นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์การทำธุรกิจกว่า 40 ปีของ ปตท. เมื่อตัดสินใจแยกหนึ่งใน Flagship ออกมาเป็นบริษัทลูก พร้อมกับวางแผนให้เข้าไปติดนามสกุลมหาชน เพื่อทำให้ธุรกิจเข้มแข็งและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 หรือผ่านมากว่า 1 ปีแล้ว ถือเป็นวันแรกที่ ปตท. เริ่มกระบวนการแยกตัว บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) โดยมีฐานะเป็นบริษัทเรือธง (Flagship) ของกลุ่ม ปตท. เช่นเดียวกับธุรกิจหลักอื่นๆได้แก่ ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม ปิโตรเคมีและการกลั่น สาธารณูปโภคและผลิตไฟฟ้า
สำหรับโออาร์ดำเนินธุรกิจน้ำมัน และธุรกิจค้าปลีกทั้งในประเทศและต่างประเทศออกมา ประกอบไปด้วย 3 กลุ่มธุรกิจหลัก โดยมีกลุ่มธุรกิจสนับสนุนช่วยผลักดันให้ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก สามารถดำเนินธุรกิจให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่
1. กลุ่มธุรกิจน้ำมัน โออาร์ ครองส่วนแบ่งตลาดรวมน้ำมันเป็นอันดับ 1 ในประเทศมาอย่างยาวนานกว่า 26 ปี โดยมีธุรกิจที่โดดเด่น ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น (PTT Station) ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสถานีบริการน้ำมันฯ ทั่วประเทศกว่า 1,850 แห่ง ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นภายใต้แบรนด์ พีทีที ลูบริแคนท์ส (PTT Lubricants) การจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ให้กับลูกค้ากลุ่มอากาศยาน เรือขนส่ง และอุตสาหกรรม การจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas: LPG) ให้กับลูกค้าภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และภาคครัวเรือน ภายใต้แบรนด์ ก๊าซหุงต้ม ปตท.
2. กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ (Non-Oil) โดยมีร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon) ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสาขาภายในประเทศรวมกว่า 2,800 สาขา นอกจากนี้ยังมีร้านอื่นๆ อีก เช่น ร้านค้าสะดวกซื้อจิฟฟี่, ชานมไข่มุกเพิร์ลลี่ ที, เท็กซัส ชิคเก้น, ฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ, ศูนย์บริการยานยนต์ ฟิต ออโต้ (FIT Auto) ฯลฯ อีกทั้งยังมีบัตรพีทีทีบลูการ์ด (PTT Blue Card) ซึ่งมีฐานกว่า 4.8 ล้านราย
3. สำหรับกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ โออาร์ นำรูปแบบทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จภายในประเทศ ขยายไปต่างประเทศ ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ในประเทศลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเมียนมา รวมกว่า 280 แห่ง ร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ในประเทศ ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เมียนมา สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น และโอมาน รวมกว่า 200 สาขา ร้านค้าสะดวกซื้อจิฟฟี่ กว่า 70 สาขา รวมถึงศูนย์บริการยานยนต์ ฟิต ออโต้ อีกด้วย
ขณะนี้อยู่ในระหว่างเตรียมยื่นไฟลิ่ง และคาดว่าจะสามารถ IPO ได้ต้นปีหน้า อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานกรรมการ กล่าวว่า ยอดขายรวมปีที่แล้วของโออาร์อยู่ที่ 5 แสนล้านบาท และมีกำไร 7.9 พันล้านบาท แม้จะเป็นตัวเลขที่น้อยเมื่อเทียบกับรายได้ แต่นี่ถือเป็นเรื่องปกติของธุรกิจน้ำมัน ซึ่งกำไรจะไม่ได้สูงมาก
“นอกจากทำให้ธุรกิจคล่องตัวมากขึ้น การนำโออาร์เข้าสู่ตลาดมีเป้าหมายเพื่อทำให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักของคนต่างชาติ ตอนนี้เราสามารถเข้าถึงคนไทย 60 ล้านคนได้แล้ว ต่อไปต้องการเข้าถึงคน 600 ล้านคนในอาเซียน”
จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวต่อว่า ทิศทางต่อไปของธุรกิจต้องการให้ธุรกิจน้ำมันซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้กว่า 70% ลดลงมาเหลือ 50% อีก 50% มาจากธุรกิจค้าปลีกและต่างประเทศ โดยตอนนี้ธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของแฟรนไชส์ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80%
“แผนธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่สามารถพูดได้ เพราะอยู่ในระหว่างกระบวนการยื่นไฟลิ่ง แต่สิ่งที่เราจะทำต่อไปคือขยับเข้าไปหาลูกค้าให้มากขึ้น ลูกค้าต้องการอะไรเราก็จะผ่านแพลตฟอร์มทั้งโลจิสติกส์หรือเดลิเวอรี ส่วนโรงแรมยังอยู่ในแผนเช่นกัน”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์