป็นรัฐบาล) ให้ผู้เล่นรายอื่นได้ เพื่อสร้างพันธมิตรหรือกระทำการอื่นๆ อย่างการโค่นล้มรัฐบาล

 

Coconut Empire

 

บริหารมิตร ขัดขาศัตรู

ชนชั้นนำทั้ง 6 กลุ่มในอาณาจักรแห่งนี้ประกอบไปด้วย คุณจิ้งจอกแดง, คุณหญิงคอลเลคเตอร์, สหายกะโหลกดำ, ฯพณฯ พันปี, หม่อมเทพเทวดา และหม่อมท่านเทวดี โดยแต่ละตัวละครมีพลังพิเศษและภารกิจหลักแตกต่างกันออกไป

 

นานาให้สัมภาษณ์ว่าตัวละครแต่ละตัวมีที่มาจากการเปรียบเทียบลักษณะของความเป็นผู้นำ ไม่ได้เจาะจงบุคคลใด

 

“จิ้งจอกแดงเป็นนายทุนที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจ มีหน้าที่เพื่อครอบงำเศรษฐกิจ คุณหญิงคือเราจะครอบคลุมประชากรได้อย่างไร ทหารกะโหลกเป็นนักปฏิวัติที่ไปปฏิวัติยึดประเทศ ฯพณฯ จะยึดอำนาจให้อยู่นานๆ ได้อย่างไร” เธอขยายความ

 

กระดานการเมืองในแดนกะลานี้ไม่เข้าใครออกใคร เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นในแต่ละตาที่ดำเนินไป ผู้เล่นเองมีบทบาทในการปรับตัวไปเรื่อยๆ จนทำให้การอยู่ยาวไม่สำคัญเท่าการอยู่เป็น

 

“เราว่านิยามอยู่ยาว ทุกคนอาจจะอยู่ยาวหมด… แต่เสถียรภาพคือการหาพวก เกมนี้โซโลยากมาก ต้องต่อรอง มันเป็นเรื่องของการหาพันธมิตรและตัดขาศัตรู”

 

Coconut Empire

 

หนีไม่พ้นวังวนรัฐประหาร

กลไกสำคัญในเกมอีกอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยไม่แพ้การเมืองไทยจนทำให้ผู้เล่นเข้าถึงบทบาทของตัวละครได้ไม่ยากคือการรัฐประหาร

 

หญิงสาวจากเชียงใหม่รายนี้มองส่วนคล้ายของการก่อรัฐประหารในประเทศไทยที่มีมาอย่างโชกโชนถึง 13 ครั้งว่า “การยึดอำนาจหรืออะไรในเกมที่มันเกิดขึ้น หนูไม่มีบทบาทในการกำหนด บางทีมันเกิดไปแล้ว แต่เราไม่ได้รู้ถึงการเตรียมการ ถ้ามองเป็นผู้เล่นคือการยึดอำนาจจะเกิดขึ้นเมื่อคนอื่นอนุญาตให้เกิด ไม่ใช่ว่าแต่ละตัวจะไปยึดแล้วคุ้ม ต้องมีตัวละครอื่นสนับสนุน”

 

แต่ก็ยังมีส่วนต่างเนื่องจาก “ในเกมมันซับซ้อนน้อยกว่า ในชีวิตจริงการอ่านกระแสของมวลชนก็มีผล แต่ในเกม หนูมันไม่มีปากมีเสียง (ผู้ก่อรัฐประหาร) ต้องอ่านมวลชนเหมือนกันว่าดีหรือไม่ดี เพราะมันอาจสั่นคลอนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

 

“ที่เหมือนแน่ๆ คือการรัฐประหารมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งนั้น”

 

Coconut Empire

 

รัฐนาฏกรรมและหนู

แก่นความคิดของการออกแบบเกมนี้ ผู้สร้างนำเอาแนวคิดรัฐนาฏกรรมเข้ามาจับ โดยชี้ถึงเรื่องของอำนาจบนพิธีกรรมทางการเมือง แต่ไม่ได้อยู่กับฟังก์ชันที่มาจากประชาชน ดังที่ปรากฏในเกมว่าเป็นการเล่นเพื่อบริหารอำนาจระหว่างชนชั้นนำบนเกาะกลางมหาสมุทรแห่งนี้

 

นักออกแบบเกมจากฟองเมฆสตูดิโอรายนี้ยังขยายความอิงการเมืองไทยต่อไปว่า “ฟังก์ชันประชาชนคือการสนับสนุนนักการเมือง แต่ในความเป็นจริงคือการสนับสนุนเพื่อให้กลุ่มการเมืองไปดีลหรืออะไร มันอยู่นอกเหนือการรับรู้สาธารณะ”

 

ด้วยความที่ไม่ได้ปกครองระบอบประชาธิปไตย Coconut Empire จึงปราศจากการเลือกตั้งดังที่ไทยเพิ่งมีไปเมื่อต้นปีหลังร้างลามานาน แต่ปัจจัยนี้ไม่ได้ทำให้นานารู้สึกว่าการเมืองของสองรัฐนี้ต่างกันนัก

 

“การเมืองตอนนี้เรายังมองไม่ค่อยเห็นประชาชนในกลไกเท่าไร มีเลือกตั้งก็จริง แต่ก็เหมือนใน Coconut Empire ที่ยังเป็นเรื่องของอำนาจนำ… การคานอำนาจระหว่างอำนาจด้วยกัน แต่ในระดับทางการเมือง มันตัดประชาชนออกจากสมการไปแล้ว”

 

คำพูดข้างต้นคล้ายจะตอกย้ำคำตอบของนานาระหว่างการสัมภาษณ์เมื่อครั้งถูกถามถึงบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของหนูในเกมการเมืองดินแดนสมมติแห่งนี้ว่า “ไม่มี”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising