อุตสาหกรรมความงามทั่วโลกไม่เคยย่ำอยู่กับที่ โดยเฉพาะธุรกิจ K-Beauty ที่สร้างเม็ดเงินมหาศาลในตลาดความงาม ล่าสุดอมอร์แปซิฟิคซึ่งเปรียบเป็นบ้านหลังใหญ่ของแบรนด์ K-Beauty ชื่อดังอย่าง Innisfree, Etude House, Laneige, Mamonde, Sulwhasoo (และแบรนด์อื่นๆ รวมกว่า 30 แบรนด์) เดินหน้าขยายธุรกิจสู่อาเซียน โดยตั้งเป้าสร้างรายได้ทะลุ 5 แสนล้านวอน หรือราวๆ 12,836,895,000 บาทให้ได้ภายในปี 2023
เปิดกลยุทธ์เด็ดลุยตลาดอาเซียน
โดยการเปิดเผยกลยุทธ์บุกตลาดอาเซียนในครั้งนี้ โรบิน นา หัวหน้าฝ่ายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บินตรงมาพบสื่อมวลชนและบิวตี้เอดิเตอร์ในงาน Exciting AmorePacific, Exciting Asian ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยเขาเผยว่าจากประสบการณ์ที่ทำธุรกิจในอาเซียนมานาน ทำให้สามารถเข้าถึงและเข้าใจผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กับสภาพผิวและความต้องการของผู้บริโภคในอาเซียน และมีแผนจะขยายแบรนด์และผลิตภัณฑ์ความงามไปยังประเทศและเมืองใหม่ๆ ในอาเซียน (ในไทยเล็งไปที่พัทยา, มาเลเซียเล็งเมืองปีนัง, อินโดนีเซียเล็งเมืองสุราบายาและเมดัน) รวมถึงการปรับกลยุทธ์ที่ทันโลกยุคปัจจุบันด้วยการบุกช่องทางดิจิทัลมากยิ่งขึ้น
ตั้งเป้าสร้างรายได้ทะลุ 5 แสนล้านวอนให้ได้ภายในปี 2023
การจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้นไม่ง่าย เพราะปัจจุบันมีธุรกิจความงามเกิดใหม่ราวกับดอกเห็ดมากมาย แม้อมอร์แปซิฟิคจะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้นำที่สามารถครองตลาดครึ่งหนึ่งในประเทศเกาหลีใต้ และเคยเป็นบริษัทเกาหลีใต้แห่งแรกที่ได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับที่ 7 ใน 10 บริษัทความงามชั้นนำของโลกที่จัดโดยวารสาร Women’s Wear Daily (WWD) แต่ก็ต้องยอมรับว่าคู่แข่งด้านการค้าก็ไม่หยุดนิ่งและพร้อมจู่โจมตลาดเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งเช่นกัน ทำให้ต้องมี 3 กลยุทธ์เด็ดเพื่อนำทางไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ได้แก่
- วางแผนขยายธุรกิจออกไปให้ไกลกว่าใจกลางเมือง เมียนมาและกัมพูชาคือประเทศใหม่ๆ ที่เล็งจะขยายธุรกิจออกไปนอกเหนือจากประเทศที่ประสบความสำเร็จแล้วอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม
- วางแผนเปิดตัวแบรนด์ใหม่ เพราะนอกจากสกินแคร์จะฮิตติดลมบนในตลาดแล้วก็เล็งเห็นโอกาสในการชิงตลาดแฮร์แคร์ โดยเฉพาะแบรนด์ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม Ryo และ Mise-en-scene ก็มีแผนจะเปิดตัวในภูมิภาคอาเซียน
- มอบประสบการณ์ใหม่ให้ผู้บริโภค โดยเน้นกลุ่มมิลเลนเนียลที่มีความคุ้นเคยกับยุคดิจิทัล เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็มีการจับมือกับพันธมิตรใหม่
เช่น Lazada Group และร้านค้าปลีก Eveandboy ในไทย เพื่อเพิ่มช่องทางการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์และง่ายขึ้นในชีวิตประจำวัน นับเป็นการเข้าสู่กลยุทธ์แบบ Omni Channel Marketing แบบเต็มตัว คือบุกทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์เข้าไว้ด้วยกัน
ส่วนเรื่องราวการค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ซิกเนเจอร์ที่เชื่อว่าเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมีประสิทธิภาพนั้นมาจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นดั่งรากฐานของความสำเร็จในทุกๆ ผลิตภัณฑ์ ซึ่งอมอร์แปซิฟิคมีนักวิจัยกว่า 550 คนทั้งในเกาหลีและทั่วโลก ผลงานชิ้นเด็ดที่ประสบความสำเร็จที่ผ่านมา เช่น การผลิตเครื่องสำอางสมุนไพรโสมรายแรกของโลก (ABC Ginseng Cream) ซึ่งต่อมารู้จักกันในนามของแบรนด์ Sulwhasoo นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีการเก็บกักน้ำให้ผิว ซึ่งทำการวิจัยมาตั้งแต่ปี 1994 จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ Water Bank ของ Laneige ที่คนรักผิวต่างชื่นชอบเช่นทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังมีผลผลิตแห่งงานวิจัยในสารสกัดจากดอกไม้ต่างๆ ทำให้แบรนด์ Mamonde เป็นแบรนด์ที่เด่นเรื่องสารอาหารที่ได้จากดอกไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ธรรมชาติของแบรนด์ Innisfree ที่ยึดมั่นในส่วนผสมจากธรรมชาติที่มาจากเกาะเชจูอีกด้วย
จากจำนวนประชากรโลกที่คาดว่าจะสูงถึง 7.6 พันล้านคนในปี 2563 และผู้บริโภคใหม่ๆ ทั่วโลกที่มาจากภูมิภาคอาเซียน ทำให้วันนี้อมอร์แปซิฟิคมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่ความสำเร็จที่มุ่งหวังในการเป็นแบรนด์ระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง และทะยานสู่ตลาดระดับโลกมากขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้เรายังต้องจับตาดูว่าท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจความงามที่ดุเดือดทั้งในประเทศไทยและในระดับอาเซียนจะทำให้อมอร์แปซิฟิคทำตามเป้าได้หรือไม่
ภาพ: Courtesy of AmorePacific, Courtesy of Brands
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์