มีโครงการใหม่ๆ ปล่อยออกสู่ตลาดต่อเนื่องกันทุกปีเลยก็ว่าได้ สำหรับ ‘บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)’ หรือ CPN
แม้ช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพิ่งจะเปิดตัวโครงการใหม่ ‘เซ็นทรัล วิลเลจ’ ลักชัวรีเอาต์เล็ตแห่งแรก สร้างปรากฏการณ์ช่วงชิงพื้นที่สื่อทุกแพลตฟอร์มไปไม่นาน ล่าสุด วันนี้ (16 ตุลาคม) บริษัทยังคงเดินเครื่องต่อเนื่อง ประกาศเปิดตัวโครงการใหม่ๆ มากถึง 17 โครงการ ซึ่งจะใช้งบลงทุนในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ (2563-2565) รวมทั้งสิ้นกว่า 22,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
1. โครงการ Mixed-Use Development 3 แห่ง
2. โครงการพลิกโฉม Re-Development 2 แห่ง
3. โครงการปรับปรุงและขยายพื้นที่ศูนย์การค้า 12 แห่ง
ทุกโครงการจะถูกพัฒนาภายใต้แนวคิด ‘สร้างงาน สร้างเมือง สร้างประเทศ เป็น Center of Life ของทุกจังหวัด’ เพื่อสอดคล้องกับการขยายโครงการที่สำคัญต่างๆ ของภาครัฐ โดยคาดว่าน่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มอาชีพและตำแหน่งให้บุคลากรในแต่ละจังหวัดรวมมากกว่า 10,000 ตำแหน่ง
เริ่มต้นที่ Mix-Use Development 3 แห่ง (1) ‘เซ็นทรัลพลาซา อยุธยา’ ตั้งอยู่บนถนนสายเอเชียหมายเลข 1 เป็นโครงการมิกซ์ยูสแห่งใหม่บนพื้นที่ 47 ไร่ที่มีทั้งศูนย์การค้า, ศูนย์ประชุม, โรงแรม, คอนโดมิเนียม และ Tourist Attraction (นิทรรศการและพิพิธภัณฑ์) ใช้งบลงทุนรวมกว่า 6,200 ล้านบาท โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วง Q2/64
CPN ตั้งใจพัฒนาให้เซ็นทรัลพลาซา อยุธยา กลายเป็น ‘จุดเช็กอิน’ แห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ โดยให้เหตุผลในการเลือกอยุธยาว่าเพราะเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีทราฟฟิกนักท่องเที่ยวคึกคักมากกว่า 8.4 ล้านคนต่อปี ทั้งยังเป็นพื้นที่กลยุทธ์ที่สำคัญของภาคกลางตอนบนและเกตเวย์ที่มุ่งไปยังภาคเหนือ โดยจะนำ ‘เกียวโตโมเดล’ มาปรับใช้เพื่อพัฒนาให้จังหวัดแห่งนี้กลายเป็นเมืองที่ติดอันดับ Top 10 เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมโลก
ตามด้วย (2) เซ็นทรัลพลาซา ศรีราชา ที่ทาง CPN ประกาศเอาไว้ชัดเจนเลยว่าการเลือกทำเลพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสแห่งใหม่บนพื้นที่กว่า 27 ไร่ในอำเภอศรีราชา ครั้งนี้เป็นกลยุทธ์ที่สอดรับแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก EEC ของรัฐบาล ประกอบด้วย ศูนย์การค้า, โซนเอาต์ดอร์, ศูนย์ประชุม (รองรับศูนย์กลางธุรกิจ EEC), โรงแรม, อาคารสำนักงาน, เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ และศูนย์การศึกษา
โดยจะใช้งบลงทุนรวมทั้งสิ้น 4,200 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วง Q2/64 เพื่อปูพรมยึดโซนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก เพราะถ้าไล่เลียงให้ดีตั้งแต่พื้นที่ในกรุงเทพฯ, บางนา, ชลบุรี ไล่มาจนถึงระยอง จะพบว่า CPN มีศูนย์การค้าครอบคลุมพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวแทบจะทุกหย่อมหญ้า
และสุดท้าย (3) เซ็นทรัลพลาซา จันทบุรี คือโครงการมิกซ์ยูสลำดับสุดท้ายในโปรเจกต์ของ CPN ที่ประกาศในครั้งนี้ เป้าหมายคือเพื่อต่อยอดแผนภาครัฐในการพัฒนาพื้นที่ EEC ให้เป็น ‘EEC Plus 2’ โดยจะใช้งบลงทุนทั้งสิ้นกว่า 3,500 ล้านบาท บนพื้นที่ CBD ของเมืองขนาดกว่า 46 ไร่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วง Q2/65
สาเหตุที่ CPN เลือกจันทบุรีเป็นหัวหาดทำเลทองแห่งใหม่ก็เพราะที่ตั้งของจังหวัดอยู่ในทำเลที่ดี เป็นจังหวัดสุดท้ายในโซนภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นมหานครผลไม้เมืองร้อนโลก แถมยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลอินไซต์จาก CPN ยังระบุอีกด้วยว่า ‘โรบินสันไลฟ์สไตล์ จันทบุรี’ คือโรบินสันสาขาที่มียอดขายสูงสุดเป็นอันดับ 1 เมื่อวัดรวมจากโรบินสันสาขาต่างจังหวัดทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อที่สูงของคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
