อีกครั้งที่รายการ The Secret Sauce ได้สัมภาษณ์เอ็กซ์คลูซีฟกับผู้มีชื่อเสียงระดับโลกในวงการ Design Thinking อย่าง บิล เบอร์เนตต์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้นำหลักคิด Design Thinking มาประยุกต์ใช้กับนักศึกษา เพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริงของชีวิต
บิล เบอร์เนตต์ เดินทางมาประเทศไทยเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยการเชิญของ RISE Academy สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมให้กับองค์กรต่างๆ
ตลอดเวลาสัมภาษณ์กว่า 1 ชั่วโมง ผมได้ชวนพูดคุยในหลายประเด็น แถมยังได้รู้จากปากบิลด้วยว่า เขากำลังจะออกหนังสือใหม่ชื่อ Designing Your Work Life เนื้อหาเน้นเรื่องชีวิตการทำงาน จากประสบการณ์ที่ได้ไปบรรยายและเวิร์กช็อปให้กับพนักงานบริษัทบ่อยขึ้น ผมจึงถือโอกาสเจาะลึกเรื่องการทำงานกับการใช้ Design Thinking เพิ่มเติม เพื่อเป็นทีเซอร์ให้ผู้ฟังก่อนที่หนังสือเล่มจริงจะออกในปี 2020
ลองมาฟังกันว่า ผู้นำควรทำอย่างไรให้พนักงานพร้อมขับเคลื่อนไปกับองค์กร
1. ผู้นำต้องใส่ใจเรื่องชีวิตของพนักงาน
จากผลการวิจัยทั่วโลกพบว่า พนักงานจำนวนเกินครึ่งไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของงานหรือสังคมในที่ทำงาน หนำซ้ำยังรู้สึกแปลกแยก ส่งผลโดยตรงกับความโปรดักทีฟ ซึ่งแสดงผลลัพธ์ออกมาที่เนื้องาน
เรื่องนี้มีสาเหตุมาจากบริษัทส่วนใหญ่มักมองพนักงานเป็นแค่หุ่นยนต์หรือเครื่องจักร ที่มีปลายทางคือสินค้าหรือบริการ แต่ไม่เคยมองพนักงานในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
บิลเล่าว่า มนุษย์ทุกคนมีวงกลมใหญ่ที่เรียกว่า ชีวิต และมีอีกวงกลมที่อยู่ในนั้นเรียกว่า งาน แต่บริษัทมักมองกลับกันว่า วงกลมใหญ่คืองาน วงกลมข้างในคือชีวิต ดังนั้นวิธีสร้างเอ็นเกจเมนต์ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิด ไม่โฟกัสแค่เรื่องงาน แต่เข้าใจไปถึงชีวิต เรื่องจิปาถะ หรือปัญหาส่วนตัว เช่น ความรู้สึกของเขาที่มีต่องานเป็นอย่างไร มิติอื่นๆ มีอะไรที่น่ากังวลอีกไหม หรือมีคำอวยพรและของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ให้เมื่อถึงวันเกิด ทำให้เขารับรู้ได้ว่าผู้นำมองเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง
2. A Right Fit / Honest Conversation / Service Leadership
หลายครั้งที่บิลลองนำวิธีคิด Designing Your Life มาใช้กับพนักงานในองค์กร ซึ่งได้ผลลัพธ์คำตอบที่แตกต่างกันไป
ผมลองถามดูว่า ผู้นำควรทำอย่างไรหากพนักงานบางคนอาจพบความต้องการใหม่ๆ จนถึงขั้นอยากลาออก
บิลตอบว่า คนทำงานมักมี A Right Fit ที่ตอบโจทย์องค์กรอยู่แล้ว A Right Fit คือจิ๊กซอว์สำคัญที่เหมาะสมกับงานที่ทำอยู่ Designing Your Life จะช่วยสปอตไลต์มุมนั้นให้เห็นชัดมากยิ่งขึ้น ทำให้เขารู้เป้าหมายของตัวเอง กลับกันถ้าเขาได้คำตอบว่า องค์กรนี้ไม่ใช่ที่ของเขา การเดินออกไปหาที่ใหม่ก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้น
โดยหลังจากทำเรื่อง Designing Your Life แล้ว ลำดับต่อมาผู้นำต้องเริ่มบทสนทนาที่จริงใจกับพนักงาน ถามเขาให้มากหน่อยว่า เขาต้องการทำงานอะไร เป้าหมายที่ซ่อนอยู่คืออะไร ถ้าที่นี่ไม่ตอบโจทย์จริงๆ อยากทำอะไรต่อ อาจเป็นเรื่องยากหน่อย แต่ต้องทำ และทำไปพร้อมกับส่วนที่ผู้นำคอยรับบทผู้ช่วยให้พนักงานได้ค้นหาเป้าหมายที่แท้จริงของตนเอง
บิลเสริมด้วยว่า จากการทำเวิร์กช็อป บางบริษัทกลัวเสียพนักงานเก่าไป อยากเก็บพวกเขาไว้ จนไม่กล้าเริ่มต้นทำอะไร ในขณะที่บางแห่ง กล้าปล่อยคนที่ไม่ใช่ แล้วไปหาคนที่ตอบโจทย์มากกว่า ทำให้บริษัทแบบหลังมักประสบความสำเร็จมากกว่า
3. ผู้นำต้องเห็นแก่ตัว
บิลมีโอกาสได้เจอกับนักปราชญ์ผู้โด่งดังอย่างดาไลลามะ เขาได้ให้ข้อคิดไว้ว่า ถ้าคุณอยากทำให้คนอื่นมีความสุข คุณต้องเริ่มจากตัวเองก่อน คุณจะไปช่วยคนอื่นได้อย่างไรถ้ายังมีความทุกข์อยู่ ดังนั้นคุณต้องนิ่งที่ตัวเองก่อน เข้าใจตัวเองให้ดี แล้วค่อยไปแบ่งบันความสุข และรับฟังความทุกข์ของคนอื่นอย่างจริงใจ
4. Build a Good Relationship
หน้าที่ของผู้นำต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตนเองและพนักงานให้ได้
นิยามของ ‘ความสัมพันธ์ที่ดี’ ในความหมายของบิลมี 3 คำ
1. Autonomy (มีอิสรภาพ)
2. Mastery (สร้างการเรียนรู้)
3. Meaningful (หาความหมาย)
นั่นเท่ากับว่า ผู้นำต้องเปิดโอกาสให้พนักงานมีอิสระ ได้ทดลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ และค้นหาความหมายของงานที่ทำให้เจอ
5. ใช้ทักษะ Storytelling เล่าให้ได้ว่า Why ของทุกคนคืออะไร
สตีฟ จ็อบส์ เป็นคนที่มี Why ในตัวเองสูง เขารู้แน่ชัดว่า เขาอยากเปลี่ยนโลก แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็มีชื่อเสียงเรื่องการเป็นผู้นำที่ไม่ค่อยดีนัก กลับกันแทนที่พนักงานจะเบื่อหน่ายและไม่อยากทำงานกับเขา พวกเขากลับเลือกที่จะทุ่มเทให้งานอย่างไม่มีเงื่อนไข
เพราะอะไร พนักงานถึงเป็นเช่นนั้น
บิลไม่เคยมีโอกาสทำงานกับสตีฟ จ็อบส์ แต่ได้อยู่องค์กร Apple มาหลายปี มีการพูดคุยกับพนักงานหลายคน รวมถึงเดวิด เคลลีย์ นักเขียนหนังสือ Creative Confidence เขาเล่าว่า สตีฟ จ็อบส์ เป็นสุดยอด Storytelling เขามีทักษะในการส่งต่อ Why ของตัวเองไปถึงพนักงานทุกคน แม้กระทั่งตำแหน่งที่เล็กที่สุด ทำให้พวกเขารู้ว่าตัวเองทำงานไปเพื่ออะไร หน้าที่อันยิ่งใหญ่คืออะไร จนทุกคนเกิดความเชื่อมั่นและพร้อมทุ่มเทไปให้ถึงเป้าหมายปลายทาง
6. ใช้ความเชื่อใจในการทำงาน
คนไทยมักทำงานแบบครอบครัว ทุกคนเป็นพี่เป็นน้อง เรื่องนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ผู้นำบางคนมองพนักงานเป็นน้อง ไม่กล้าลงโทษ ไม่กล้าตำหนิ หรือร้ายแรงขึ้นมาหน่อยก็อาจไม่กล้าไล่ออก
บิลให้ความคิดเห็นกลับเรื่องนี้ว่า อีกมุมหนึ่งที่ดีของความเป็นครอบครัวคือความเชื่อใจ การทำให้ทุกคนเชื่อใจกันและกัน ไม่ทอดทิ้งกัน เป็นเรื่องสำคัญในการทำให้องค์กรแข็งแรง แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมการทำงานแบบมืออาชีพ เพื่อให้ได้ผลงานที่สมบูรณ์แบบ
7. Curiosity Mindset
ความสงสัยใคร่รู้คือคุณสมบัติข้อแรกของคนทำงานที่อยากประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ 21
บิลแนะนำว่า คุณควรตั้งคำถามกับทุกเรื่องอย่างเจาะลึกรายละเอียด ทั้งเรื่องใกล้ตัวและไกลตัว ยิ่งใครมีสิ่งนี้ ยิ่งส่งผลดีกับตัวคุณเองในการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง พร้อมยืดหยุ่นในการทำงานและการใช้ชีวิต ฉะนั้นการฝึกฝนทักษะนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำสม่ำเสมอ
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Interns อสุมิ สุกี้คาวา, ณัฏฐนิช ผิวสว่าง