ส่วนโครงการพลิกโฉม Re-Development 2 แห่ง ประกอบด้วย เซ็นทรัลพลาซา พระราม 2 จะใช้งบลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 96 ไร่ (พื้นที่สวน Plearn Park 37 ไร่) เพื่อปรับปรุงขยายพื้นที่ศูนย์การค้า และสวน Central Plearn Park ให้เซ็นทรัลพลาซา พระราม 2 กลายเป็น ‘New Urbanized District’ ทิศใต้ที่แข็งแกร่งของกรุงเทพฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จ Q1/64 เป็นต้นไป
และเซ็นทรัลพลาซา รามอินทรา บนพื้นที่ 10 ไร่ ด้วยงบลงทุนกว่า 1,600 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง และรถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู โดยนำโมเดลการปรับปรุง ‘เซ็นทรัลพลาซา พระราม 3’ มาปรับใช้ให้โครงการแห่งนี้เป็น Thirdplace ที่สำคัญในย่านรามคำแหง
สำหรับโครงการปรับปรุงและขยายพื้นที่ศูนย์การค้า 12 แห่ง จะครอบคลุมตั้งแต่ เซ็นทรัลพลาซา พระราม 9, เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์, เซ็นทรัลพลาซา บางนา, เซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ, เซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น, เซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี, เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ และเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่แอร์พอร์ต, เซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยา บีช, เซ็นทรัลมารีนา พัทยา, เซ็นทรัลเฟสติวัล สมุย และเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ โดยจะใช้ระยะเวลา 3 ปี (2563-2565) ในการปรับปรุงทุกโครงการ
นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยความคืบหน้าของโครงการ Dusit Central Park ที่เป็นบิ๊กโปรเจกต์ที่ทาง CPN และดุสิตธานี Joint Venture ร่วมกันภายใต้งบลงทุนกว่า 36,700 ล้านบาท ว่าจะเป็นแลนด์มาร์กมิกซ์ยูสแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปี 2567 หรืออีก 5 ปีต่อจากนี้
ส่วน GLAND ที่ CPN ปิดดีลกว่า 20,000 ล้านบาทเข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ตั้งแต่ปี 2561 แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยความคืบหน้า แต่ วัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CPN ก็ยืนยันว่าเร็วๆ นี้ น่าจะได้เห็นความเคลื่อนไหวระดับบิ๊กมูฟแน่นอน ซึ่ง CPN ตั้งใจจะพัฒนาให้พื้นที่พระราม 9 แห่งนี้กลายเป็นย่าน CBD แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ
ทีมผู้บริหาร CPN เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า CPN ได้เลือกใช้แนวคิดการปรับปรุงศูนย์การค้าให้กลายเป็น ‘Central of life’ หรือศูนย์การใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์มากกว่าเป็นแค่ศูนย์การค้า สอดรับเทรนด์และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยปรับลดระยะเวลาในการปรับปรุงโครงการแต่ละแห่งให้สั้นลง ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่ Brick & Mortar เลือกปรับตัวให้เข้ากับยุคและสมัยเพื่อยืนหยัดในยุค Digital Disruption ได้อย่างมั่นคง
เมื่อโครงการใหม่ทั้ง 3 แห่งของ CPN แล้วเสร็จภายในปี 2565 จะส่งผลให้ พวกเขามีจำนวนศูนย์การค้าในมือกว่า 37 แห่งใน 21 จังหวัด เสริมแกร่งให้กับ Landlord แห่งนี้ขึ้นไปอีกระดับ
ที่สำคัญเมื่อยักษ์ใหญ่ขยับตัวสยายปีกทั้งที น่าสนใจไม่น้อยว่าจังหวะการขยับในครั้งนี้ของ CPN จะส่งผลกระทบต่อเนื่องเชิงบวกกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้มากน้อยเพียงไร
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า